กฎหมายลักษณะทรัพย์สิน ............................................ บทนำ ทรัพย์เป็นสิ่งที่มีความหมายและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ทรัพย์เป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาเพื่อการบริโภค การใช้สอยในลักษณะต่าง ๆ จึงมีการหวงแหนกีดกันมิให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยื้อแย่ง หากคนอื่นมาเอาไปโดยผู้ที่หวงกันมิได้ยินยอมก็ย่อมจะต้องติดตามเอาคืน และอาจจะกลายเป็นเรื่องที่บาดหมางทะเลาะวิวาทกัน ผู้ที่ปกครองชนเผ่าหรือผู้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องหาทางระงับข้อพิพาท และหาทางป้องกันการพิพาทโดยการออกกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายกำหนดสิทธิ คือ อำนาจแห่งความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือกำหนดให้มีสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะมีทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น สิทธิจำนอง สิทธิเหนือพื้นดิน และภารจำยอม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้มีการอะลุ้มอล่วยพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน กฎหมายลักษณะทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เด็กทารกที่แรกเกิดก็อาจเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งอาจมีบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ยกให้เป็นการรับขวัญการดำรงชีวิตประจำวันต้องมีการซื้อหาทรัพย์มาบริโภค หรือเพื่อใช้สอยในลักษณะต่างๆเพื่อความสะดวกสบาย หรือเมื่อได้ทรัพย์ต่าง ๆ มาก็ย่อมมีอำนาจหวงกันมิให้คนอื่นมายุ่งเกี่ยว กฎหมายลักษณะทรัพย์จึงมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นกฎหมายพื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องศึกษาก่อนที่จะศึกษากฎหมายบางลักษณะบางเรื่อง จึงจะสามารถเข้าใจกฎหมายเหล่านั้นได้ดี ลักษณะของทรัพย์สิน ศึกษาประเภทของทรัพย์สิน ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างทรัพย์ เครื่องอุปกรณ์ ดอกผล ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๑ ลักษณะ ๓ ลักษณะและหลักทั่วไปของทรัพยสิทธิ ชนิดของทรัพยสิทธิ ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างทรัพย์ เครื่องอุปกรณ์และดอกผล ๑) ลักษณะของทรัพย์และทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๓๗ บัญญัติความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ว่า “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุที่มีรูปร่าง”และ ม. ๑๓๘ บัญญัติความหมายของคำว่า “ทรัพย์สิน” ว่า “ทรัพย์สิน” หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้” ม. ๑๓๗ ทรัพย์นั้น จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย ส่วน ม.๑๓๘ ทรัพย์สินจะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ รวมทั้งวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย “มนุษย์” แม้จะมีรูปร่าง แต่ก็ไม่อาจมีราคาซื้อขายกันได้ เพราะ ปอ. ม.๓๑๒ ห้ามเอาคนลงเป็นทาส ห้าม พา ซื้อขาย จำหน่าย รับ หรือหน่วงเหนี่ยวบุคคลไว้ แต่อวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น ผมสตรีที่ตัดไปขาย ย่อมมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์ ดวงตาที่บุคคลขายหรืออุทิศให้โรงพยาบาล เพื่อนำไปเปลี่ยนกับคนไข้ ย่อมมีราคาและถือเอาได้ ย่อมเป็นทรัพย์ ได้เคยมีผู้ทำพินัยกรรมอุทิศศพของตนให้กรมมหาวิยาลัยแพทยศาสตร์ แต่ญาติของผู้ตายได้ฟ้อง กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เรียกศพคืน ได้ยกข้ออ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาข้อหนึ่งว่าศพไม่ใช่ทรัพย์จึงทำพินัยกรรมมิได้ เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ เพียงแต่วินิจฉัยว่าพินัยกรรมนั้นใช้ได้ เพราะได้กำหนดการเผื่อตายไว้ในเรื่องอันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย (ฎ. ๑๑๗๔/๒๕๐๘) หรือกรณีที่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้ทำพินัยกรรมเพื่อตายยกศพให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ย่อมมีผลตามพินัยกรรม ดวงดาว ดวงจันทร์ เมฆบนท้องฟ้า อากาศ ทะเล ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดถือเอาได้ จึงมิใช่ทรัพย์หรือสินทรัพย์ แต่ถ้ามีผู้นำน้ำทะเลมากลั่นให้เป็นน้ำจืดและนำออกขาย หรือนำอากาศมาทำเป็นออกซิเจน ช่วยในการหายใจ หรือนำอากาศมาใช้เติมยางรถยนต์ น้ำทะเล และอากาศก็กลายเป็นสิ่งมีราคาและถือเอาได้ทันที จึงเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินขึ้นมา คำว่า “วัตถุมีรูปร่าง” นั้น หมายถึงสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา จับต้อง สัมผัสได้ เช่น หนังสือ โต๊ะ บ้านเรือน รถ เรือ ม้า ลา เป็นต้น แต่กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง จึงน่าจะเป็นทรัพย์สิน มิใช่ทรัพย์นั้น ได้มี ฎ. ๘๗๗/๒๕๐๑ วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ หรือ ๓๓๕ แล้วแต่กรณี คำว่า “วัตถุไม่มีรูปร่าง” นั้น หมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา เช่น แก๊ส กำลังแรงแห่งธรรมชาติ พลังน้ำตก พลังปรมาณู เป็นต้น และยังได้แก่สิทธิต่าง ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์ด้วย แต่สิทธิต่าง ๆ ที่จะเป็นทรัพย์สินนี้ จะต้องเป็นสิทธิที่กฎหมายไทยรับรองแล้ว เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ จำนำ จำนอง ลิขสิทธิ์ (ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑) สิทธิบัตร (ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒) สิทธิในเครื่องหมายการค้า (ตามพระราชบัญญัติเครื่อง หมายการค้า พ.ศ. ๒๕๗๔) คำว่า “อาจมีราคาได้” นั้น ราคา หมายถึงคุณค่าในตัวของสิ่งนั้นเอง (ตรงกับ value ในภาษาอังกฤษ มิใช่ราคาที่ตรงกับ price ในภาษาอังกฤษ) บางสิ่งบางอย่างอาจซื้อขายด้วยราคามิได้ แต่อาจมีคุณค่าเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทางเศรษฐกิจ หรือประโยชน์ทางจิตใจอยู่ เช่น จดหมาย ติดต่อระหว่างคู่รัก ประกาศตั้งชื่อสกุล เป็นต้น สลากกินแบ่งรัฐบาลก็เป็นทรัพย์สิน ซึ่งซื้อขาย เปลี่ยนมือกันได้ (ฎ. ๑๑๒๐/๒๔๙๕) แม้สลากที่ไม่ถูกรางวัลแล้ว ซื้อขายกันไม่ได้ต่อไป ก็อาจมี ราคาได้ ถ้าเจ้าของยังหวงแหนเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก (ฎ. ๓๙๓/๒๕๐๓ อธิบายว่า ทรัพย์สินนั้น หมายความถึงทรัพย์อันมีค่าใด ๆ ทั้งสิ้นที่จะถือเอาได้) คำว่า “อาจถือเอาได้” นั้น ความจริงตัวบทภาษาไทยเขียนไว้ไม่ชัดเจนพอ เพราะใช้ ถ้อยคำว่า “อาจมีราคาได้ และถือเอาได้” ซึ่งน่าจะหมายถึงต้องถือเอาได้จริงจัง แต่ตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Susceptible of having a value and of being appropriated” ซึ่งหมายความว่า เพียงแต่อาจถือเอาได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว โดยที่มาตรานี้ร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงแปล เป็นภาษาไทยเมื่อถ้อยคำภาษาไทยไม่ชัดเจนพอ จึงต้องอาศัยร่างเดิมเป็นแนวแปล คือ แปล มาตรา ๑๓๘ ว่า อาจมีราคาได้ และ อาจถือเอาได้ คำว่า ถือเอาได้ นั้นหมายถึงอาการเข้าหวงกันไว้เพื่อตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้ายึดถือจับ ต้องได้จริงจัง เช่น ปลาในโป๊ะ แม้เจ้าของโป๊ะจะยังไม่ทันจับปลาก็เรียกได้ว่าเจ้าของโป๊ะอาจถือ เอาได้แล้ว เพราะมีการกั้นโป๊ะแสดงการหวงกันไว้เพื่อตนเอง รังนกในถ้ำเมื่อผู้ที่ผูกขาดได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเข้าครอบครองถ้ำ แสดงการหวงกันรังนกนั้นแล้วก็เรียกได้ว่า อาจถือเอาได้แล้ว ฉะนั้น ปลาในทะเลก็ดี รังนกในถ้ำก็ดี อยู่ในลักษณะที่อาจถือเอาได้ทั้งสิ้น สิทธิบางอย่างเช่นลิขสิทธิ์สิทธิในหุ้นส่วน สิทธิในการเช่าแม้จะจับต้องมิได้ แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะที่จะยึดถือ คือหวงแหนไว้เพื่อตนเองได้ กระแสไฟฟ้า พลังน้ำตกก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ย่อมถือเอามาเป็นประโยชน์ได้ เกี่ยวกับหุ้นในบริษัทนั้น ฎ. ๑๑๗๔/๒๔๘๗ วินิจฉัยว่าเป็นสิทธิชนิดหนึ่ง แม้การโอนหุ้น บริษัทจำกัดจะไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าผู้รับโอนได้ปกครองมาเกิน ๕ ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ได้ เกี่ยวกับสิทธิการเช่าตึกและสิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์นั้น ได้มี ฎ. ๕๓๖/๒๔๙๘ วินิจฉัยว่า ย่อมโอนกันได้ และเมื่อได้ชำระเงิน มอบหมายสิทธินั้นให้ต่อกันแล้ว สิทธินั้นย่อมตกได้แก่ ผู้รับโอนทันที (๑) สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ มิใช่ทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่สามารถตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้ หากมีการโอนไปในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดตาม ม. ๕๖๙ (๒) การซื้อขายเรือน โดยผู้ซื้อมีเจตนาจะรื้อเอาเรือนไป เป็นการซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ต้องทำตามแบบใน ม. ๔๕๖ วรรคหนึ่ง คือ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน แต่ต้องทำให้ถูกต้องตาม ม. ๔๕๖ วรรคท้าย ประกอบวรรคสอง คือ การซื้อขายที่มีราคาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป ต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑)หลักฐานเป็นหนังสือ (๒)การวางมัดจำ (๓)การชำระหนี้บางส่วน จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ (๓) กรณีข้อ ๒ แต่ต่อมาไม่มีการรื้อถอนบ้าน หรือกรณีซื้อขายบ้านโดยมีการจดทะเบียนที่ว่าการอําเภอ โดยไม่มีการจดทะเบียนเป็น สิทธิเหนือพื้นดิน แล้วเจ้าของที่ดินและบ้านเดิมได้จดทะเบียนโอนขาย ที่ดินให้แก่อีกบุคคลหนึ่งซึ่งสุจริต ผู้ซื้อบ้านจะรื้อถอนไม่ได้ ผู้ซื้อรายหลังจะได้ทั้งที่ดินและบ้าน เพราะระหว่างผู้สุจริตด้วยกัน ผู้ประมาทเลินเล่อยอมเสียเปรียบ กรณีนี้ผู้ซื้อบ้านประมาทโดยไม่ยอมไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน แต่ถ้าผู้ซื้อบ้านรื้อบ้านออกไปก่อนที่ผู้ซื้อรายหลังจะจดทะเบียนซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ผู้ซื้อบ้านรายแรกจะมีสิทธิดีกว่า (๔) โรงเรือน (อาคาร) จะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ต้องพิจารณาสภาพของโรงเรือนนั้นว่าอยู่ติดตรึงตราถาวรกับที่ดินหรือไม่ ถ้าติดก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนโรงเรือนจะเป็นส่วนควบหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องดูเจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้าน บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่บ้านไม่เป็นส่วนควบ เพราะเข้าข้อยกเว้นการไม่เป็นส่วนควบ คือ ปลูกสร้างโดยมีสิทธิ (มาตรา ๑๔๖ ตอนท้าย) ๒) ประเภทของทรัพย์สิน มีดังนี้ (๑) ทรัพย์สินมีรูปร่างและทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง (ม. ๑๓๗ และ ม. ๑๓๘) ดังได้กล่าวมาข้างต้น (๒) อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ (ม. ๑๓๙ และ ๑๔๐) ๓) อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์โดยปกติเคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น ที่ดิน ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดิน ทรัพย์ที่ประกอบ เป็นอันเดียวกับที่ดิน และสิทธิทั้งหลาย อันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (ม. ๑๓๙) ส่วน สังหาริมทรัพย์คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ รวมทั้งกำลังแรงแห่งธรรมชาติ และสิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ (ม. ๑๔๐) ๔) ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้ ทรัพย์แบ่งได้ คือ ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้ชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัวเอง (ม. ๑๔๑) ส่วน ทรัพย์แบ่งไม่ได้ คือ ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ โดยสภาพ หรือ โดยกฎหมายถือว่าแบ่งไม่ได้ (ม. ๑๔๒) ๕) ทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์ ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓ บัญญัติว่า “ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” ทรัพย์นอกพาณิชย์ อาจเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ มี ๒ ประเภท คือ ก. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ ความจริง สิ่งใดที่ไม่อาจมีราคาได้ หรือไม่อาจถือเอาได้ ย่อมมิใช่ทรัพย์หรือทรัพย์สิน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗ และ ๑๓๘ ฉะนั้น ที่มาตรา ๑๔๓ บัญญัติว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์นั้น ความจริงไม่อยู่ในข่ายที่จะถือว่าเป็นทรัพย์ตามกฎหมายเสียเลยทีเดียว แต่ที่มาตรา ๑๔๓ ยังถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์อยู่นั้น ก็คงจะหมายถึง ทรัพย์ที่มิใช่ทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่อาจนำมาเป็นวัตถุแห่งสิทธิ หรือนำมาจำหน่ายจ่ายโอนได้ เช่นทรัพย์สินตามกฎหมายชนิดอื่น ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทนี้ได้แก่ สายลม แสงแดด ก้อนเมฆ ดวงดาว น้ำทะเล เป็นต้น ข. ทรัพย์ที่ไม่สามารถโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งจะนำมา จำหน่าย จ่ายโอน ดังเช่นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปมิได้ เว้นแต่จะโอนโดยอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมาย โดยเฉพาะ เนื่องจากโอนกันมิได้ เช่นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปเช่นนี้ จึงถือว่าอยู่นอกพาณิชย์คือนอก การหมุนเวียนเปลี่ยนมือ ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทนี้อาจจะมีการห้ามโอนโดยกฎหมายพิเศษ เช่น ถ้ามีกฎหมายห้ามโอนพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งในวัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะพระพุทธรูป นั้นก็กลายเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ไป หรืออาจมีการห้ามโอนโดยกฎหมายซึ่งบัญญัติห้ามโอนไว้ ทั่ว ๆ ก็ได้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๑๕๙๘ บัญญัติว่า สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละ ยึดหรือโอนมิได้ ดังนั้น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็น ทรัพย์นอกพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ บัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่ของวัดและที่ธรณีสงฆ์ ฉะนั้นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัด ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๓ (๑)(๒) ข้อสังเกต ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทที่ไม่สามารถโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ห้ามโอนโดยมีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนไว้เป็นการตลอดไป และเป็นการห้ามโอนไว้โดยตรง เช่น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และที่วัด เป็นต้น ถ้าเป็นทรัพย์ที่อาจทำนิติกรรม ห้ามโอน แม้ว่าจะมีกฎหมายรับรองให้ทำได้ก็ตาม ทรัพย์นั้นก็หาใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ไม่ เช่น ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๗๐๐ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดย นิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิตหรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอน ทรัพย์สินนั้นก็ได้ ทรัพย์ที่ห้ามโอนโดยนิติกรรมตาม ม. ๑๗๐๐ นี้ มิใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ เพราะมิได้เป็นการห้ามโอนโดยกฎหมาย แต่เป็นทรัพย์ซึ่งจะห้ามโอนหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ใจของเจ้าของทรัพย์ นอกจากนี้ การห้ามโอนโดยนิติกรรมนี้ตาม ม. ๑๗๐๑ จะห้ามโอนไว้ได้ไม่เกิน ๓๐ ปี หรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์เท่านั้น มิใช่เป็นการห้ามโอนตลอดไป ทรัพย์ในพาณิชย์ ทรัพย์ในพาณิชย์นั้น เป็นการแบ่งแยกประเภทของทรัพย์ออกจากทรัพย์นอกพาณิชย์ ทรัพย์นอกพาณิชย์คืออะไรนั้น ได้อธิบายมาแล้ว สำหรับทรัพย์ในพาณิชย์นั้นได้แก่ ทรัพย์ประเภท ที่สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนมือในทางพาณิชย์ได้ กล่าวคือเป็นทรัพย์ที่บุคคลโดยทั่วไปสามารถ เป็นเจ้าของได้โดยปกติ ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ถ้าจะกล่าวเพื่อให้เข้าใจโดยง่ายแล้ว ทรัพย์ใดที่มิใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ ทรัพย์นั้นย่อมเป็นทรัพย์ในพาณิชย์ทั้งหมด การแบ่งแยกออกเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์นั้นเป็นการแบ่งแยกในทาง ทฤษฎี เพราะตาม ป.พ.พ. ก็มิได้บัญญัติถึงทรัพย์ในพาณิชย์ไว้ คงบัญญัติไว้เฉพาะทรัพย์นอกพาณิชย์ในมาตรา ๑๔๓ การแบ่งแยกทรัพย์ออกเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ ในการที่จะกำหนดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล เพราะหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ในพาณิชย์ บุคคล โดยทั่วไปก็อาจมีสิทธิเป็นเจ้าของได้ตามกฎหมาย แต่หากว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์แล้วบุคคลโดยทั่วไปก็ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ หรือไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๓ หลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์ในพาณิชย์และทรัพย์นอกพาณิชย์ มีบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยโรมัน โดยในสมัยโรมันนั้นทรัพย์บาง อย่างจำกัดให้ชาวโรมันเท่านั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของดังนั้นบุคคลอื่นที่มิใช่ชาวโรมันจึงไม่อาจเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น ๆ ได้ เช่น ที่ดิน หรืออาวุธ เป็นต้น ทรัพย์เหล่านั้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ปัจจุบันแนวความ คิดเกี่ยวกับเสรีภาพในทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์ใดจะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จึงต้องมีกฎหมาย กำหนดโดยชัดเจน เว้นแต่โดยสภาพของทรัพย์นั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ เช่น ดวงดาว ท้องทะเลหลวง เช่นนี้เป็นต้น ๖) ส่วนควบ ป.พ.พ. ม. ๑๔๔ บัญญัติว่า “ส่วนควบของทรัพย์นั้น คือส่วนซึ่งว่าด้วยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง เจ้าของทรัพย์ ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น” อธิบายว่า จะต้องเป็นทรัพย์ตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไป เช่น จักร ลาน เข็ม เป็นส่วนควบของนาฬิกา เสา ฝา หลังคา ประตูหน้าต่าง เป็นส่วนควบของเรือน เป็นต้น (๑) โรงเรือน (อาคาร) ที่ปลูกสร้างบนที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดิน ผลที่ตามมา คือ หากมีการซื้อที่ดิน โดยจดทะเบียนถูกต้อง ต่อมาจึงมีการซื้อบ้านที่อยู่บนดิน การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในบ้านไม่จำต้อง จดทะเบียน เพราะบ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินตามหลักส่วนควบ (๒) ไม้ยืนต้น เป็นส่วนควบของที่ดิน แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ ไม่เป็นส่วนควบ และถือว่า เป็นสังหาริมทรัพย์ด้วย ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้น ต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก (๓) ไม้ยืนต้นที่ผู้ปลูกมีเจตนาเพียงชั่วคราว เช่น ปลูกเพื่อตัดไปทำเยื่อกระดาษ ไม่เป็นส่วนควบ (ม. ๑๔๖) (๔) ข้อยกเว้นการเป็นส่วนควบที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ก. ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว ข. ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้น ปลูกทำลงในที่ดินนั้น (๕) สิ่งปลูกสร้างที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำ ลงไว้ในที่ดินนั้น ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่น อาจจะเป็นสิทธิตามสัญญา เช่น สัญญาเช่า สิทธิเหนือพื้นดิน หรือใน กรณีเจ้าของที่ดินอนุญาตหรือยินยอมให้ปลูกสร้าง (โดยตรงหรือโดย ปริยายก็ได้) ก็ถือว่าเป็นการสร้างโดยผู้มีสิทธิเช่นเดียวกัน สิ่งปลูก สร้างนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน (๖) ระวัง การปลูกสร้างโดยมีสิทธิต้องดูสิทธิว่าได้มากน้อย เพียงใด ถ้าเกิน ส่วนที่เกินก็ไม่มีสิทธิ และถือว่าเป็นส่วนควบ เช่น กรณี เช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้าน แต่ผู้เช่าปลูกไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นปลูกโดยไม่มีสิทธิ ตกเป็นส่วนควบของเจ้าของที่ดิน (๗) กรณีเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านบ้านไม่เป็นส่วนควบ ครบกำหนด ตามสัญญาผู้เช่ารื้อถอนบ้านออกไปได้ เพราะบ้านเป็นของผู้เช่า แต่ถ้า มีการตกลงยกบ้านให้เจ้าของที่ดินไว้ในสัญญาหรือเมื่อสิ้นสุดสัญญา ต่อมามีการตกลงยกสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ผู้ให้เช่า บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีที่ผู้เช่าแสดงเจตนายกให้ โดยไม่ต้องจดทะเบียนตามหลักส่วนควบที่เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของ ส่วนควบ ๗) อุปกรณ์ (ม. ๑๕๗) “อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของ เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การ จัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมา ติดต่อ หรือปรับเข้าไว้หรือทำโดยประการอื่นใด ในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” ๘) ดอกผล ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘ บัญญัติไว้ว่า “ดอกผลทั้งหลายของทรัพย์นั้น มีความหมายดังนี้ (๑) ดอกผลธรรมดา หมายถึง บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะใช้ของนั้นอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน เช่น ผลไม้ น้ำมัน ขน และลูกของสัตว์ ย่อมสามารถจะถือเอาได้เวลาเมื่อขาด ตกออกจากสิ่งนั้น ๆ (๒) ดอกผลนิตินัย หมายถึง ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล หรือลาภอื่น ๆ ที่ได้เป็นครั้ง เป็นคราวแก่เจ้าทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น ดอกผลเหล่านี้ย่อมคำนวณและถือเอาได้ตามรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๒ ประเภท คือ ก) ดอกผลธรรมดา เป็นทรัพย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เพราะเหตุที่ได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น เมื่อเกิดแล้วถือเป็นทรัพย์ที่เพิ่มพูน งอกเงยต่างหากจากตัวแม่ทรัพย์ โดยแม่ทรัพย์ที่ผลิตดอกผลนั้นยังคงสภาพคงลักษณะเป็นแม่ทรัพย์อยู่อย่างเดิมไม่ผิดแผกแตกต่างไปอย่างใด เช่น ผลไม้เมื่อขาดหลุดจากต้น ต้นไม้อันเป็นแม่ทรัพย์ก็ยังคงมีสภาพเดิมอยู่ หรือขนของสัตว์ แม้จะตัดไป ก็ย่อมจะขึ้นมาใหม่ตามธรรมชาติ ไม่ทำให้สัตว์ซึ่งเป็นแม่ทรัพย์เสียลักษณะรูปร่างเดิมของสัตว์นั้นไป แต่ถ้าทรัพย์ใดที่เป็นทรัพย์เพิ่มพูน งอกเงยจากแม่ทรัพย์ และเมื่อขาดหรือหลุด จากแม่ทรัพย์แล้ว ทำให้แม่ทรัพย์เสียหายหรือเสียสภาพ ลักษณะเดิมไป ย่อมมิใช่ดอกผลธรรมดา เช่น เขาของสัตว์ หางของสัตว์ เมื่อตัดออกแล้วทำให้สัตว์นั้นเสียลักษณะไป เพราะเขาและหาง นั้นไม่อาจงอกได้อีก เขาและหางจึงมิใช่ดอกผลธรรมดาของสัตว์ ดอกผลธรรมดามิใช่มีแต่เพียงผลไม้ น้ำนม ขน และลูกของสัตว์เท่านั้น ทรัพย์อื่นที่เกิด งอกเงยขึ้นโดยธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เพราะเหตุที่ใช้แม่ทรัพย์นั้นก็เป็นดอกผลธรรมดาได้ เช่น เห็ด หรือแร่ธาตุที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๗ ย่อมเป็นดอกผลธรรมดาของที่ดิน หรือใบจากเป็นดอกผลธรรมดาของต้นจากเป็นต้น แต่ถ้าทรัพย์ใดมิได้เกิดโดยธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เอง หากแต่มีมนุษย์ทำให้เกิด แม้จะอาศัยแม่ทรัพย์ช่วยให้เกิดอยู่ด้วยก็ตาม ก็หาใช่ดอกผลธรรมดาไม่ เช่นต้นข้าวที่ปลูกในนาเกิดจาก แรงงานของมนุษย์ มิได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากนา จึงมิใช่ดอกผลของนา ฉะนั้นข้าวเปลือก ก็มิใช่ดอกผลของนาเช่นกัน (ฎ.๑๕๓๕/๒๔๙๓) ทรัพย์ที่เป็นดอกผลธรรมดานั้น จะถือเอาเป็นดอกผลได้ต่อเมื่อขาด ตกออกจากแม่ทรัพย์ แล้ว ถ้ายังไม่ ขาด ตก จากแม่ทรัพย์ เช่นผลไม้ยังอยู่กับต้น ลูกสัตว์ยังอยู่ในท้อง ขนสัตว์ยังมิได้ตัด ยังไม่ถือเป็นดอกผลธรรมดา การขาด ตก นั้น จะขาดตกโดยธรรมชาติ เช่นผลไม้สุกงอมร่วงมาเอง ลูกของสัตว์คลอด ออกมา เองตามกำหนดก็ได้ หรือจะขาดตกโดยกำลังภายนอกเช่น พายุพัดทำให้ผลไม้ร่วง หรือ คนปลิด สอยเอาผลไม้ หรือขุดเอาหน่อไม้ก็ได้ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นการขาดตกโดยผลของการใช้ แม่ทรัพย์ และไม่ทำให้แม่ทรัพย์เสียหายหรือเสียสภาพไป ข) ดอกผลนิตินัย เป็นดอกผลที่มิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างดอกผลธรรมดา แต่เป็นดอกผลของแม่ทรัพย์เกิดจากการที่ผู้อื่นใช้แม่ทรัพย์นั้น และ ซึ่งกฎหมายรับรองให้เป็นดอกผล เช่น ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล เป็นต้น ดอกผลนิตินัยนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้อื่นเป็นผู้ใช้แม่ทรัพย์นั้น แล้วมอบค่าตอบแทนเป็นทรัพย์ให้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์เป็นครั้งคราว เพื่อตอบแทน ในการที่ผู้อื่นได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น โดยที่ดอกผลนิตินัยมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงคำนวณและถือเอาได้ตามรายวัน หรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดอกผลนิตินัย มีสาระสำคัญดังนี้ ๑. ต้องเป็นทรัพย์ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น ผลประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์ย่อม ไม่เป็นดอกผลนิตินัย เจ้าของรถยนต์เอารถให้เช่าเพื่อทำแท็กซี่ ค่าเช่าเป็นดอกผลนิตินัย แต่ถ้าผู้เช่าแท็กซี่บริการผู้ให้เช่าด้วยการให้นั่งรถฟรี แม้จะเป็นครั้งคราว นานเท่าใด การได้นั่งรถฟรี หาใช่ดอกผลไม่เพราะเป็นเพียงประโยชน์มิใช่ทรัพย์ แต่ทรัพย์นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป อาจเป็นทรัพย์อื่นก็ได้ เช่น เช่านา ได้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก เช่าสวนผลไม้ได้ค่าเช่าเป็นผลไม้ ข้าวเปลือกและผลไม้ก็ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัยได้ ๒. ต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์นั้นเอง เช่น เอาเงินให้กู้ เอารถให้เช่า ดอกเบี้ย และค่าเช่าตกได้แก่เจ้าของทรัพย์นั้นเอง ถ้าผู้กู้ให้เงินแก่นายหน้าที่ช่วยพาไปกู้ แม้จะให้เป็นครั้งคราวเพียงใด เงินนั้นก็มิใช่ดอกผล เพราะมิใช่เงินที่ตกค้างได้แก่เจ้าของเงิน แต่ถ้าทรัพย์ใด จะต้องตกได้แก่เจ้าของทรัพย์แล้ว แม้เจ้าของทรัพย์จะให้ผู้อื่นรับแทน หรือผู้ใช้ทรัพย์มอบให้แก่ ผู้อื่นไปเลยก็ตาม ทรัพย์นั้นก็ยังเป็นดอกผลอยู่ เช่นดอกเบี้ย หรือค่าเช่า แม้เจ้าของแม่ทรัพย์ จะให้ผู้กู้หรือผู้เช่าชำระให้แก่ผู้ใดก็ตาม ดอกเบี้ยและค่าเช่านั้นก็ยังเป็นดอกผลนิตินัยอยู่ ๓. ทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์นี้จะต้องเป็น การตอบแทนจากผู้อื่นในการที่ผู้นั้น ได้ใช้แม่ทรัพย์ เช่น นำรถยนต์ให้เช่า ค่าเช่าเป็นผลประโยชน์ที่ผู้เช่าให้แก่เจ้าของรถเนื่องจาก ผู้เช่าได้ใช้สอยรถนั้น แต่ค่าโดยสารที่ผู้เช่าได้จากผู้โดยสารมิใช่ทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของรถยนต์ และยังถือว่าเป็นทรัพย์ที่เกิดจากแรงงานของผู้ขับมากกว่าที่จะเกิดจากการใช้ทรัพย์นั้นแต่อย่างเดียว ฉะนั้นค่าโดยสารนี้แม้จะได้เป็นครั้งคราวก็มิใช่ดอกผลนิตินัย ผู้ใดมีสิทธิในดอกผล หลักทั่วไป คือ เจ้าของแม่ทรัพย์มีสิทธิในดอกผลของทรัพย์นั้น ดังจะเห็นได้จาก มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งบัญญัติว่าเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น มาตรา ๑๓๖๐ วรรคสองบัญญัติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนในทรัพย์สินนั้น มาตรา ๖๖๖ บัญญัติว่าถ้ามีดอกผลเกิดแก่ทรัพย์สินที่ฝาก ผู้รับฝากต้องคืนดอกผลให้แก่ผู้ฝากหรือทายาท ของผู้ฝาก มาตรา ๘๑๐ บัญญัติว่าเงิน และทรัพย์สินอื่นที่ตัวแทนรับไว้ในฐานะตัวแทนต้องส่งให้ ตัวการทั้งสิ้น ๙) ลักษณะและหลักทั่วไปของทรัพยสิทธิ ลักษณะของทรัพยสิทธิ ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ๙.๑) ลักษณะของทรัพย์สิทธิและบุคคลสิทธิ เมื่อพูดถึงทรัพย์และทรัพย์สินแล้ว ย่อมมีปัญหาเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีอยู่ในตัวทรัพย์ว่าเมื่อบุคคลหลายคนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในตัวทรัพย์และทรัพย์สินเดียวกันแล้ว สิทธิของ ผู้ใดจะมีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นดีกว่ากัน ปัญหานี้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม. ๑๒๙๘ ถึง ม. ๑๔๓๔) ม. ๑๒๙๘ บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้นท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้ แต่ด้วยอาศัยอำนาจใน ประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น” “ทรัพยสิทธิ” คือสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ใช้ยันกับบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่บุคคลทั่วโลก “บุคคลสิทธิ” คือสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำซึ่งในลักษณะหนี้ เรียกว่าสิทธิเรียกร้องหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ตัวบุคคลให้กระทำหรือมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ สิทธิตามสัญญาจะซื้อขาย สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ทางละเมิด เป็นต้น ๙.๒) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (๑) การได้มาโดยทางนิติกรรม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง การได้มาโดยนิติกรรมสมบูรณ์ต่อเมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน (๒) แต่การได้มานั้น ถ้ามีกฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นการเฉพาะ การไม่ทำตามแบบย่อมตกเป็นโมฆะ เช่น มาตรา ๔๕๖ ซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ รวมแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ด้วย มาตรา ๕๒๕ ให้อสังหาริมทรัพย์ มาตรา ๗๑๔ จำนองอสังหาริมทรัพย์ (๓) อีกนัยหนึ่งคือการได้มาซึ่งนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริม- ทรัพย์ที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดแบบไว้ จึงตกอยู่ภายใต้มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลคือ หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในบุคคลสิทธิ คือ ยันคนทั่วไปไม่ได้ ยันได้แต่กับคู่กรณี เช่น - การโอนอสังหาฯ ตีใช้หนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดแบบไว้ ต้อง ปรับเข้ามาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก - การได้อสังหาฯมาโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการได้มาโดยนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เช่น พ่อ แม่ทะเลาะเรื่องแบ่งที่ดินจึงตกลงยกที่ดินให้ลูก ส่วนใหญ่เกิดเมื่อจะหย่ากัน (ไม่ใช่ให้โดยเสน่หา) (๔) การเช่าซื้อที่ดินเมื่อจ่ายเงินครบถือว่ามีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ เมื่อชำระราคาครบ ต้องไปจดทะเบียน มิฉะนั้นบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง (๕) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางมรดก ไม่ว่าจะมีพินัยกรรมหรือไม่หลักปกติถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่น (มาตรา ๑๖๐๐) ยกเว้นกรณีที่พินัยกรรมก่อตั้งทรัพย- สิทธิขึ้นมาใหม่ เช่น พินัยกรรมก่อตั้งสิทธิอาศัย เช่นนี้ถือว่า ผู้ได้มาซึ่งสิทธิอาศัยดังกล่าวเป็นการได้มาโดยนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง (๖) การก่อตั้งทรัพยสิทธิจำพวกตัดทอนกรรมสิทธิ์ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย หากไม่มีการต่างตอบแทน ปกติต้องถือว่าเป็นการให้ อสังหาริมทรัพย์โดยเสน่หา ไม่จดทะเบียนตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๕๒๕ ไม่ใช่เพียงไม่บริบูรณ์ตามมาตรา ๑๒๙๙ แต่ฎีกายังไม่ลงรอยกันสนิท เสียทีเดียว บางฎีกาก็ว่าสามารถบังคับได้ (๗) การต่างตอบแทนในการก่อตั้งทรัพยสิทธิ บางครั้งไม่จำเป็น ต้องมีการจ่ายเงินอย่างเดียว อาจเป็นกรณีที่มีการกระทำการใดแลกเปลี่ยนกันก็ได้ หรือมีการทะเลาะกันพิพาทกันแล้วประนีประนอมก่อตั้งภาระจำยอมก็ได้ ขออย่างเดียวไม่ใช่การให้โดยเสน่หาก็พอ (๘) การได้ทรัพยสิทธิมาโดยนิติกรรมที่ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา เช่น ภาระจำยอม แต่ไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ผู้ได้มาที่ประสงค์จะให้สิทธิของตนสมบูรณ์สามารถฟ้องให้อีกฝ่ายไป จดทะเบียนตามบุคคลสิทธิได้ (ฎ. ๖๗๔๗/๒๕๓๙) ๙.๓) การได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ตาม ม. ๑๒๙๙ วรรค ๒ ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ มี ๓ อย่าง คือ (ก) การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ (ม. ๑๓๘๒) (ข) การได้มาโดยคําพิพากษาของศาล (ฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘) (ค) การได้มาโดยทางมรดก(มีหรือไม่มีพินัยกรรมก็ตาม) (ม.๑๕๙๙) (๙.๓.๑) การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ (ม. ๑๓๘๒) ๑. ทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ต้องมีกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินมือเปล่าไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ แต่แย่งสิทธิครอบครองได้ ๒. กรณีที่ดินมือเปล่า แล้วมีการออกโฉนดที่ดินในภายหลัง ระยะเวลา ๑๐ ปี จะนับต่อเมื่อที่ดินนั้นมีการออกโฉนดที่ดินแล้ว จะนำระยะเวลาที่ครอบครองก่อนหน้าเป็นโฉนดที่ดินมารวมไม่ได้ ๓. ครอบครองที่ดินที่งอก จะเริ่มนับเวลาได้เมื่อที่ริมตลิ่งกลาย เป็นที่งอกแล้ว และนับเวลาก่อนนั้นมารวมก็ไม่ได้ด้วย ๔. การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ดินของผู้อื่น การครอบครองที่ดินของตนเองที่ใส่ชื่อผู้อื่นถือไว้แทน ไม่ใช่ครอบครองปรปักษ์ เจ้าของเรียกให้เปลี่ยนชื่อตามหลักเรื่องตัวการตัวแทนได้เสมอ ๕. เมื่อครอบครองที่ดินของผู้อื่น ต่อให้เข้าใจว่าเป็นของตน ไม่รู้ว่าเป็นของผู้อื่น ก็เป็นการครอบครองปรปักษ์ได้ ๖. การซื้อขายหรือการให้ที่ตกเป็นโมฆะ และมีการส่งมอบ ที่ดิน ผู้ซื้อหรือรับการให้ สามารถได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักการครอบครองปรปักษ์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองแทน ๗. กรณีการซื้อที่ดินที่ห้ามโอน แล้วไม่ได้จดทะเบียน จะเริ่มนับเวลาได้ ต่อเมื่อพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนเสียก่อน เอาระยะเวลา ก่อนหน้านั้นมานับรวมก็ไม่ได้ ๘. กรณีผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่า เป็นการครอบครองแทนผู้จะขาย ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ๙. แต่แม้มีการระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ผู้จะขายเจตนาโอนให้เป็นสิทธิขาด (ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด) ถ้าครอบครอง ๑๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ๑๐. ครอบครองปรปักษ์ที่ดินวัดไม่ได้ แต่วัดครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่มีผู้ยกให้แต่ไม่ได้จดทะเบียนให้ได้ แต่จะตั้งหน้าตั้งตาครอบครองปรปักษ์ที่ดินผู้อื่นไม่ได้ ถือว่าอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของวัดในฐานะเป็นนิติบุคคล ๑๑. การครอบครองในระหว่างเป็นคดีกัน ถือว่าครอบครองไม่ สงบ บริวารของผู้เป็นความกันก็อ้างว่าครอบครองโดยสงบไม่ได้เช่นกัน ๑๒. การครอบครองที่ดินโดยเจ้าของยอมให้อาศัย ไม่ใช่เจตนา เป็นเจ้าของ ไม่เป็นครอบครองปรปักษ์ ๑๓. กรรมสิทธิ์รวม เจ้าของรวมคนหนึ่งจะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือไปยัง เจ้าของรวมคนอื่นเสียก่อน ๑๔. การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ถือเอาระยะเวลาด้านผู้ครอบครองเท่านั้น ๑๕. แต่ถ้าด้านผู้เป็นเจ้าของมีการโอนกันอยู่ตลอดเวลา อาจ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบได้ ๑๖. ด้านเจ้าของที่มีชื่อ หากมีการโอนหลายทอด ผู้รับโอนอ้าง มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ตัดสิทธิผู้ครอบครองปรปักษ์ได้ ๑๗. กรณีมีการโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับระยะเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครอง ของตนก็ได้ - ศาลฎีกาวางแนวใน ฎ. ๘๐๐/๒๕๐๒ ว่า สิทธิที่ได้มาตาม มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องเป็นสิทธิประเภทเดียวกัน คือ กรรมสิทธิ์ กับกรรมสิทธิ์ เช่น ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์ (ผู้ครอบครองได้ กรรมสิทธิ์) กับบุคคลภายนอกได้มาโดยการซื้อขายที่ดิน (บุคคล ภายนอกได้กรรมสิทธิ์) ดังนั้น ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์กับภาระจำยอมแล้วไม่ต้องด้วยมาตราดังกล่าวผู้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความแม้ไม่จดทะเบียนก็อ้างภาระจำยอมยันบุคคลภายนอกที่จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้ (ทางออกน่าจะออกเป็นเรื่องว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริต เพราะบุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการจดทะเบียนย่อมต้องรู้ได้ ว่าที่ดินที่ซื้อมีทางภาระจำยอม) บุคคลต่อไปนี้ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง (๑) ทายาทของเจ้าของทรัพย์ไม่ใช่บุคคลภายนอก เพราะ ทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก อีกทั้งไม่ถือว่า ทายาทได้ทรัพย์ไปโดยเสียค่าตอบแทนด้วย และหากเป็นการให้ใน ระหว่างที่พ่อมีชีวิตแล้ว แม้ลูกเป็นบุคคลภายนอก แต่ก็ไม่ได้รับความ คุ้มครองเพราะไม่เสียค่าตอบแทน แต่ถ้าพ่อขายที่ดินให้ลูก ลูกเป็น บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองได้ แต่อาจถูกโต้แย้งได้ว่าไม่สุจริต เพราะลูกน่าจะรู้เรื่องที่ดินของพ่อ (๒) เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เพราะไม่ได้เป็นผู้ จดทะเบียนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้จำนองแล้ว ถือว่าเป็น บุคคลภายนอก เพราะในการจำนองมีการจดทะเบียนสิทธิจำนอง อัน เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง (๓) เจ้าของรวมที่ได้รับโอนที่ดินภายหลังจากมีผู้ได้ครอบ ครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ไม่ใช่บุคคลภายนอก เพราะ ถือว่าเป็นคู่กรณี ๑๘. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ใช้กับทั้งที่ดิน น.ส.๔ และ น.ส.๓ ด้วย การได้มาโดยสิทธิครอบครอง มาตรา ๑๓๗๕ ก็ตกอยู่ใน บังคับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองเช่นกัน ๑๙. คำว่า “สุจริต” หมายถึง ไม่รู้ว่ามีผู้ได้มาโดยทางอื่นนอก จากนิติกรรมแล้ว ตัวอย่างพฤติการณ์ที่ถือว่าไม่สุจริต เช่น - ซื้อที่ดินแปลงใหญ่แต่ไม่ยอมไปดู - ไปดูที่ดินพบผู้อยู่อาศัย ถามผู้ขาย ผู้ขายว่าเช่าอยู่ หรือ อาศัยสิทธิผู้ขายอยู่ แต่ถ้าเข้าไปถามผู้อยู่อาศัย แล้วเขาตอบว่าอาศัย หรือเช่า ถือว่าสุจริต ๒๐. ในกรณีครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว (ย้ำต้องได้กรรม- สิทธิ์แล้ว) ถ้าบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินโดย สุจริตและเสียค่าตอบแทน บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครอง และถือว่าสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้ว (ต้องเริ่มนับ ๑ ใหม่) ดังนั้น แม้จะมีผู้รับโอนที่ดินกันต่อมา ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับโอนคนต่อมาจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ๒๑. กรณีมีการรับโอนอสังหาฯ จากผู้ไม่มีสิทธิ เช่น ผู้ที่ปลอม ลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดิน หรือซื้อที่ดินจากผู้ที่ปลอมโฉนดที่ดินมาขาย หรือออกโฉนดที่ดินปลอม ย่อม ไม่เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แม้จะสุจริตและ เสียค่าตอบแทนก็ตาม บุคคลภายนอกต้องได้รับโอนอสังหาฯ จากผู้ที่ เป็นเจ้าของเดิม(ผู้มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิในที่ดิน) ๒๒. กรณีที่เจ้าของที่ดินลงชื่อในใบมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอก ข้อความ เพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจไปกระทำการหนึ่ง เป็นการประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง ถ้าผู้รับมอบอำนาจไปกรอกเองว่า เป็นการมอบ อำนาจให้ขายที่ดิน แล้วผู้ซื้อซื้อที่ดินโดยสุจริตแล้ว เจ้าของที่ดินเดิมจะใช้สิทธิตาม ม. ๑๓๐๐ เพิกถอนการจดทะเบียนไม่ได้ ถือว่า เจ้าของ ที่ดินเดิมใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (เพราะตัวเองประมาทเลินเล่ออย่าง ร้ายแรงในตอนต้น) ๒๓. กรณีโฉนดที่ดินหรือ น.ส. ๓ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ออกโดยไม่มีสิทธิ ไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๒๔๙๔ วรรคสอง แม้มีการ โอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผู้รับโอนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เจ้าของที่ดินที่แท้จริงขอเพิกถอนเอกสารสิทธิดัง กล่าวได้ โดยอาศัยกฎหมายเฉพาะคือประมวลกฎหมายที่ดิน โดย เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ไม่ถูกต้อง (รวมทั้งกรณีนางเนื่อม ด้วย) (กรณีมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องรับโอนมาจากเจ้าของเดิมที่ เอกสารสิทธิในที่ดินออกมาโดยถูกต้อง) ๒๔. กรณีโอนโฉนดที่ดินไขว้กัน ระหว่างผู้รับโอนเรียกร้องให้ มอบโฉนดที่ดินให้ถูกต้องได้ อ้างมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ไม่ได้ เพราะทั้งสองต่างถือว่าเป็นคู่กรณี ไม่ใช่บุคคลภายนอก แต่ถ้าได้มีการ โอนไปให้บุคคลภายนอกแล้ว ผู้รับโอนย่อมได้รับที่ดินตามที่ได้รับโอนทางทะเบียน เมื่อสุจริต (มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง) (๙.๓.๒.) การได้มาโดยคําพิพากษาของศาล (ฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘) - คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘ คำพิพากษาซึ่งแสดงว่าให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดนั้น บุคคลย่อมได้สิทธิตามคำพิพากษาโดยบริบูรณ์ แม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ต้องนำไปจด ทะเบียนเสียก่อน การจดทะเบียนเป็นแต่เพียงทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ฉะนั้น ผู้อาศัยซึ่งชนะคดี ผู้ให้อาศัยย่อมได้สิทธิตามคำพิพากษาโดยไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลบังคับเสมอไปและใช้ยันคู่กรณีได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนสิทธินั้น และยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๙/๒๕๑๑ /คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๓๖๔/๒๕๓๓ /คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๙๓๖/๒๕๓๙ อีก (๙.๓.๓) การได้มาโดยทางมรดก (มีหรือไม่มีพินัยกรรมก็ตาม) (ม. ๑๕๕๙) - ม. ๑๕๙๙ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกแก่ทายาท หมายความว่ากองมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยทายาทไม่ต้องแสดงเจตนาเพื่อรับทรัพย์- สินที่เป็นกองมรดก - ม. ๑๖๐๐ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมาย หรือโดย สภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ๑. การได้ทรัพยสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม ๒. การได้ทรัพยสิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรม ๓. การได้ทรัพยสิทธิโดยทางมรดกในกรณีอื่น แต่เดิมมานั้นในต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในกรณีที่ดินนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายลง ที่ดินนั้น กลายเป็นที่ดินไม่มีเจ้าของ ใคร ๆ ก็เข้าทำกินได้ การกำหนดเช่นนี้ไม่เป็นธรรมแก่ทายาทของผู้ตาย ต่อมา จึงได้บัญญัติให้ที่ดินตกทอดไปยังทายาทได้ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในพระอัยการเบ็ดเสร็จบทที่ ๕๕ ในปัจจุบันความตายของบุคคลเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาโดยนิติเหตุ โดยแบ่งได้เป็นสองกรณี คือ กรณีเป็นทายาทโดยธรรมและกรณีเป็นผู้รับพินัยกรรม (ฎ. ๑๖๑๙/๒๕๐๖) ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดก ตั้งแต่เจ้ามรดก ตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ ก็ตาม ฎ. ๑๘๑๒/๒๕๐๖ เมื่อ ผู้ทำพินัยกรรมตาย ที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันทีตาม ปพพ. มาตรา ๑๖๗๓) (๑) การได้ทรัพยสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม ในกรณีที่บุคคลถึงแก่ความตายลง มรดกของผู้ตายย่อมตกได้แก่ทายาท ความตายนั้น อาจเป็นการตายโดยธรรมชาติ หรือตายโดยบทบัญญัติของกฎหมาย คือ สาบสูญ (ป.พ.พ. ม.๖๑ และ ม.๖๒) ก็ได้ ผู้รับมรดกโดยสิทธิตามกฎหมายนี้เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม" ดังนั้น บุคคลที่ทรัพย์สินของเขาจะ ตกทอดไปยังทายาทได้นั้นต้องเป็น “บุคคลธรรมดา”เท่านั้น “นิติบุคคล”ไม่อาจมีกองมรดกตกทอด ไปยังทายาทโดยธรรมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๙ วรรคแรก ว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” มรดก คืออะไรนั้น มาตรา ๑๖๐๐ ได้บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพ แล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่า มรดกนั้นมิได้ หมายความเฉพาะทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงหน้าที่ด้วย หน้าที่ไม่ใช่ ทรัพย์สิน ดังนั้น ในกรณีหน้าที่จึงมิใช่เป็นเรื่องการได้ทรัพยสิทธิ เช่น นายแดงเจ้ามรดกตาย ลงทิ้งกองมรดกไว้ คือ บ้านและที่ดินราคา ๑ ล้านบาท แต่นายแดงก็มีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ นายดำอีก ๕ แสนบาท กรณีเช่นนี้บ้านและที่ดินย่อมเป็นทรัพยสิทธิที่ตกทอดไปยังทายาท แต่ หน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้นั้นมิใช่ทรัพยสิทธิ อย่างไรก็ตาม สิทธิในหนี้ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน การตกทอดทรัพยสิทธิโดยทางมรดกนั้นยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบังคับในเรื่องการตกทอดทรัพยสิทธิด้วย เช่น มาตรา ๑๔๐๔ ได้บัญญัติว่า “สิทธิอาศัยนั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก” หรืออาจมีกฎหมายเฉพาะห้ามโอนหรือตกทอดโดยทางมรดก ซึ่งทรัพย์สินบางชนิดบางประเภทด้วย อนึ่ง สิทธิบางประการแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามตกทอดทางมรดกก็ตาม แต่ถ้าโดยสภาพแล้วเห็นได้ว่าเป็นเป็นสิทธิเฉพาะตัวเช่นนี้ก็ไม่อาจตกทอดมรดกได้ เช่น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิทธิในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตกทอดไปยังทายาทได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ฯลฯ เป็นต้น การตกทอดทรัพยสิทธิโดยทางมรดกนั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในเรื่องนี้ด้วย คือ ป.พ.พ. บรรพ 6 (๒) การได้ทรัพยสิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรม เจ้ามรดกอาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลใดๆก็ได้ซึ่งเรียกว่า“ผู้รับพินัยกรรม” แต่พินัยกรรมนั้นต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผลทางกฎหมายจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำพินัยกรรม ตายลง ทรัพย์สินที่ได้ทำพินัยกรรมไว้ย่อมตกได้กับผู้รับพินัยกรรม การตกทอดมรดกโดยพินัยกรรมนั้น แตกต่างจากการสืบสิทธิในทางมรดกในฐานทายาทโดยธรรม เพราะในกรณีแรกนั้น เจ้ามรดกจะกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดอย่างไรก็ได้ แต่ในกรณีหลังนั้น การสืบสิทธิเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พินัยกรรมต้องอาศัยการแสดงเจตนากำหนด เมื่อตายไว้ ซึ่งต่างจากกรณีมรดกธรรมดาซึ่งมิต้องแสดงเจตนาใด ๆ ไว้ อนึ่ง การได้ทรัพยสิทธิมาโดยทางมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้น นักกฎหมายมีความ เห็นเป็นสองแบบ แบบแรก เห็นว่าการได้ทรัพยสิทธิมาในลักษณะดังกล่าว เป็นการได้มาโดย นิติกรรมอย่างหนึ่ง เพราะพินัยกรรมก็เป็นนิติกรรม แบบที่สอง เห็นว่า แม้พินัยกรรมจะ เป็นนิติกรรม แต่ผลของนิติกรรมดังกล่าว เป็นผลที่เกิดจากอำนาจของกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมาย ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตกทอดมรดกโดยพินัยกรรม ความตายของบุคคลเป็นเหตุของการตกทอดโดยตรง มิใช่เพราะเขาทํานิติกรรมไว้ นิติกรรมจึงเป็นเรื่องที่มาทีหลัง สำหรับ ผู้เขียนนั้นเห็นว่าการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยพินัยกรรมนั้น น่าจะเป็นการได้ทรัพยสิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมมากกว่า อันที่จริงการได้ทรัพยสิทธิมาโดยพินัยกรรมนั้น ก็คือ การทำนิติกรรมยกให้อย่างหนึ่ง นั่นเอง ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าความตายของผู้ทำพินัยกรรมเป็นเงื่อนไขของผลทางกฎหมาย ซึ่งผลดังกล่าวนี้ กฎหมายกำหนดขึ้นมิใช่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดขึ้นเองแต่อย่างใด การตกทอดทรัพยสิทธิ โดยพินัยกรรมจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้บุคคลได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ (๓) การได้ทรัพยสิทธิโดยทางมรดกในกรณีอื่น ทรัพยสิทธินั้นแม้บุคคลจะสามารถได้มาโดยทางมรดกไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรม หรือ ในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็ตาม การได้มาในลักษณะดังกล่าวยังต้องประกอบด้วยเจตนาของเจ้า มรดกอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นกรณีใด กรณีพินัยกรรมนั้นเห็นได้ชัดเจนในเรื่องเจตนาของเจ้ามรดก แต่แม้จะเป็นการตกทอดในฐานะทายาทโดยธรรมก็ตาม ก็อาจพิจารณาได้ว่าถึงอย่างไรเจ้ามรดก คงต้องการให้ทรัพย์มรดกของตนตกได้แก่ทายาท มิฉะนั้นแล้วก็คงจะทำนิติกรรมหรือพินัยกรรม ยกให้ผู้อื่นไปแล้ว แต่มีบางกรณีที่ทรัพย์สินอันเป็นมรดกของบุคคลตกทอดไปโดยอำนาจของกฎหมายโดยแท้ กรณีดังกล่าวนี้ ก็คือ กรณีทรัพย์สินของภิกษุมรณภาพ ในเรื่องนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๒๓ ว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม” จะเห็นว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ จึงจะตกได้แก่ วัดที่เป็นภูมิละเนาของพระภิกษุนั้น และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพระภิกษุนั้นยังมิได้จำหน่าย หรือ โอนไปให้แก่ผู้ใดในระหว่างมีชีวิตอยู่ กรณีนี้จึงเป็นทางหนึ่งที่ทำให้มีการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดก แม้ว่าจะเป็นวัดวาอารามก็ตาม แต่วัดก็เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช่นกัน อนึ่ง หากทรัพย์สินของพระภิกษุนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่มีมาก่อนอุปสมบท ทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของภิกษุนั้นตาม มาตรา ๑๖๒๔ การตกทอดมรดกในกรณีนี้ เกิดจากความตายของบุคคล และผลของบทบัญญัติของกฎหมาย เจตนาของเจ้ามรดกมิได้นำเข้ามาพิจารณาด้วย กรณีทรัพย์สินของพระภิกษุนี้เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดกอย่าง หนึ่ง แต่เป็นการได้มาโดยทางมรดกในกรณีพิเศษ กล่าวคือกฎหมายได้บัญญัติไว้เฉพาะเหตุที่ต้องบัญญัติให้ทรัพย์สินของพระภิกษุตกได้แก่วัดนั้นก็เพราะพระภิกษุเป็นผู้สละแล้วซึ่งกิเลส ดังนั้น สิ่งใดที่สั่งสมไว้ในขณะบวชอยู่นั้นย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่ได้มาเพียงเพื่อการดํารงชีพอยู่ในเพศบรรพชิต หรือเพราะมีผู้ถวายให้ซึ่งไม่อาจขัดศรัทธาได้ ดังนั้น จึงควรให้ทรัพย์สินนั้นตกได้แก่วัด เพื่อวัดจะได้นําทรัพย์สินนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจการทางสงฆ์ต่อไป ๑๐) การเพิกถอนการจดทะเบียน ตาม ม. ๑๓๐๐ มีสาระสำคัญ ดังนี้ (๑) ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนได้ก่อน ตามแนวฎีกา ได้แก่ (ก) ผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว และได้รับมอบทรัพย์สินที่ซื้อแล้ว แต่ถ้า เพียงทำสัญญาจะซื้อจะขาย หรือชำระราคาบางส่วนยังไม่อยู่ในฐานะจดทะเบียนได้อยู่ก่อน (ข) ผู้จะซื้อที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้จะขายที่ดิน จดทะเบียนให้ ไม่ว่าจะได้ชําระราคาครบถ้วน แล้ว หรือได้รับมอบหรือยัง (ค) ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน (ง) ทายาทที่ได้รับมรดก (จ) เจ้าของรวมคนที่ยอมให้เจ้าของรวมคนอื่นมีชื่ออยู่ในโฉนด (๒) ถ้าบุคคลภายนอกสุจริต และเสียค่าตอบแทน บุคคลภายนอกชนะ ทั้ง ม. ๑๒๙๙ และ ม.๑๓๐๐ (๓) ผู้จะซื้อที่ไม่เข้าเงื่อนไข มาตรา ๑๓๐๐ ศาลฎีกายอมให้ใช้ มาตรา ๒๓๗ เพิกถอนการโอนที่ดินที่จะซื้อจะขายกันได้ (ทั้ง ๆ ที่การ ใช้มาตรา ๒๓๗ ต้องใช้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือเพียงพอ ชำระหนี้ แต่ศาลให้ตามเจตนา โดยการจะซื้อจะขายต้องการที่ดิน ไม่ใช่ต้องการค่าเสียหาย) ๑๑) สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ม.๑๓๐๔ บัญญัติว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า (๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ผลของการเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สำคัญมี ๓ ประการ คือ (๑) จะโอนแก่กันโดยทางปกติไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา (๒) จะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ (๓) จะยึดไม่ได้ คือ ยึดเอามาเพื่อบังคับคดีไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยึดถือเพื่อทรงสิทธิ ครอบครองไม่ได้ (เอกชนเข้ายึดถือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมได้สิทธิครอบครองที่ใช้ยันกันเองได้ แต่ยันรัฐไม่ได้) (๔) การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่แสดงเจตนาอุทิศ ไม่จำต้องจดทะเบียนโอน แม้หนังสืออุทิศระบุว่าจะไปจดทะเบียนก็ตาม และศาลจะบังคับให้ ผู้อุทิศไปจดทะเบียนก็ไม่ได้เช่นกัน (๕) เมื่อมีการอุทิศให้แล้ว แม้ผู้ที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามความประสงค์ของผู้อุทิศก็ตาม ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (๖) การอุทิศให้สาธารณะอาจทำได้โดยปริยาย คือ การยอมให้ ประชาชนใช้สอยที่ดิน โดยไม่หวงกั้น ก็ได้ (๗) การยกที่ดินเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการโดยเฉพาะ เช่น ยกให้เพื่อให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเพื่อหารายได้มาพัฒนา (๘) ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ระหว่างเอกชนด้วยกัน ใครครอบครองก่อน และครอบครองอยู่ คนนั้นมีสิทธิดีกว่า แต่ถ้าได้ ครอบครองก่อนแล้วสละการครอบครอง ผู้ครอบครองรายหลังซึ่งครอบครองอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า (๙) ถ้าผู้ครอบครองอยู่ก่อนนำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ออกให้เช่า สัญญาเช่าโมฆะ ผู้เช่าซึ่งครอบครองอยู่มีสิทธิดีกว่า แต่ถ้ามีการนำทรัพย์สินที่ปลูกสร้างบนที่ดินสาธารณะไปให้เช่า ผู้ให้เช่ามี สิทธิดีกว่า สัญญาเช่าใช้บังคับได้ (๑๐) ทรัพย์ใดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมเป็นตลอดไปแม้พลเมืองจะเลิกใช้ไปแล้วก็ตาม ๑๒) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ (ม.๑๓๐๘ - ม.๑๓๐๙) มีสาระสำคัญดังนี้ ๑. ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น ๒. ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และ ต้องงอกออกไปจากชายตลิ่ง ๓. ร่องน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินเนื่องจากประชาชนนําสิ่งของไปทิ้ง ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่ง ๔. ที่งอกริมตลิ่งที่งอกจากทางสาธารณะ ก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ๕. ที่งอกหน้าที่ดินมีโฉนดย่อมมีกรรมสิทธิ์ จะครอบครองปรปักษ์ต้องใช้เวลา ๑๐ ปี เมื่อมีผู้ครอบครองปรปักษ์เป็นส่วนสัดมานานกว่า ๑๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ (ข้อสังเกต การเริ่มนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ ต้องเริ่มนับนับแต่กลายเป็นที่งอกแล้ว) ๖. ถ้างอกมาจากที่ดิน น.ส.๓ ย่อมมีเพียงสิทธิครอบครอง แย่งเพียง ๑ ปี เจ้าของก็เรียกคืนไม่ได้แล้ว ๗. ที่ดินที่ถูกน้ำเซาะพังทั้งแปลงจนกลายเป็นทางน้ำแล้ว ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ภายหลังจะเกิดเป็นที่งอกขึ้น มาใหม่ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นที่งอกที่งอกจากที่ดินแปลงใด เจ้าของแปลงเดิมจะอ้างสิทธิโดยอัตโนมัติไม่ได้ ๑๓) การสร้างโรงเรือนที่ดินของผู้อื่น (ม. ๑๓๑๐) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. ผู้ที่สร้างโรงเรือน (อาคาร) ในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนด้วย แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงเท่าที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนให้แก่ผู้สร้าง (มาตรา ๑๓๑๐) แต่ถ้าไม่สุจริต บุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนแก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ โดยใช้ราคาโรงเรือนหรือราคาที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนตามแต่จะเลือก(มาตรา ๑๓๑๑) ๒. นำมาตรา ๑๓๑๐ มาใช้กับสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ผู้สร้างต้องรื้อถอนออกไป ๓. คำว่า โดยสุจริต คือ ปลูกสร้างโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของผู้อื่น หรือเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ความสุจริตถือเอาตอนลงมือก่อสร้างไปจนเสร็จการก่อสร้างเป็นสำคัญ ๔. การปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินที่ได้มาจากนิติกรรมที่ตกเป็น โมฆะ จะอ้างว่าสร้างโดยสุจริตไม่ได้ ๕. ผู้ที่ปลูกสร้างโรงเรือนโดยอาศัยสิทธิตามนิติสัมพันธ์ไม่เข้า มาตรา ๑๓๑๐-๑๓๑๑ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่า หรือเจ้าของยอมให้ สร้าง หรือ จำง่าย ๆ ว่า โรงเรือนที่จะเข้ามาตรา ๑๓๑๐ และ ๑๓๑๑ ต่อเมื่อโรงเรือนนั้นเป็นส่วนควบของที่ดิน (ไม่เข้าข้อยกเว้นการเป็น ส่วนควบตามมาตรา ๑๔๖) ๑๔) สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น (ม. ๑๓๑๑ - ม.๑๓๑๒) มีสาระสำคัญดังนี้ ๑. หลัก กรณีสุจริต ผู้สร้างเป็นเจ้าของ แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนเป็นภาระจำยอม แต่ถ้าภายหลังโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอน การจดทะเบียนเสียก็ได้ กรณี ไม่สุจริต เจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป โดย ให้ทำให้ที่ดินเป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ๒. สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองต้องเป็นโรงเรือน ส่วนจะเป็นส่วนใดของโรงเรือนก็ได้ แต่ส้วมไม่ใช่โรงเรือน ท่อน้ำทิ้งก็ไม่ใช่โรงเรือน ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ ๓. กรณีเจ้าของเดิมปลูกโรงเรือนในที่ดินของตนเองแล้วแบ่งแยกที่ดินโอนให้บุคคลอื่น แล้วปรากฏในภายหลังว่า โรงเรือนรุกล้ำที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ไม่เข้ามาตรา ๑๓๑๒ โดยตรง ต้องอาศัยมาตรา ๔ เทียบกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งนำมาตรา ๑๓๑๒ มาใช้บังคับ ๔. การสร้างแล้วรุกล้ำ ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อย ถ้าทั้งหลังอยู่ในที่ดินของคนอื่น หรือส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของคนอื่น ไม่ใช่รุกล้ำ ๕. ก่อสร้างบ้านในย่านที่เจริญแล้วโดยไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ตรงกับโฉนดที่ดินของตนเสียก่อน เมื่อมีการรุกล้ำถือว่าไม่สุจริต ๖. การก่อสร้างแล้วรุกล้ำพิจารณาในการก่อสร้างครั้งแรก ถ้าต่อเติมรุกล้ำไม่เข้ามาตรา ๑๓๑๒ ต้องรื้อถอนออกไป จะใช้มาตรา ๔ ก็ไม่ได้ ๗. ภาระจำยอมในส่วนที่รุกล้ำเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย และเกิดภาระจำยอมทันทีที่สร้างรุกล้ำไม่ต้องรอให้ถึง ๑๐ ปี ๑๕) การรวมสัมภาระ ๑. การนำสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นมาสร้างเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดู มาตรา ๑๓๑๕ ๒. กรณีนำสังหาริมทรัพย์มาสร้าง คิด มาตรา ๑๓๑๗ ก่อน แล้วจึงพิจารณา มาตรา ๑๓๑๖ แล้ว ประกอบมาตรา ๑๔๔ โดย ๒.๑) ค่าแรงมากกว่าค่าสัมภาระ ผู้ทำทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของ แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ (มาตรา ๑๓๑๗ วรรคสอง) ๒.๒) ค่าสัมภาระมากกว่าค่าแรง เจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่ต้องใช้ค่าแรงงาน (มาตรา ๑๓๑๗ วรรคหนึ่ง) ถ้าเจ้าของสัมภาระมีหลายคน ต้องดูต่อว่า ใครเป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำมารวมกัน (ดู มาตรา ๑๓๑๖) ถ้า (๑) ทรัพย์นั้นมีทรัพย์ประธาน (ดู มาตรา ๑๔๔ หลัก 1.U.P) เจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของ แต่ต้องใช้ค่าทรัพย์ให้ผู้อื่นนั้น (มาตรา (๑๓๑๖ วรรคสอง) จบเพียงเท่านี้ (๒) ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีทรัพย์ประธาน เจ้าของสัมภาระทั้งหมด เป็นเจ้าของร่วมกัน (มาตรา ๑๓๑๖ วรรคแรก) ๑๖) สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต จากการขายทอดตลาด (มาตรา ๑๓๓๐) มีสาระสำคัญดังนี้ ๑. ผู้ซื้อทรัพย์ที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องปรากฏว่าได้มีการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย หากขายทอดตลาดไม่ชอบ แล้วศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ๒. แต่ถ้ายังอยู่ระหว่างดำเนินการให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ จึงมีสิทธิฟ้องผู้ที่อยู่ในที่ดิน ๓. กรณีทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ซื้อไม่ได้รับความคุ้มครอง แม้จะซื้อโดยสุจริตก็ตาม ๔. ผู้ซื้อทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครอง ได้ทรัพย์นั้นเสมือนหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าทรัพย์นั้นมีภาระ เช่น จำนอง ผู้ซื้อก็ต้องรับภาระมาด้วย ๕. กรณีต่างฝ่ายต่างซื้อที่ดินแปลงเดียวกันจากการขายทอดตลาดของศาล คนแรกซื้อที่ดิน น.ส. ๓ คนที่สองซื้อที่ดิน น.ส. ๔ ซึ่งออกมาจาก น.ส.๓ คนซื้อ น.ส. ๔ ได้สิทธิดีกว่า เพราะถือว่า น.ส. ๔. เมื่อออกมาแล้วมีผลเป็นการยกเลิก น.ส. ๓ ๖. การขายทอดตลาดตาม มาตรา ๑๓๓๐ เป็นการขายตามคำสั่งของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ในคดีล้มละลาย ถ้าเป็นการขายทอดตลาดแม้เป็นโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ เช่น ศุลกากร หรือ สรรพากร ฯลฯ ไม่เข้ามาตรา ๑๓๓๐ แต่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๓๓๒ ๑๗) ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในท้องตลาด (ม. ๑๓๓๒) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. ผู้ซื้อที่ได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งผู้เช่าซื้อที่ชำระราคาครบ แล้วด้วย ๒. ถ้าผู้นั้นนำทรัพย์มาขายในท้องตลาด แล้วมีพ่อค้ารับซื้อ ปกติไม่ถือว่าเป็นการซื้อจากท้องตลาด เว้นแต่ ตลาดนั้นเป็นตลาดทั้งตลาดผู้ซื้อและตลาดผู้ขาย เช่น สี่แยกคอกวัว (เป็นท้องตลาดทั้งการซื้อ และการขายหวยที่ถูกรางวัล) เป็นต้น ๓. การซื้อจากพ่อค้า รวมถึงซื้อจากแม่ค้าด้วย ๔. ผู้ซื้อตามมาตรา ๑๓๓๒ มีสิทธิดีกว่าผู้ขาย เพราะถ้าทรัพย์ อยู่ในมือผู้ขาย เจ้าของเรียกคืนได้โดยไม่ต้องเสนอใช้ราคา แต่เมื่อมาอยู่ในมือผู้ซื้อ เจ้าของมาทวงคืนต้องเสนอใช้ราคาที่ผู้ซื้อซื้อมา (เป็น ไปตามข้อยกเว้นของหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ซึ่งข้อยกเว้น ได้แก่ “ผู้รับโอนอาจมีสิทธิดีกว่าผู้โอนได้” โดยผู้รับโอนอาจได้กรรมสิทธิ์ เช่น กรณีมาตรา ๑๓๓๐ หรือมีสิทธิดีกว่าผู้โอน เช่น กรณีมาตรา ๑๓๓๒ ดังนั้น การที่ผู้รับโอนมีสิทธิดีกว่าผู้โอน ไม่ได้หมายความเสมอไปว่าแม้ผู้โอนไม่มีกรรมสิทธิ์ ผู้รับโอนก็ได้กรรมสิทธิ์) ๑๘) แดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ (ม. ๑๓๓๕ - ม. ๑๓๓๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ระบุว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องแดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ กล่าวคือ บุคคลผู้เป็นของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิ์ ดังนี้ (๑) ใช้สอยทรัพย์สินของตน (๒) จำหน่ายทรัพย์สินของตนเอง (๓) ได้ซึ่งดอกผลของทรัพย์สิน (๔) ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ (๕) ขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิได้รับอนุญาต (๖) เป็นการฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ ไม่อายุความ (๗) กรณีตาม ม. ๑๓๓๗ เกี่ยวกับการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ สามารถฟ้องได้ เช่น ไม่อาจใช้เป็นทางเข้าออกได้เลย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นความเสียหายธรรมดา จะฟ้องไม่ได้ ๑๙) ทางจำเป็น (ม.๑๓๔๙ - ม. ๑๓๕๕) มีสาระสำคัญดังนี้ ๑. ที่ดินติดคลองสาธารณะจะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้ เพราะถือว่ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่คลองนั้นต้องใช้สัญจรไปมาได้ด้วย ถ้าคลองนั้นตื้นเขินจนไม่สามารถเดินเรือ หรือใช้สัญจรไปมาได้หรือใช้ได้เป็นบางครั้งบางคราวหรือไม่มีน้ำที่จะใช้สัญจรได้ตลอดปี ก็ยังไม่พอถือว่าเป็นทางสาธารณะ และถือ ว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ๒. ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับทางสาธารณะโดยตรง คือ ขอผ่านที่ดินหลาย ๆ แปลงเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้ แปลง ใน ๆ จะอ้างว่าไม่ได้เชื่อมกับทางสาธารณะโดยตรงไม่ได้ ๓. เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นและมีสิทธิ ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น ๔. การใช้ทางจำเป็นไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เดินอย่างเดียว มีสิทธิใช้รถยนต์ผ่านทางได้ ๕. แต่ถ้าก่อนซื้อที่ดินมาเจ้าของที่ดินรู้อยู่แล้วว่าทางจำเป็นใช้ เฉพาะแต่การเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะขอใช้รถยนต์ ผ่านทางจำเป็นไม่ได้ ๖. ทางจำเป็นคงมีอยู่ตราบเท่าที่ยังจำเป็น ถ้าต่อมาผู้ที่เป็น เจ้าของที่ดินแปลงตาบอด ซื้อที่ดินรอบด้าน ทำให้มีทางออกสู่สาธารณะได้ ทางจำเป็นก็ปิดทางได้ เพราะหมดความจำเป็น ๗. มาตรา ๑๓๔๙ ไม่ได้บัญญัติว่า ต้องใช้ค่าทดแทนก่อนเปิดทางจำเป็น เจ้าของที่ดินตาบอดจึงมีสิทธิฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้โดยไม่ต้องเสนอค่าทดแทนก็ได้ ฝ่ายที่ถูกฟ้องต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทน หรือฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างจากมาตรา ๑๓๕๒ ถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ สายไฟฟ้าซึ่งทำให้ผู้ที่จะวางท่อต้องเสนอค่าทดแทนมาในฟ้องให้แก่เจ้าของที่ดินด้วย ไม่อย่างนั้นศาลไม่ยอม ๘. ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่โดยผลของกฎหมาย เพราะเป็นข้อจำกัดกรรมสิทธิ์ จึงไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสิทธิ ก็ตกติดไปกับ ที่ดินเมื่อมีการโอนได้ ๙. ทางจำเป็นกรณีมีการแบ่งแยก มาตรา ๑๓๕๐ ต้องเป็นการแบ่งแล้วทําให้ ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ไม่ใช่ทางสาธารณะเกิดขึ้นในภายหลัง (กรณีนี้ขอมาตรา ๑๓๕๐ ไม่ได้ ต้องขอตามมาตรา ๑๓๔๙) ๑๐. การแบ่งแยกต้องเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ถ้าแบ่งแล้วมีทางออก ต่อมาทางปิด ไม่เข้ามาตรา ๑๓๕๐ ๒๐) กรรมสิทธิ์รวม (ม. ๑๓๕๖ - ม. ๑๓๖๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. ชายหญิงอยู่กินร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สิน ที่ทำมาหาได้แม้จะไม่ใช่สินสมรส ก็ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่าง สามีภริยา ๒. เจ้าของรวมที่แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมมีสิทธิในที่ดินส่วนที่ตนครอบครอง (ถือว่ามีการแบ่งแล้วโดยปริยาย) ๓. เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๓๕๙ เจ้าของรวมคนหนึ่งจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้บุกรุกได้ โดยไม่ต้อง ให้เจ้าของรวมคนอื่นมอบอำนาจให้ ๔. การจำหน่ายส่วนของทรัพย์ในกรรมสิทธิ์รวม ไม่ต้องอาศัย ความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่น แต่ถือว่าการจำหน่ายนี้เป็นการ ขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนด้วย ๕. แต่การจำหน่ายตัวทรัพย์ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ถ้าไม่ได้รับความยินยอม สัญญานั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ถือว่าเป็นการขายส่วนของเจ้าของผู้ตกลงขายนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันเจ้าของ รวมคนอื่น ๒๑) สิทธิครอบครอง (ม. ๑๓๖๗ - ม. ๑๓๘๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. การกระทำที่จะถือว่าเป็นการยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนอันจะได้สิทธิครอบครองนั้น จะต้องพิจารณาว่าผู้นั้นได้เข้าเกี่ยวข้องโดยการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นพอสมควรตามสภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น จึงจะได้สิทธิครอบครอง ๒. การครอบครองที่ดินในระหว่างเป็นความกัน ถือว่าเป็นการ ครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้ครอบครอง (ผู้แพ้คดี) จะเปลี่ยนลักษณะการยึดถือต้องใช้มาตรา ๑๓๔๑ จึงจะได้ เป็นการครอบครองเพื่อตน นอกจากนั้น การครอบครองหลังเป็นความก็เป็นการครอบครองแทนผู้ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ เรียกคืนได้เสมอ แม้เกิน ๑ ปี ๓. การแย่งการครอบครองโดยตรง ต้องมีการเข้าไปยึดถือและ ครอบครองตัวทรัพย์โดยตรง เช่น เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดิน เป็นต้น ๔. ลำพังเพียงการขอไปออก น.ส.๓ หรือเสียภาษีอากร ยังไม่ใช่การแย่งการครอบครอง แต่ถ้ามีการเข้าไปครอบครองตัวทรัพย์ที่ดินด้วย ถือว่าเป็นการแย่ง ๕. การที่บุคคลไปคัดค้านการรังวัดที่ดิน และห้ามไม่ให้ทำอะไร ในที่ดิน หรือไปคัดค้านการออก น.ส.๓ โดยไม่ได้อยู่ในที่ดินนั้น เพียงเท่านี้ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง ๖. ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น ไม่ถือว่าแย่งการครอบครอง เจ้าของจึงมีอำนาจฟ้องเรียกคืนได้ตลอดเวลา จะถือว่าแย่งต่อเมื่อใช้มาตรา ๑๓๘๑ เสียก่อน ๗. เมื่อมีการแย่งการครอบครองที่ดิน น.ส.๓ เกิน ๑ ปี และที่ดินนั้นมีโรงเรือนอยู่ด้วย เมื่อเจ้าของไม่สามารถเรียกคืนได้ โรงเรือนนั้นย่อมตกเป็นส่วนควบ เป็นสิทธิแก่ผู้ที่แย่งการครอบครองนั้นด้วย (กรณีนี้ดูการได้ทรัพย์ประธานเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่อสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงเรือนควรจะครอบครองปรปักษ์ ๑๐ ปี ก็ตาม) ๘. ระยะเวลา ๑ ปีนับแต่ถูกแย่ง ถือวันแย่งตามความเป็นจริง ไม่ใช่ถือเอาวันที่เจ้าของรู้ว่าถูกแย่ง ๙. ระยะเวลา ๑ ปี ไม่ใช่อายุความ แต่ถือเป็นกำหนดเวลา ในการฟ้องคดี จึงเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง แม้คู่ความไม่ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็หยิบยกขึ้นมาได้เอง ต่างจากอายุความที่เมื่อคู่ความไม่ยกขึ้นต่อสู้ศาลจะยกขึ้นต่อสู้เองไม่ได้ ๑๐. ผู้ครอบครองเกรงกลัวอิทธิพล จึงต้องออกจากที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย มิใช่สละการครอบครอง ๑๑. สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่าที่ตกเป็นโมฆะเพราะไม่จดทะเบียน และสมบูรณ์โดยการส่งมอบนั้น ผู้ซื้อจะฟ้องให้ผู้ขายโอนทางทะเบียนไม่ได้ เพราะผู้ขายไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่ต้องกระทําเช่นนั้น (สัญญาตกเป็นโมฆะไปแล้ว) ๑๒. บ้านที่ปลูกในที่สาธารณะเจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงอาจโอนการครอบครองให้แก่กันได้ ๑๓. กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมือเปล่า(แสดงว่าเจตนา จดทะเบียนที่ดิน) ปกติถือว่า การที่ผู้จะขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้จะซื้อ แล้วผู้จะซื้อครอบครองแทนผู้จะขายจนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนกัน หาได้มอบการครอบครองโดยสิทธิขาดไม่ ๑๔. แต่ถ้าผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อเข้าทำประโยชน์แสดงตน เป็นเจ้าของประกอบกับทั้งสองฝ่ายต่างละเลยไม่ดำเนินการทางทะเบียน จนเวลาล่วงเลยนานไป ถือว่าผู้จะขายได้สละการครอบครองให้ผู้จะซื้อ โดยสิทธิขาดแล้ว จะเรียกคืนในภายหลังไม่ได้ ๑๕. การขายฝากนั้น ไม่ถือว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครอง โดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แม้จะทำสัญญาขายฝากที่ดินมือเปล่า กันเองตกเป็นโมฆะ และผู้ซื้อฝากจะได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ใน ที่ดินที่ขายฝากแล้วก็ตาม ก็เป็นการครอบครองเพื่อรอให้ผู้ขายมา ไถ่คืน จึงเป็นการครอบครองแทนผู้ขายฝากเท่านั้น ดังนั้น ผู้ซื้อฝากจะครอบครองนานเท่าใด หรือผู้ขายฝากไม่นำเงินไปไถ่คืนในกำหนดผู้ซื้อก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ถ้าผู้ซื้อฝากประสงค์จะได้สิทธิครองครอง ต้องใช้มาตรา ๑๓๘๑ ๑๖.แต่หากสัญญาขายฝากที่ตกเป็นโมฆะนั้น มีข้อตกลงแสดงให้เห็นว่าผู้ขายสละสิทธิครอบครองไว้ล่วงหน้า (เช่น ข้อตกลงว่า ถ้าผู้ขายฝากไม่ไถ่คืนในกำหนดให้ตกเป็นสิทธิของผู้ซื้อฝาก) เช่นนี้ ถ้า ผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนในกำหนด ถือว่าผู้ขายฝากสละสิทธิครอบครองใน วันที่ครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ซื้อฝากย่อมได้สิทธิครอบครองเมื่อพ้น กำหนดไถ่ถอน ๑๗. การเปลี่ยนการยึดถือ ตามมาตรา ๑๓๘๑ มีความเกี่ยว ข้องกับการแย่งการครองครองตามมาตรา ๑๓๗๕ หรือ ครอบครอง ปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ คือ ตราบใดที่ยังเป็นการครอบครอง แทน ก็ไม่ถือว่ามีการแย่งการครอบครอง และจะอ้างนับระยะเวลา ๑ ปี หรือ ๑๐ ปี ไม่ได้ จะนับได้ต่อเมื่อผู้ครอบครองดังกล่าว ได้บอก กล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้ที่ตนยึดถือไว้แทนแล้ว เท่านั้น ๑๘. ผู้ที่รับโอนที่ดินซึ่งผู้โอนครอบครองแทนผู้อื่น ก็ถือว่า ผู้รับโอนครอบครองแทนผู้อื่นเช่นกัน ๑๙. การบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครอง ต้องเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้ที่ตนครอบครองแทนหรือตัวแทน ๒๐. การบอกกล่าวโดยความโมโห ไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าว เปลี่ยนการยึดถือ เช่น ทะเลาะกับผู้ที่ตนครอบครองแทน บอกว่าจะแย่งแล้ว ไม่ได้จริงจังอะไร (ไม่ได้มีเจตนาบอกกล่าวที่แท้จริงนั้นเอง) ๒๑. การที่ผู้ครอบครองแทนไปแจ้งขอออก น.ส.๓ เป็นชื่อของตนเอง ยังไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือ เพราะไม่ได้บอกต่อผู้ที่ตนยึดถือไว้แทน แต่หากมีการออกมารังวัด แล้วเจ้าของตัวจริงมาคัดค้าน ถือว่าผู้ครอบครองแทนได้บอกกล่าวเปลี่ยนการยึด ถือแล้ว ๒๒. ในทางกลับกัน หากเจ้าของไปขอออกโฉนดหรือ น.ส.๓ แต่ผู้ครอบครองแทนไปคัดค้าน ถือว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนการ ยึดถือแล้ว ๒๒) ภาระจำยอม (ม.๑๓๘๗-ม.๑๔๐๑) มีสาระสำคัญ ดังนี้ ๑. ผู้ที่จะฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมต้องเป็นเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เพราะภาระจำยอมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์ ๒. การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดิน ของบุคคลอื่นเท่านั้น ผู้ที่จะอ้างการได้มาซึ่งทางภาระจํายอมโดยอายุความจึงต้องเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของบ้านแต่มิได้เป็น เจ้าของที่ดิน ไม่อาจอ้างการได้สิทธิโดยอายุความได้ : ๓. ผู้เช่าหรือผู้อาศัย ซึ่งใช้เดินผ่านที่ดินของผู้อื่น แม้จะไม่มี สิทธิได้ภาระจํายอม แต่หากต่อมาบุคคลดังกล่าวได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในภายหลังก็มีสิทธิในภาระจํายอมได้ และมีสิทธินับระยะเวลาตอนใช้ภารยทรัพย์ในขณะเป็นผู้เช่าผู้อาศัยรวมเข้ากับ ระยะเวลาภายหลังได้กรรมสิทธิ์ด้วย ๔. กรณีกรรมสิทธิ์รวม เมื่อได้มีการแบ่งแยกครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมนับอายุในการทางเดินเพื่อภาระจำยอมได้ แต่ถ้ายังไม่ได้แยกครอบครอง ก็ยังไม่เริ่มนับ ๕. อายุความภาระจำยอม ไม่ว่าที่ดินจะเป็น น.ส.๔ หรือ น.ส.๓ ก็ต้องใช้เวลาเดิน ๑๐ ปี เพราะ มาตรา ๑๔๐๑ ให้นำอายุความ ได้สิทธิในลักษณะ ๓ มาใช้ ซึ่งก็ได้แก่ มาตรา ๑๓๘๒ ครอบครองปรปักษ์ ๑๐ ปี ๖. การใช้ภาระจำยอมโดยถือวิสาสะหรือได้ขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้ว เท่ากับยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ไม่ ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ๗. การได้ภาระจำยอมโดยอายุความไม่ต้องใช้ค่าทดแทนหรือ ค่าเสียหายแก่ภารยทรัพย์ ๘. เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิกระทำการทุกอย่างอันจำเป็น เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม การจดทะเบียนภาระจำยอมก็เป็นการ กระทำเพื่อรักษาสิทธิ เจ้าของสามยทรัพย์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จด ทะเบียนภาระจำยอมได้ ๙. ภาระจำยอมที่เกิดขึ้นโดยสัญญา เมื่อมีการจำหน่าย สามยทรัพย์ ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ เว้นแต่ข้อสัญญา กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ฎ. ๓๗๗/๒๕๓๖) แม้จะยังไม่จดทะเบียน ก็ตาม (ไม่น่าจะถูกต้อง เท่ากับรับว่าเป็นทรัพยสิทธิ) ตัวอย่างบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าของไทยทรงเป็นฉัตรปกป้องคุมครองพระพุทธศาสนา น้ำพระทัยและพระราชดำรัส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช(รัชสมัยกรุงศรีอยุธยา) “......เพราะในราชวงศ์ของเรา ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนา อย่างนี้ เป็นการยากอยู่....” ......ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อ ๆ กันมาถึง ๒๒๒๙ ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะให้ เปลี่ยนศาสนาเสียนั้น เป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้...... น้ำพระทัยและพระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (รัชสมัยกรุงธนบุรี) อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กันฯ ...................................... “การเตรียมตัวในวันนี้.....บอกถึงชัยชนะในวันพรุ่ง” “ความสำเร็จใด ๆ ในโลกนี้ มีบ้างไหมที่ไม่ใช้ความพยายาม... .......ความสำเร็จที่งดงาม เกิดจากความพยายามนี่เอง” แนวคำถาม – ตอบ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน ๑.ถาม สิ่งที่จะเป็น “ทรัพย์” ในทางกฎหมายนั้น ลำพังเพียงการมีรูปร่างเฉยๆ จะถือว่าเป็นทรัพย์ หรือต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์อื่น เช่น อาจมีราคาและอาจถือเอา ได้หรือไม่ ? ตอบ สิ่งที่จะเป็นทรัพย์นั้นนักกฎหมายบางท่านเห็นว่า นอกเหนือจากการมีรูปร่างแล้ว ยังต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่ว่า “อาจมีราคาและอาจถือเอาได้” อีกด้วย โดยเป็นการพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๗ ประกอบมาตรา ๑๓๘ แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ แม้แต่ในมาตรา ๑๔๓ เอง ซึ่งบัญญัติถึงทรัพย์นอกพาณิชย์ ยังได้ให้ ความหมายว่า “ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถ ถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งเท่ากับ ยอมรับอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ไม่สามารถถือเอาได้ยังเป็น “ทรัพย์” และ เป็น “ทรัพย์นอกพาณิชย์” เช่น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นต้น ๒.ถาม “ทรัพย์” เป็นส่วนหนึ่งของ “ทรัพย์สิน” ใช่หรือไม่ ? ตอบ หากถือว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอาจมีราคาหรืออาจถือเอาได้แล้ว ทุกสิ่งที่เป็นทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเสมอไป เช่น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์นั้นจัดว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ แต่ก็ยังคง เป็น “ทรัพย์” แต่เมื่อไม่อาจถือเอาได้ก็ย่อมไม่เป็น “ทรัพย์สิน” ๓.ถาม กระแสไฟฟ้า เป็น “ทรัพย์” หรือไม่ ? ตอบ โดยสภาพนั้น กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ไม่มีรูปร่าง เพราะไม่อาจจับต้องได้ จึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๗ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางอาญา ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ โดยมติที่ประชุมใหญ่ ในประเด็นที่ว่า ลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ไว้ว่า การที่จำเลย เอาสายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมต่อเข้ากับสายไฟฟ้าใหญ่ (สายเมน) การลัก กระแสไฟฟ้าย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ หรือ ๓๓๕ แล้วแต่กรณี มีข้อสังเกตว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกกฎหมายกำหนดให้ การลักพลังงานเป็นความผิดอาญาเฉพาะแล้ว ศาลฎีกาคงยึดถือต่อ ไปว่า การลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ๔.ถาม สัญญาณโทรศัพท์ เป็น “ทรัพย์” หรือไม่ ? ตอบ สัญญาณโทรศัพท์ โดยสภาพก็เป็นพลังงาน เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้า จึงไม่ถือว่าเป็น “ทรัพย์” ตามมาตรา ๑๓๗ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางอาญา ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยว กับการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ในประเด็นว่าเป็นความผิดอาญา ฐานลักทรัพย์หรือไม่ ไว้เป็นแนวดังนี้ (๑) กรณีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่เป็น ความผิดฐานลักทรัพย์ คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙ จำเลยนำโทรศัพท์มือถือ มาปรับจูนและก็อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้ รับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเพียงการแย่งใช้คลื่น สัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยให้การ รับสารภาพ ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๗๗/๒๕๔๓ การกระทำของจำเลยตาม ฟ้องที่ระบุว่าจำเลยร่วมกับพวกลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นทรัพย์ ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกน้ำ เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของ โทรศัพท์ผู้อื่นมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานี และชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ของผู้เสียหายนั้นเป็นเพียงการรับ ส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณ โทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินของ ผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) วรรคสอง แต่จำเลยคงมีความ ผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคมฯ (๒) กรณีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ สาธารณะ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒ (ประชุมใหญ่) จำเลย ให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วว่า จำเลยเอาสัญญาณโทรศัพท์จาก ตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้จริง คำว่า “โทรศัพท์” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๕๐ อธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้า นั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแส ไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่งสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแส ไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่ หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์สาธารณะ ที่อยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้ เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่น เดียวกับการลักกระแสไฟฟ้าตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุม ใหญ่ที่ ๔๗๗/๒๕๐๑ ๕.ถาม สรุปแล้วเกี่ยวกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องการลักพลังงานนั้นศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐานไว้อย่างไร ตอบ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องการลักพลังงานนั้น ศาลฎีกาวาง แนวบรรทัดฐานไว้แยกได้เป็น ๒ กรณี คือ กรณีแรก มีความผิดฐานลักทรัพย์ คือ การลักกระแสไฟฟ้า (คำพิพากษาฎีกา ๔๗๗/๒๕๐๑ ประชุมใหญ่) และการลักสัญญาณ โทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ (คำพิพากษาฎีกา ๑๘๘๐/๒๕๔๐ ประชุมใหญ่) กรณีที่สอง ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ คือ การลักลอบใช้ สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (คำพิพากษาฎีกา ๕๓๕๔/๒๕๓๙ และ คำพิพากษาฎีกา ๔๑๗๗/๒๕๔๓) ๖.ถาม นายหนึ่งถือหุ้นในบริษัท พีซี จำกัด นายหนึ่งได้ขายหุ้นทั้งหมดให้นายสอง โดยได้รับเงินครบถ้วนแล้ว และได้ส่งมอบใบหุ้นให้นายสอง แต่ไม่ได้โอนให้ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายสองยึดใบหุ้น ไว้เป็นเวลากว่า ๕ ปี ต่อมานายหนึ่งถูกนายสามเจ้าหนี้เงินกู้ฟ้องคดี เรียกเงินกู้ แล้วศาลพิพากษาถึงที่สุดให้นายหนึ่งชำระหนี้เงินกู้พร้อม ดอกเบี้ยให้นายสาม แต่นายหนึ่งไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ นาย สามได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายหนึ่งแล้วพบว่า มีหุ้นจำนวนหนึ่ง ที่นายหนึ่งได้ขายให้นายสอง แต่ไม่ได้โอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึง เห็นว่ายังคงเป็นของนายหนึ่งอยู่เช่นนี้นายสามจะนำยึดหุ้นที่นายหนึ่งขายให้นายสองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ ? ตอบ ทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะนำยึดเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้นั้น ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา) (ดูมาตรา ๒๑๔) แม้หุ้นในกรณีนี้ นายหนึ่งจะโอนให้นายสองไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ตาม แต่หุ้นเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๓๘ โดยเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อนายสองได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็น เจ้าของติดต่อกันเกินกว่า ๕ปีนายสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้นตาม หลักการครอบครองปรปักษ์ (ดูมาตรา ๑๓๔๒) ดังนั้น เมื่อหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสองเสียแล้ว นายสาม เจ้าหนี้นายหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจนำยึดหุ้นดังกล่าว ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๔/๒๕๔๗ หุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทจำกัด เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๓๔ การโอนหุ้นของ บริษัทไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้รับโอนได้ปกครองมาเกิน ๕ ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์ใบหุ้นตามมาตรา ๑๓๔๒ ๗.ถาม นายจันทร์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนายอังคารเป็นเวลา ๓๐ ปี โดยได้มีการจดทะเบียนสัญญาเช่าดังกล่าวตามมาตรา ๕๓๔ ถูกต้อง โดยตกลงค่าเช่ากันไว้ปีละ ๑๐ ล้าน ต้องจ่ายทันที่ที่ลงนามในสัญญา เช่า ซึ่งนายจันทร์ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งหมดให้นายอังคารแล้ว ต่อมา เมื่อนายจันทร์ได้เข้าอยู่ในที่ดินเป็นเวลา ๑๐ ปี นายจันทร์มีความ "จำเป็นทางการเงิน ต้องการเงินมาใช้ในการประกอบกิจการ จึงมีความประสงค์จะขายสิทธิการเช่าดังกล่าวนายจันทร์จะสามารถขายสิทธิการ เช่าดังกล่าวได้หรือไม่ หากได้ต้องดําเนินการอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย ตอบ สิทธิเป็นทรัพย์สินแต่สิทธิการเช่าต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและสัญญาซึ่งนายจันทร์ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าได้ก็ต่อเมื่อนายอังคาร ผู้เช่ายินยอม โดยหากนายอังคารยินยอม นายอังคารก็ย่อมสามารถ โอนสิทธิการเช่าให้ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเช่าต่อไปได้ ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๒๒/๒๕๓๖ สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน แม้สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะห้ามมิให้ผู้เช่าโอนสิทธิการ เช่าไปยังบุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก็ไม่ใช่ ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมายเพราะหากผู้ให้เช่ายินยอมก็โอน กันได้ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติว่า เป็นทรัพย์สินที่ไม่ อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิการเช่าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ๘.ถาม “สิทธิเรียกร้อง” หรือ “บุคคลสิทธิ” หรือ “หนี้” เป็น “ทรัพย์สิน” หรือไม่ ? ตอบ สิทธิเรียกร้อง (หรือบุคคลสิทธิ หรือหนี้) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง แต่สิทธิทั้งหลายเป็นสิ่งที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ สิทธิเรียกร้องย่อมเป็นทรัพย์สิน (ดูมาตรา ๑๓๔) ๙. ถาม เมื่อ “สิทธิเรียกร้อง” เป็นทรัพย์สิน สิทธิในการเช่าซื้อ และสิทธิในสัญญาต่าง ๆ จะสามารถเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่ ? ตอบ การที่เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือลูกหนี้ ที่เรียกว่า “สิทธิเรียกร้อง” นั้น เป็นสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ สิทธิที่นี้ย่อมมีราคา เพราะนำมาซึ่งทรัพย์สิน โดยในทางบัญชีนั้นถือว่าลูกหนี้เป็นสิน ทรัพย์ของกิจการอย่างหนึ่งที่เมื่อลงบัญชีจะลงไว้ทางด้านเดบิต และ เมื่อกิจการประสงค์จะมีรายได้จากลูกหนี้ก่อนที่หนี้ของลูกหนี้นั้นจะ ครบกำหนด ก็ย่อมสามารถขายลูกหนี้นั้นให้ผู้ที่ประสงค์จะรับซื้อได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การซื้อขายหนี้” แม้ว่าในทางปฏิบัติจะเรียกว่าการซื้อขายหนี้ แต่สถานะที่แท้ จริงของการซื้อขายหนี้ในทางกฎหมายนั้น คือ การโอนสิทธิเรียกร้อง โดยมีค่าตอบแทน ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา ๓๐๖ คือ ระหว่างเจ้าหนี้ (ผู้ขายหนี้) และผู้รับโอน (ผู้ซื้อหนี้) ต้องทำสัญญา โอนเป็นหนังสือ และส่งคำบอกกล่าวให้แก่ลูกหนี้ การโอนจึงจะมีผล สมบูรณ์ตามกฎหมาย การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น คือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมโอน สิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง โดยมีผลให้ บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้คนเดิม และมี สิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม ๑๐.ถาม นายดำได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจากนายขาว โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วครบถ้วน จำนวน ๕ ล้านบาท รอเพียงให้นายขาวโอนที่ดินทาง ทะเบียนให้ ต่อมานายดำได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินให้แก่นายฟ้า ซึ่งนายฟ้าได้จ่ายเงินจำนวน ๖ ล้านบาทให้นายดำ โดยการโอนสิทธิ เรียกร้องนี้ไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือ หลังจากนั้นนายฟ้าได้ติดต่อให้นายขาวไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนโดยกล่าวอ้างว่าได้รับโอนสิทธิ มาจากนายดำ นายขาวไม่ไปยอมจดทะเบียนให้ เช่นนี้ นายฟ้าจะฟ้อง ให้นายขาวไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตามสัญญาเช่าซื้อได้หรือไม่ ตอบ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายดำและนายฟ้านั้น ตามมาตรา ๓๐๖ กำหนดแบบให้ต้องทำเป็นหนังสือ และบอกกล่าวการโอนให้แก่นาย ขาวลูกหนี้ เมื่อการโอนสิทธิการเช่าซื้อนี้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ การโอน ย่อมตกเป็นโมฆะ นายฟ้าจะกล่าวอ้างสิทธิซึ่งได้มาตามสัญญาที่ตก เป็นโมฆะไปแล้วนั้น เรียกร้องให้นายขาวไปจดทะเบียนให้ไม่ได้ ๑๑.ถาม นายมกราทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากการเคหะแห่งชาติ โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำนวน ๑ ล้านบาท รอเพียงการไป จดทะเบียนโอน แต่ก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนกับการเคหะแห่งชาติ นั้น นายมกราได้ขายสิทธิในที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้นายกุมภาใน ราคา ๒ ล้านบาท ไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือ โดยนายกุมภาได้ชำระ เงินให้นายมกราจำนวน ๕ แสนบาท โดยตกลงกันว่านายมกราจะไป ดำเนินการทำการโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่นายกุมภา แต่ต่อมา นาย มกราไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง เช่นนี้ นายกุมภาจะสามารถฟ้อง บังคับให้นายมกราไปดำเนินการทําการโอนสิทธิการเช่าซื้อให้ได้หรือไม่ ตอบ กรณีตามโจทย์ไม่ใช่กรณีที่นายกุมภาผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อจะฟ้องการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อบังคับตามสิทธิที่ได้รับมา หากแต่ เป็นการเรียกร้องต่อนายมกราผู้เป็นคู่สัญญา เช่นนี้ต้องปรับตามหลัก กฎหมายเรื่องการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสาม ประกอบวรรคสอง ไม่ปรับด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๐๖ ดังนั้น แม้การโอนสิทธิเรียกร้องนี้จะไม่มีการทำเป็นหนังสือ ก็ไม่นำมาพิจารณา โดยเมื่อพิจารณาตามหลักการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ (สิทธิ การเช่าซื้อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ย่อมเป็นสังหาริมทรัพย์ ดูมาตรา ๑๔๐) ข้อตกลงระหว่างนายมกรากับนายกุมภา แม้จะไม่ทำเป็นหนังสือ แต่นายกุมภาได้ชำระหนี้เนื่องจากการซื้อขายแก่นายมกราบ้างแล้ว ย่อมมีผลผูกพันระหว่างนายมกรากับนายกุมภา ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม นายกุมภาย่อมฟ้องบังคับให้นายมกราไป ทำการโอนสิทธิดังกล่าวได้ ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๖๖/๒๕๓๙ (ประชุมใหญ่) สิทธิการเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารของจำเลยที่มีอยู่ต่อการเคหะแห่งชาติ เป็น ทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ ข้อตกลงซื้อขายสิทธิดัง กล่าวแม้ไม่เป็นหนังสือ แต่โจทก์ชำระหนี้เนื่องในการซื้อขายแก่จำเลย บ้างแล้ว มีผลผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ผู้ซื้อ ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยไปทำการโอนสิทธิดังกล่าวแก่ โจทก์ได้ ๑๒.ถาม จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไรว่า กรณีที่มีการโอนสิทธิแล้วมีการฟ้องร้อง กรณีใดต้องปรับใช้หลักกฎหมายเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องกรณีใดต้องปรับใช้หลักกฎหมายเรื่องซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ตอบ หลักที่ช่วยพิจารณา คือ ต้องพิจารณาว่า พิพาทอยู่กับใคร หรือจะฟ้อง ใคร โดย กรณีแรก หากผู้รับโอนสิทธิฟ้องลูกหนี้ ผู้รับโอนต้องปฏิบัติ ให้ครบถ้วนตามมาตรา ๓๐๖ จึงจะมีสิทธิ กรณีที่สอง ผู้รับโอนฟ้องผู้โอนให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในการ โอน เช่นนี้จะพิจารณาตามหลักกฎหมายซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม โดยการโอนต้องมีหลักฐาน เป็นหนังสือ หรือวางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน จึงจะสามารถฟ้อง ร้องบังคับคดีได้ ๑๓.ถาม ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นทรัพย์สินหรือไม่ ตอบ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เรียกกันว่า “intellectual property” เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ได้มีการกำหนดขึ้นอันเกี่ยวด้วยกับผลผลิตจาก ปัญญาของมนุษย์ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น เมื่อพิจารณาถึงสภาพของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีกฎหมาย คุ้มครองเจ้าของผู้คิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นขึ้น เช่น ผู้ประพันธ์หรือ แต่งหนังสือย่อมมีลิขสิทธิ์ในหนังสือนั้น ผู้อื่นจะนำไปตีพิมพ์โดยไม่ได้ รับอนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และในการอนุญาตนั้น ผู้แต่ง หนังสือย่อมมีสิทธิได้รับค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีราคาและอาจถือเอานั้น สอดคล้องกับความ หมายของทรัพย์สินตามมาตรา ๑๓๔ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็น ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ประเภทของทรัพย์สิน ๑๔.ถาม อสังหาริมทรัพย์ คืออะไร ? ตอบ อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมาย ความถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือ ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย (มาตรา ๑๓๙) จากความหมายของอสังหาริมทรัพย์ข้างต้น อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ (๑) ที่ดิน คือ พื้นดินทั่ว ๆ ไป แต่หากดินนั้นถูกขุดขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หากแต่เป็นสังหาริมทรัพย์ (๒) ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร เช่น ไม้ยืนต้น บ้านเรือน กำแพง เป็นต้น ซึ่งลักษณะการยึดติดนั้นมีความ มั่นคงถาวร (๓) ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น กรวด ก้อน หิน น้ำที่ไหลอยู่บนดิน แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น (๔) ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น กรรมสิทธิ์สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บ กิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ จำนอง เป็นต้น ๑๕.ถาม สังหาริมทรัพย์ คืออะไร ? ตอบ สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์และ หมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย (มาตรา ๑๔๐) การให้ความหมายของสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการ ให้ความหมายในทางนิเสธ ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เพราะทรัพย์ใดไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์นั้นย่อม เป็นสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ๑๖.ถาม เครื่องจักรในโรงงานที่มีน้ำหนักมาก การเคลื่อนย้ายทำได้ยาก จัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ? ตอบ เครื่องจักรในโรงงานนั้นแม้จะมีน้ำหนักมากเพียงใด ก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน โดยสภาพย่อมถอดถอนโยกย้ายได้ จึงไม่ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ก็ย่อมเป็นสังหาริมทรัพย์ (ดูคำ พิพากษาฎีกา ๓๙๙/๒๕๐๙) มีข้อสังเกตว่า แม้เครื่องจักรจะเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกติ สังหาริมทรัพย์นั้นไม่อาจจำนองได้ ได้แต่จำนำเท่านั้น แต่เครื่องจักร นั้นมีกฎหมายเครื่องจักรกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เครื่องจักรนั้น สามารถจำนองได้ แต่การที่เครื่องจักรจำนองได้ ก็หาทำให้เครื่องจักร กลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ไม่ ๑๗.ถาม นายอาทิตย์ได้ซื้อหุ้นของบริษัท สมาร์ทไทย จํากัด จากนายจันทร์ โดยการซื้อขายดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องการโอนหุ้น แต่นายอาทิตย์ได้ครอบครองหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี ต่อมา นายจันทร์ได้ตกเป็นลูกหนี้ของนายอังคาร นายอังคารได้ฟ้องนายจันทร์จนชนะคดี แล้ว จะนำยึดใบหุ้นของบริษัท สมาร์ทไทย จำกัด ซึ่งมีชื่อนายจันทร์เป็นเจ้าของหุ้น เช่นนี้จะยึดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ กรณีนี้ต้องพิจารณาว่า “หุ้น” เป็นทรัพย์สินประเภทใด จะเห็นได้ว่าหุ้นนั้นไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อเป็น สังหาริมทรัพย์ แม้การโอนหุ้นระหว่างนายอาทิตย์กับนายจันทร์จะไม่ถูกต้อง ทำให้หุ้นไม่โอนไปยังนายอาทิตย์ แต่เมื่อนายอาทิตย์ได้ครอบครองหุ้นอัน เป็นสังหาริมทรัพย์เกินกว่า ๕ ปี โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ นายอาทิตย์ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในใบหุ้นตามหลักการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ ดังนั้น เมื่อนายอาทิตย์เป็นเจ้าของหุ้นแล้ว หุ้นนั้น จึงไม่ใช่ของนายจันทร์ นายอังคารเจ้าหนี้จึงไม่อาจยึดใบหุ้นดังกล่าวขายทอด ตลาดได้ เพราะเจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์ที่เป็นของลูกหนี้ เท่านั้น ตามมาตรา ๒๑๔ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๘/๒๔๙๒ และ คำพิพากษาฎีกา ๓๓๙๕/๒๕๒๙) ๑๘.ถาม สังหาริมทรัพย์บางประเภท เช่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะนั้น เมื่อจะมีการซื้อขายกัน กฎหมายได้กำหนดให้ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เช่นนี้ ทรัพย์ดังกล่าวจัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ? ตอบ แม้โดยปกติทั่วไปอสังหาริมทรัพย์เมื่อจะมีการจำหน่ายจ่ายโอนหรือเปลี่ยนเจ้าของต้องกระทำผ่านระบบทะเบียน เพราะอสังหาริมทรัพย์ มีทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทรัพย์ใดที่ต้องมีการจด ทะเบียน ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น หาได้ยึดถือการจดทะเบียนของทรัพย์เป็นหลักไม่ สังหาริมทรัพย์ที่ถามนั้น เรียกกันทั่วไปว่า “สังหาริมทรัพย์ พิเศษ” แม้การซื้อขายจะต้องจดทะเบียน (มาตรา ๔๕๖) ก็เป็นเพราะ ทรัพย์เหล่านั้นมีทะเบียนที่แสดงความเป็นเจ้าของ การซื้อขายจึงต้อง กระทำผ่านระบบทะเบียน แต่โดยสภาพแล้วทรัพย์ดังกล่าวนั้นก็ยัง คงเป็นสังหาริมทรัพย์อยู่ ๑๙.ถาม รถยนต์ซึ่งปกติเมื่อมีการซื้อขายหรือโอนกันต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนนั้น รถยนต์จัดเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ? ตอบ กรณีรถยนต์ก็เป็นเช่นเดียวกับสังหาริมทรัพย์พิเศษ เพียงแต่ทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่ทะเบียนที่แสดงกรรมสิทธิ์ หากแต่เป็นเพียงทะเบียน ที่ควบคุมด้านการจัดเก็บภาษี การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ จึงต่างไปจากทะเบียนของที่ดินที่เรียกว่า “โฉนด” ซึ่งเป็นทะเบียนที่ แสดงกรรมสิทธิ์ ดังนี้ โดยสภาพแล้วรถยนต์จึงไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ หากแต่เป็นสังหาริมทรัพย์ ๒๐.ถาม สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ? ตอบ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นบุคคลสิทธิที่ผู้เช่ามีต่อผู้ให้เช่า อันเป็นสิทธิเหนือคน ไม่ใช่สิทธิเหนือทรัพย์ ดังนั้น แม้สิทธิการเช่า จะ เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม ก็หาใช่สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ไม่ ดังนั้น จึงไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๑๔๐ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์โดยปกติ จึงไม่อาจนำไปจำนองได้ เพราะทรัพย์ที่จะนำไปจำนองได้ ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บางกรณีอาจ จำนองได้ เช่น กรณีสิทธิการเช่าตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราช บัญญัตินี้ได้กำหนดให้การเช่าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้นสามารถ นำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้ แต่ก็หาทำให้ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่สามารถนำไปจำนองได้ทำนอง เดียวกันกับกรณีที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนซื้อขายสังหาริมทรัพย์พิเศษได้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้สังหาริมทรัพย์พิเศษ กลายสภาพเป็น อสังหาริมทรัพย์ไม่ ๒๑.ถาม การที่กฎหมายแบ่งทรัพย์ออกเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์นั้น ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันประการใดบ้าง ? ตอบ ผลของการแบ่งทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ มีดังนี้ (๑) ความเป็นเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์นั้น หากเอกชนไม่ใช่เจ้าของ รัฐย่อมเป็นเจ้าของ ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่อสังหาริมทรัพย์จะไม่มีเจ้าของส่วนสังหาริมทรัพย์นั้นอาจมีกรณีที่ไม่มีเจ้าของได้ โดยอาจเกิด จากเจ้าของเดิมสละกรรมสิทธิ์ เช่น ของที่คนทิ้งแล้วกลายเป็นขยะ ขยะเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นต้น หรือความไม่มีเจ้าของเกิดขึ้น โดยสภาพ เช่น สัตว์ที่อยู่ตามที่สาธารณะ เป็นต้น (๒) การก่อให้เกิดทรัพยสิทธิ ทรัพยสิทธิซึ่งเป็นสิทธิเหนือทรัพย์นั้นบางอย่างจะมีได้แต่ใน อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น คือ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยสิทธิดังกล่าวมาข้างต้นไม่อาจก่อให้เกิดขึ้นเหนือสังหาริมทรัพย์ได้ ส่วนทรัพยสิทธิที่มีได้ทั้งในอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ คือ กรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครอง (๓) อายุความได้สิทธิ การครอบครองทรัพย์สินของบุคคลอื่นเพื่อผู้ครอบครองจะได้กรรมสิทธิ์ที่เรียกว่า“ครอบครองปรปักษ์” นั้น กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ส่วนสังหาริมทรัพย์นั้นครอบครองเพียง ๕ ปี ผู้ครอบครองก็ได้กรรมสิทธิ์ (มาตรา ๑๓๘๒) (๔) แบบของนิติกรรม มาตรา ๑๒๙๙ กำหนดเป็นหลักไว้ว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมนั้นจะบริบูรณ์ต่อ เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะให้มีผลแตกต่างออก เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๔๕๖) การจำนองอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๗๑๔) หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ ส่วนสังหาริมทรัพย์ การทำนิติกรรมเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ โดยหลักย่อมสมบูรณ์เมื่อคำเสนอตรงกับคำสนองคำสนอง เว้นแต่ในสัญญา บางประเภทที่อาศัยการส่งมอบทรัพย์เป็นองค์สมบูรณ์ของสัญญา เช่น สัญญายืม สัญญาให้ เป็นต้น การไม่ส่งมอบทรัพย์ย่อมทำให้ สัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์ แต่ในกรณีเป็นสังหาริมทรัพย์พิเศษการได้มาซึ่งสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษดังกล่าวนั้น ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๑๓๐๒) (๕) แดนกรรมสิทธิ์ เมื่อบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมา ย่อมมีแดนกรรมสิทธิ์กิน ทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย (มาตรา ๑๓๓๕) แต่สังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีแดนกรรมสิทธิ์ (๖) เขตอำนาจศาล คดีแพ่ง ตามป.วิ.พ.การฟ้องคดีเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือ สิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ส่วนหากเป็นคดีเรื่องอื่น รวมถึงคดีเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ ต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ๒๒.ถาม ทรัพย์แบ่งได้ คืออะไร ? ตอบ ทรัพย์แบ่งได้ หมายถึง ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันได้เป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว (มาตรา ๑๔๑) เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำมัน เป็นต้น ส่วนควบ อุปกรณ์ และดอกผล ๒๓.ถาม ส่วนควบ คืออะไร ? ตอบ ส่วนควบ หมายถึง ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่ อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายหรือทำบุบสลาย หรือทำให้ ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง (มาตรา ๑๔๔) โดยส่วนควบนั้นต้องเป็น ทรัพย์ตั้งแต่สองส่วนขึ้นไปประกอบกัน โดยจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรือ อสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือหน้าปัด เป็นส่วนควบของนาฬิกา เป็นต้น ส่วนควบนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ (๑) ส่วนควบนั้นโดยสภาพหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็น สาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น เช่น เข็มนาฬิกาเป็นสาระ สำคัญโดยสภาพในความเป็นอยู่ของนาฬิกา หรือพายเป็นส่วนควบ ของเรือตามประเพณีแห่งท้องถิ่น หรือบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน โดยจารีตประเพณี เป็นต้น (๒) ส่วนควบนั้นไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายหรือทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง เช่น หากแยก ล้อรถยนต์ออกย่อมเป็นการทำลายรถยนต์ ดังนั้น ล้อรถยนต์ย่อม เป็นส่วนควบของรถยนต์ เป็นต้น ๒๔.ถาม การรู้ว่าทรัพย์ใดเป็นส่วนควบของทรัพย์อีกสิ่งหนึ่ง จะมีประโยชน์ในทางกฎหมายประการใดบ้าง ตอบ มาตรา ๑๔๔ วรรคท้ายกำหนดผลของการเป็นส่วนควบไว้ชัดเจนว่าเจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้นซึ่งหมายความว่าทรัพย์ที่เป็นส่วนควบอยู่ในทรัพย์อื่นจะมีเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่างหากไม่ได้ ๒๕.ถาม มีหลักเกณฑ์ประการใดหรือไม่ที่จะใช้พิจารณาว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน ทรัพย์ใดเป็นส่วนควบ ตอบ ในกรณีที่มีการนำทรัพย์สองสิ่งมารวมกัน เช่น หูถ้วยรวมกับตัวถ้วย โดยที่เจ้าของหูถ้วยและถ้วยเป็นคนละคน เช่นนี้ทำให้มีปัญหาได้ว่า ใครจะเป็นเจ้าของถ้วยกาแฟ กรณีนี้มีหลักทั่วไปที่ช่วยพิจารณาได้ คือ ถ้าในบรรดาทรัพย์ที่นำมารวมกันนั้น มีทรัพย์อันใดอันหนึ่งที่อาจ เรียกว่าทรัพย์เป็นประธานแล้ว เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานก็ได้เป็น เจ้าของส่วนควบทั้งหลาย ดังนั้น ถ้วยกาแฟเป็นทรัพย์ประธาน หูถ้วย กาแฟเป็นส่วนควบ แต่ในกรณีทรัพย์นั้นเป็นที่ดินรวมกับทรัพย์สินอื่น แล้ว ถือเสมอว่าที่ดินเป็นทรัพย์ประธานเสมอ และทรัพย์อื่นที่มารวม ติดกับที่ดินนั้นเป็นส่วนควบ เช่น บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นต้น ๒๖.ถาม เครื่องปรับอากาศทำความเย็นของอาคารบ้านเรือนเป็นส่วนควบของอาคารบ้านเรือนหรือไม่ ? ตอบ กรณีตามปัญหาต้องพิจารณาจากสภาพของเครื่องปรับอากาศใน ปัจจุบัน ซึ่งแยกได้ ๒ กรณี คือ กรณีแรก เครื่องปรับอากาศที่ฝังอยู่ในตัวอาคาร โดยในอาคาร ขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เครื่องปรับอากาศจะฝังไว้ใน ตัวอาคารนั้น ๆ ดังนั้น โดยสภาพเครื่องปรับอากาศจึงเป็นสาระแห่ง ความเป็นอยู่ของอาคารเพราะอาคารขนาดใหญ่ที่มีเครื่องปรับอากาศ นั้นไม่อาจใช้งานได้ถ้าถอดเอาเครื่องปรับอากาศออกไป และการถอด เครื่องปรับอากาศก็เป็นการทำลายตัวอาคารนั้น ๆ ไม่ให้ใช้ได้สม ประโยชน์ กรณีที่สอง เครื่องปรับอากาศที่ติดอยู่กับอาคาร สามารถถอด ออกได้ กรณีนี้ มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๐๓/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า “เครื่อง ปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารไม่ใช่ส่วนควบ” และ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๘/๒๕๒๒ วินิจฉัยว่า “เครื่องปรับอากาศที่ต่อ เข้ากับอาคารที่เช่าไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคาร อัน ไม่อาจแยกออกได้นอกจากทำให้อาคารเสียรูปทรง ไม่เป็นส่วนควบ” ซึ่งโดยสภาพแล้ว เมื่อเครื่องปรับอากาศนั้นถอดได้ ย่อมไม่เป็นส่วน ควบ แต่หากมีการต่อสู้ว่า ตามประเพณีแล้วในเมืองใหญ่ ๆ นั้น บ้าน หรืออาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้ตามปกติ ประเพณีทั่วไป หากศาลฟังว่าเป็นประเพณีที่เครื่องปรับอากาศเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่สร้างในเขตเมือง เช่นนี้ เครื่องปรับอากาศก็ย่อม เป็นส่วนควบได้ตามหลักในเรื่องการเป็นส่วนควบโดยจารีตประเพณี ๒๗.ถาม นายหนึ่งเช่าที่ดินจากนายสองเพื่อสร้างบ้านมีกำหนด ๒๐ ปี นายหนึ่ง ได้สร้างบ้าน ๒ หลังลงบนที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าผ่าน ไปได้ ๑๕ ปีนายหนึ่งจะรื้อถอนบ้านทั้งสองหลัง แต่นายสองไม่ยินยอม โดยกล่าวอ้างว่าบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน นายสองย่อมเป็นเจ้าของ นายหนึ่งไม่มีสิทธิ์รื้อถอน ให้ท่านวินิจฉัยว่า บ้านทั้ง ๒ หลัง ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน ตอบ กรณีบ้านทั้ง ๒ หลังนี้ เป็นการปลูกสร้างโดยมีสิทธิตามสัญญา ตามมาตรา ๑๔๖ กำหนดให้การปลูกสร้างโรงเรือนโดยมีสิทธินั้น โรงเรือน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งมีสิทธิตามสัญญาเช่า ที่ดินเพื่อปลูกบ้าน บ้านทั้ง ๒ หลังจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินแม้นาย สองจะเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ก็หาเป็นเจ้าของบ้านไม่นายสองไม่มีสิทธิ ขัดขวางการที่นายหนึ่งจะรื้อถอนบ้านอันเป็นสิทธิของนายหนึ่ง ๒๘.ถาม นายเอกได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีโฉนดจากนายโทเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ โดยได้กำหนดนัดหมายไปจดทะเบียน โอนที่ดินในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายโทยินยอมให้นายเอกเข้า มาปลูกสร้างบ้านได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนโอนที่ดิน ซึ่งปรากฏว่า นายเอกได้ปลูกสร้างบ้าน ๑ หลังในที่ดินที่จะซื้อจะขายนั้น ต่อมาก่อน จะถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนที่ดินนั้น นายโทถูกฟ้องล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์จึงได้เข้ามายึดที่ดินพร้อมบ้านเพื่อนำไปชำระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ มีปัญหาว่าที่ดินและบ้านนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์จะยึดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ ตามมาตรา ๒๑๔ ทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้นที่เจ้าหนี้จะสามารถบังคับเอาชำระหนี้ได้เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็น ของบุคคลอื่นอันไม่ใช่ของลูกหนี้ไม่ได้ กรณีที่ดินนั้น เมื่อเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย กรรมสิทธิ์ใน ที่ดินจึงยังไม่โอนไปยังนายเอกผู้ซื้อ ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็น กรรมสิทธิ์ของนายโท ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิยึด ที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ส่วนกรณีของบ้านที่ปลูกสร้างนั้น การปลูกสร้างเป็นการปลูก สร้างโดยมีสิทธิ สิทธิในที่นี้คือ ความยินยอมของนายโท ต้องตามข้อ ยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๖ ที่ว่า โรงเรือนอันผู้มีสิทธิในที่ดิน ของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำลงไว้ในที่ดินนั้น ไม่เป็นส่วนควบ “สิทธิ” ที่จะปลูกสร้างนี้ครอบคลุมทั้งทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ โดยบุคคล สิทธินั้น ความยินยอมโดยเพียงวาจา หากพิสูจน์ได้ก็ถือว่ามีสิทธิปลูก สร้าง ดังนั้น บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน จึงไม่ใช่ของนายโทเจ้าของ ที่ดิน แต่หากเป็นของนายเอก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิยึด บ้านออกขายทอดตลาด เพราะบ้านไม่ใช่ทรัพย์สินของนายโทลูกหนี้ ตามคำพิพากษา (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๕๙๓/๒๕๓๓) ๒๙.ถาม นายชูรายวันได้เช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย ๑๐ จำนวน ๑๐ ไร่ ในราคา ๑๐๐ ล้านบาท จากนายสันต์ โดยตกลง สัญญาเช่าซื้อเป็นจำนวน ๕ ปี นายชูรายวันได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว เป็นเวลา ๑ ปี ในขณะนั้นนายชูรายวันได้ปลูกสร้างอาคารเพื่อเตรียม การขอเปิดสถานอาบอบนวด ตามที่คู่สัญญาได้ยินยอมไว้ในสัญญา เช่าซื้อที่ดิน เมื่อปลูกสร้างแล้วเสร็จ เงินของนายชูรายวันก็หมุนไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าเช่าซื้อได้ ทำให้นายสันต์บอกเลิก สัญญาเช่าซื้อ และได้นำที่ดินพร้อมอาคารจดทะเบียนโอนขายให้นาย ใต้ โดยนายใต้รับซื้อไว้โดยเข้าใจว่าที่ดินและอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายสันต์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครมีสิทธิในอาคารดีที่สุด ตอบ การที่นายชูรายวันได้ปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินของนายสันต์นั้น เป็นการปลูกสร้างโดยมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ อาคารจึงเป็นโรงเรือน ที่ปลูกสร้างโดยมีสิทธิ ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน ตามมาตรา ๑๗๖ อาคารจึงยังคงเป็นสิทธิของนายชูรายวัน แม้นายชูรายวันจะผิดสัญญาเช่าซื้อ ทำให้นายสันต์มีสิทธิ บอกเลิกสัญญาและเรียกที่ดินกลับคืนแต่กรรมสิทธิ์ในอาคารยังคงเป็น ของนายชูรายวัน ดังนั้น นายสันต์จึงไม่มีสิทธิขายอาคารให้นายใต้ แม้นายใต้จะซื้อโดยสุจริต คือ เชื่อว่าเป็นของนายสันต์ก็ตาม ตาม หลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” อีกทั้งนายใต้จะ อ้างว่ามีสิทธิดีกว่าในอาคารตามหลักส่วนควบก็ไม่ได้ เพราะอาคาร ไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดิน โดยสรุปแล้ว นายชูรายวันมีสิทธิในอาคารดีที่สุด เพราะอาคาร ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน เนื่องจากนายชูรายวันปลูกสร้างโดยมีสิทธิ นายสันต์เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิขายให้นายใต้ ๓๐.ถาม อุปกรณ์ คืออะไร ? ตอบ อุปกรณ์ หมายถึง สังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับ ทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานและเจ้าของทรัพย์ นำมาสู่ทรัพย์ที่ เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการ อื่นใด ในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น (มาตรา ๑๔๗) ตัวอย่างเช่น เครื่องมือซ่อมรถเป็นอุปกรณ์ของรถ กรงนกเป็น อุปกรณ์ของนก เป็นต้น ทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์นั้นย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ๓๑.ถาม ดอกผล คืออะไร ? ตอบ ดอกผลนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าได้แก่ ดอกผลธรรมดา และดอกผล นิตินัย (มาตรา ๑๔๘) ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของ ทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลของแกะ หรือลูกของสัตว์ เป็นดอกผลของสัตว์ เป็นต้น ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวัน หรือตามระยะเวลาที่ กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลนิตินัยของต้นเงิน หรือค่าเช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้านที่นำออกให้เช่า เป็นต้น ๓๒.ถาม บุคคลใดมีสิทธิในดอกผล ? ตอบ ผู้มีสิทธิในดอกผลนั้นโดยหลักทั่วไปได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓๓๖ ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิ่ง ใด ย่อมมีสิทธิในดอกผลนั้นด้วย ยกเว้นแต่จะมีกฎหมายหรือนิติกรรม กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของแม่ทรัพย์จึงจะมีสิทธิ ในดอกผล เช่น กรณีมาตรา ๔๑๕ คือ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดย สุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคง สุจริตอยู่ เป็นต้น ๓๓.ถาม งาช้างที่ตัดออกมาจากช้างเป็นดอกผลของช้างหรือไม่ ? ตอบ ทรัพย์ที่เป็นดอกผลนั้น กรณีดอกผลธรรมดา ดอกผลจะต้องเป็นสิ่งที่บังเกิดเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นจากตัวแม่ทรัพย์ โดยการงอกเงยนี้เมื่อแยก ออกจากตัวแม่ทรัพย์แล้วต้องไม่ทำให้แม่ทรัพย์เสื่อมเสียไป แต่โดย สภาพของงาช้าง เมื่อตัดออกจากช้างย่อมทำให้ช้างเสียสภาพไป งาช้างจึงไม่ใช่ดอกผลของช้าง ๓๔.ถาม ข้าวเปลือกที่ขึ้นอยู่ในนาข้าว เป็นดอกผลของนาหรือไม่ ? ตอบ กรณีตามปัญหาต้องแยกพิจารณาการกำเนิดของข้าว ซึ่งแยกได้เป็น ๒ กรณี กรณีแรก ข้าวเปลือกนั้นมีผู้ปลูกขึ้น กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นดอก ผลธรรมดาของนา เพราะดอกผลธรรมดานั้นต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดย ธรรมชาติ แต่ข้าวเปลือกนั้นมีผู้ปลูก (คำพิพากษาฎีกา ๑๕๓๕/๒๔๙๓ ประชุมใหญ่) กรณีที่สอง ข้าวเปลือกนั้นขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใครปลูก กรณีนี้ถือว่าเป็นดอกผลธรรมดาของนา ๓๕.ถาม นางสาวสวยมีสุนัขตัวเมียตัวหนึ่ง นางสาวสวยต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงได้นำสุนัขไปฝากไว้กับนางสาวใจดีเพื่อนสนิท แต่ปรากฏ ว่านางสาวใจดีมีสุนัขตัวผู้ตัวหนึ่งพันธุ์เดียวกัน ต่อมา สุนัขของนาง สาวสวยออกลูกสุนัขจำนวน ๕ ตัว เมื่อนางสาวสวยกลับจากการศึกษา ในต่างประเทศ ได้มาขอสุนัขคืน จึงพบลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ประสงค์จะ ได้สุนัขทั้ง ๕ ตัว แต่นางสาวใจดีไม่ยอม เช่นนี้ใครจะมีสิทธิในลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ตอบ การพิจารณาว่าลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ใครจะเป็นเจ้าของ ต้องพิจารณาตามลำดับว่า ลูกสุนัขเป็นดอกผลของสุนัข ผู้ที่เป็นเจ้าของดอกผลคือ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของลูกสุนัขจึงได้แก่ผู้เป็นเจ้าของ แม่สุนัข เมื่อพิจารณาลำดับต่อไปแล้ว จะพบว่า สัญญาฝากสุนัขนั้น กรรมสิทธิ์ในสุนัขไม่โอนไปยังผู้ฝากดังนั้นนางสาวสวยในฐานะเจ้าของ สุนัขจึงย่อมมีสิทธิดีที่สุดในดอกผล คือ ลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ตามมาตรา ๑๓๓๖ ๓๖.ถาม ดอกผลธรรมดามีความแตกต่างจากดอกผลโดยนิตินัยอย่างไร ตอบ ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และ ถือเอาได้เมื่อ ขาดจากทรัพย์นั้น เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลของแกะ หรือ ลูกของสัตว์ เป็นดอกผลของสัตว์ เป็นต้น ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้นและสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวัน หรือตามระยะเวลาที่ กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลนิตินัยของต้นเงิน หรือค่า เช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้านที่นำออกให้เช่า เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากความหมายของดอกผลธรรมดาและดอกผล นิตินัยแล้ว จําแนกความแตกต่างได้ดังนี้ (๑) การได้มา ดอกผลธรรมดา ได้มาเพราะมีการใช้ทรัพย์นั้นโดยตรงโดย ผู้เป็นเจ้าของ เช่น ลูกสัตว์เป็นดอกผลของแม่สัตว์ เกิดจากการใช้แม่ ทรัพย์คือแม่สัตว์ให้ออกลูก เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เมื่อแม่ทรัพย์อยู่ กับเจ้าของทรัพย์ย่อมเกิดดอกผลธรรมดาได้ ส่วนดอกผลนิตินัย เกิดจากการที่มีบุคคลอื่นใช้ทรัพย์นั้น เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลของเงินต้น แต่เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของ เงินต้นน้ำเงินออกให้บุคคลอื่นกู้ยืม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เมื่อแม่ ทรัพย์อยู่กับเจ้าของทรัพย์ย่อมไม่อาจเกิดดอกผลนิตินัยได้ (๒) การเกิดขึ้นของดอกผล ดอกผลธรรมดา เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยการงอกเงยออก จากแม่ทรัพย์ เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลธรรมดาของแกะ โดยขนแกะ งอกเงยขึ้นตามธรรมชาติจากแกะ ส่วนดอกผลนิตินัย ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้น โดยผลของกฎหมาย โดยการที่บุคคลอื่นได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น เช่น ค่า เช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้าน (๓) การมีสภาพเป็นดอกผล ดอกผลธรรมดา จะถือว่าเป็นดอกผลต่อเมื่อขาดหลุดออกจาก แม่ทรัพย์ เช่น ผลไม้ที่อยู่บนต้นยังไม่เป็นดอกผล จนกว่าจะหลุดออก จากต้นมะม่วง การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ๓๗.ถาม การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การได้มาไว้ประการใดบ้าง ตอบ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แยกเป็นหลัก และข้อ ยกเว้นได้ ดังนี้ หลัก การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงจะบริบูรณ์ใช้ยัน กับคนได้เป็นการทั่วไป ข้อยกเว้น การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมในกรณีใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน หากไม่ทำให้ตกเป็นโมฆะ เช่นนี้ ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ นั้น ๆ ซึ่งได้แก่ (๑) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๔๕๖ (๒) การแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๕๑๙ (๓) การให้อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๕๒๕ (๔) การจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๗๑๔ และ ๑๕๒ ๓๘.ถาม การที่ตัวบทมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง กำหนดผลของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ไว้ว่า หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน “ไม่บริบูรณ์” คำว่า “ไม่บริบูรณ์” มีความหมายอย่างไร ? ตอบ คำว่า “ไม่บริบูรณ์” นี้ ต่างจากคำว่า “โมฆะ” หรือ “ไม่สมบูรณ์” เพราะ โมฆะนั้นหมายถึงว่าเสียเปล่า ไม่มีผลในทางกฎหมาย ส่วนไม่สมบูรณ์นั้น หมายถึงว่า ยังไม่อาจถือหรือบังคับกันได้ตามสิทธินั้น ส่วนคำว่า “ไม่บริบูรณ์” หมายถึง ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ คือ ไม่อาจใช้ยันกับ บุคคลภายนอกได้ แต่ในระหว่างคู่สัญญายังคงบังคับกันได้ในฐานะ เป็น “บุคคลสิทธิ” ตัวอย่างเช่น นายแดงได้ทำสัญญาขอเดินผ่านที่ดินของนายดำเพื่อไปสู่ถนนสาธารณะ สัญญานี้ก็คือการก่อตั้งภาระจำยอม (ซึ่ง เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง) คือ นายแดงเป็นผู้ได้มาซึ่งภาระจำยอม หากคู่สัญญาได้ทำเป็นหนังสือและไปจดทะเบียน กำหนดเวลา ๑๐ ปี ถือว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาก่อน ครบกำหนดเวลา ๑๐ ปี นายดำจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นายเชียว นายแดงย่อมอาศัยภาระจำยอมที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ยันกับนายเขียวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เพราะภาระจำยอม นั้นได้จดทะเบียนแล้ว แต่หากนายแดงทำสัญญาเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียน กับนายดำ ถือว่านายแดงเป็นผู้ได้มาซึ่งภาระจำยอม แต่เมื่อการ ได้มานี้ไม่ได้มีการจดทะเบียน การได้มาของนายแดงจึงไม่บริบูรณ์ เป็นทรัพยสิทธิ ดังนั้น กรณีแรก หากต่อมาก่อนครบ ๑๐ ปีตามข้อตกลง นายดำ จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นายเขียว นายแดงจะอ้างภาระจำยอมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นยันกับนายเขียว เพื่อให้นายเขียวยอมให้เดินผ่านต่อไปไม่ได้ กรณีที่สอง แต่หากนายดำยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้บุคคล ใด ๆ และยังไม่ครบเวลา ๑๐ ปี นายดำจะปิดทางเดิน เช่นนี้ นายแดงย่อมอ้างข้อตกลงเดินผ่านที่แม้ไม่จดทะเบียน แต่ก็สามารถ ผูกพันกับคู่กรณี คือ นายดำกับนายแดง ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้ นายดำต้องยอมให้นายแดงเดินต่อไปจนครบ ๑๐ ปี ๓๙.ถาม การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ทางอื่นนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง ตอบ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นไว้ดังนี้ คือ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น สิทธิของผู้ได้มาต้องจดทะเบียนจึงจะใช้ยันบุคคลได้ทั่วไปทุกคน แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนจะมีข้อบกพร่อง ๒ ประการ คือ (๑) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ (๒) ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยบางอื่นที่จดทะเบียนแล้วมีผลสมบูรณ์ ใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เช่น นายนกได้ ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี และได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้รับรองการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ และศาลได้ตัดสินว่านายนกได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ หลังจากนั้นนายนกได้นำคำพิพากษาดังกล่าวไป จดทะเบียนที่ดินแปลงที่ครอบครองให้เป็นชื่อของนายนก เช่นนี้ ถือ ว่าการได้มาซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของนายนกสมบูรณ์ตามกฎหมาย นายแมวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอีกต่อไป ผู้ที่มีสิทธิจำหน่ายจ่าย โอนที่ดินแปลงนี้คือ นายนก ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นที่ยังไม่ ได้จดทะเบียนการได้มา มีข้อบกพร่องประการแรกที่ว่า “เปลี่ยนแปลง ทางทะเบียนไม่ได้” เช่น นายนกครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวกว่า ๑๐ ปี แม้ตามมาตรา ๑๓๘๒ กำหนดให้นายนกได้กรรมสิทธิ์ แต่เมื่อนายนกยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็น ชื่อนายนก นายนกย่อมไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้บุคคลอื่นได้ ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นที่ยังไม่ ได้จดทะเบียนการได้มา มีข้อบกพร่องประการที่สองที่ว่า “ยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้” เช่น นายนกครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวกว่า ๑๐ ปี แม้ตามมาตรา ๑๓๘๒ กำหนดให้นายนกได้กรรมสิทธิ์ แต่เมื่อนายนกยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยน ชื่อในโฉนดเป็นชื่อนายนก ชื่อในโฉนดยังเป็นของนายแมว หากนายแมว ได้จดทะเบียนโอนที่ดินให้นายหมู โดยนายหมูได้ซื้อที่ดินดังกล่าวโดย ไม่รู้ว่านายนกได้กรรมสิทธิ์ไปโดยการครอบครองปรปักษ์ เช่นนี้ นายหมูเป็นบุคคลภายนอกผู้เสียค่าตอบแทน คือ จ่ายค่าซื้อที่ดินไป และ สุจริต คือ ไม่รู้ว่านายนกได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เช่น นี้ หากนายหมูขับไล่นายนก นายนกจะยกการได้กรรมสิทธิ์โดยอายุ ความครอบครองปรปักษ์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อสู้นายหมูไม่ได้ นายนกต้องออกจากที่ดิน ๔๐.ถาม นายดาวได้ทำสัญญาตกลงเดินผ่านที่ดินของนายเดือนเป็นเวลา ๑๐ ปี โดยจ่ายค่าเดินผ่านเหมาจ่ายไปแล้วจำนวน ๑ แสนบาท แต่ไม่ได้ มีการจดทะเบียนข้อตกลงดังกล่าว ต่อมา เมื่อนายดาวเดินผ่านได้เพียง ๖ ปี นายเดือนถึงแก่ความตาย นายจันทร์ทายาทแต่เพียงผู้เดียวของ นายเดือนไม่ยอมให้นายดาวเดินผ่าน นายดาวมาปรึกษาท่านว่านายดาวจะมีสิทธิเดินผ่านหรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ ข้อตกลงระหว่างนายดาวกับนายเดือนเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แต่เมื่อไม่จดทะเบียนย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา คือ ระหว่างนายดาวกับนายเดือน และบุคคลสิทธิดังกล่าวนี้ก็มิใช่สิทธิ ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของคู่สัญญาโดย แท้ เมื่อนายเดือนถึงแก่ความตายไป สิทธิตามสัญญาก่อตั้งภาระ จำยอมย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา ๑๕๙๙ และ ๑๖๐๐ ที่ กำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และ มรดกนั้นรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิหน้าที่ของผู้ตายด้วย ดังนั้น นายจันทร์ทายาทของนายเดือนต้องรับสิทธิหน้าที่ตามสัญญาภาระจำยอม จึงต้องยอมให้นายดาวเดินผ่านทางตามข้อตกลงต่อไปจนกว่าจะครบ ๑๐ ปีตามสัญญา (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๒๒๗/๒๕๓๓) ๔๑.ถาม นายแดงได้ตกลงทำสัญญาเดินผ่านที่ดินของนายขาวเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี โดยมีการจ่ายเงินเหมาจ่าย ๑ ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการทำ หนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ต่อมานายขาวได้ยกที่ดินของ นายขาวแปลงที่ตกลงให้นายแดงเดินผ่านโดยจดทะเบียนยกให้นายฟ้าบุตรชายต่อเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยนายฟ้าไม่รู้ข้อตกลงระหว่าง นายแดงและนายขาวเกี่ยวกับการเดินผ่านที่ดินดังกล่าวมาก่อน เมื่อ นายฟ้าได้เข้าครอบครองที่ดินแล้วได้ปิดทางเดินไม่ให้นายแดงเดินผ่าน นายแดงจึงได้ฟ้องนายฟ้าให้เปิดทางเดินตามข้อตกลงในสัญญา ที่นายแดงได้ทำไว้กับนายขาวในฐานะที่นายฟ้าเป็นทายาทของนายขาว และขอให้นายฟ้าไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ตามข้อตกลงด้วย หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ ข้อตกลงสัญญาเดินผ่านที่ดินระหว่างนายแดงและนายขาวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง เมื่อไม่จดทะเบียนย่อม ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง สัญญาดังกล่าวจึงผูกพันระหว่างนายแดงและนาย ขาวคู่สัญญาเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอก เมื่อนายขาวจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายฟ้าซึ่งเป็นบุตรถือว่านายฟ้าเป็นบุคคลภายนอก ทั้งหาได้มีบทบัญญัติให้ผู้รับการให้ดังเช่นนายฟ้าต้องรับหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ให้ไปด้วยอย่างกรณีทายาทรับ มรดกไม่สัญญาระหว่างนายแดงและนายขาวจึงไม่มีผลผูกพันนายฟ้า จึงไม่อาจบังคับให้นายฟ้าจดทะเบียนภาระจำยอมหรือเปิดทางพิพาท ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๒๒๒๙/๒๕๔๒) ๔๒.ถาม นายจันทร์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินนายอังคารจำนวน ๑๐ ล้านบาท แต่เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายจันทร์ไม่มีเงินชำระหนี้ให้นายอังคาร นายจันทร์จึงได้ตกลงยกอาคารของนายจันทร์ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน ของนายเหลืองตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร พร้อมสิทธิ การเช่าที่ดินของนายเหลือง ตีใช้หนี้ให้แก่นายอังคาร นายอังคาร ยินยอมรับการโอนทรัพย์สินที่ใช้หนี้ดังกล่าว แต่การโอนตีใช้หนี้นั้นไม่ได้มีการจดทะเบียน ต่อมาหลังจากโอนทรัพย์สินที่ใช้หนี้แล้ว นาย จันทร์ยังอยู่ในอาคารต่อไป นายอังคารจึงได้ฟ้องขับไล่ให้นายจันทร์ ออกไปจากอาคาร นายจันทร์ยกข้อต่อสู้ขึ้นสู้ว่าการโอนดังกล่าวตกเป็น โมฆะเพราะไม่ได้มีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ การโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทตีใช้หนี้ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย หรือ สัญญาอื่นใดที่กฎหมายกำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น แม้ไม่จดทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่ หากแต่เมื่อการตีใช้หนี้ เป็นการแสดงเจตนาอันเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การที่นายอังคารได้มา ซึ่งอาคารอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิ เมื่อนาย จันทร์โอนอาคารพิพาทพร้อมทั้งสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่นายอังคาร เป็นการแสดงเจตนาโอนการครอบครองให้นายอังคารแล้ว การที่นาย จันทร์อยู่ในอาคารต่อมาก็เป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของนายอังคาร นายอังคารจึงมีบุคคลสิทธิที่จะบังคับให้นายจันทร์ออกไปจากอาคาร พิพาทที่นายอังคารมีสิทธิครอบครองได้ นายจันทร์จึงต้องออกไปจาก อาคารดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๔๓๕/๒๕๑๙ ประชุมใหญ่) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ๔๓.ถาม ลักษณะของการได้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น มีลักษณะการ ได้มาประการใดบ้าง ตอบ การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ได้แก่การได้มาโดยผลของกฎหมายนั่นเอง ซึ่งได้แก่กรณี ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ (๑) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๐๘ - ๑๓๓๔ เช่น การได้กรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่ง เป็นต้น (๒) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒ (๓) การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดก กองทรัพย์สินของ บุคคลย่อมตกทอดเป็นมรดกทันทีที่เจ้ามรดกตาย (มาตรา ๑๕๙๙) (๔) การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลซึ่งแสดงให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างใดนั้น บุคคล นั้นย่อมได้สิทธิหรือมีสิทธิตามคำพิพากษานั้นโดยบริบูรณ์ แม้จะเป็น อสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำต้องขอให้จดทะเบียนเสียก่อนการจดทะเบียน เป็นแต่เพียงทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันคนภายนอกเท่านั้น (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๕๒/๒๔๘๘) ๔๔.ถาม นายหนึ่งได้ครอบครอบปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายสองจนได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทางทะเบียนเป็นของ นายหนึ่ง ต่อมานายสองถึงแก่ความตาย นายสามทายาทของนายสอง ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง และได้ฟ้องขับไล่นายหนึ่ง เช่นนี้นายหนึ่งจะต้องออกไปที่ดินหรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ นายหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการได้มาโดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เมื่อยังไม่ได้จด ทะเบียนย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดย จดทะเบียนสิทธิโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตไม่ได้แต่ตามข้อเท็จจริง นายสามเป็นทายาท ซึ่งตามมาตรา ๑๖๐๐ ทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ของเจ้ามรดก ทายาทจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ดังนั้น การได้กรรมสิทธิ์ของนายหนึ่งจึงย่อมยกขึ้นเป็นข้อ ต่อสู้นายสามได้ นายหนึ่งไม่ต้องออกไปจากที่ดิน (เทียบคำพิพากษา ฎีกา ๑๘๘๖/๒๕๓๖) ๔๕.ถาม นายสิงหาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของนายกันยาจำนวน ๑๐ ล้านบาท ต่อมาหนี้ถึงกำหนดนายกันยาไม่ยอมชำระหนี้ นายสิงหาจึงฟ้องคดีแพ่ง บังคับชำระหนี้กับนายกันยา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายกันยา ชำระหนี้จำนวน ๑๐ บาท แก่นายสิงหา แต่นายกันยา ไม่ยอมชำระหนี้นายสิงหาจึงร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินแปลงหนึ่งซึ่ง มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของนายกันยาเพื่อนำขายทอดตลาดนำเงินมา ชำระหนี้ แต่เมื่อนำยึดปรากฏว่ามีนายตุลาได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดิน แปลงดังกล่าวเกินกว่า ๑๐ ปี นายตุลาอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายสิงหาไม่มีสิทธินำยึด ในขณะที่นายสิงหา อ้างว่า สิทธิของนายตุลาที่ได้มานั้นยังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่อ้างยก ขึ้นต่อสู้นายสิงหาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เช่นนี้ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของฝ่ายใดถูกต้องตามกฎหมาย ตอบ นายตุลาเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๔๒ แต่เมื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของนาย ตุลาอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้นยังไม่ได้จด ทะเบียนการได้มาจึงมีข้อบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นาย กันยาไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้จดทะเบียนสิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่อย่างไรก็ ตาม แม้สิทธิของนายกันมาจะมีข้อบกพร่องตามที่กล่าวมา แต่ในเมื่อ นายสิงหาซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดย จดทะเบียน ดังนั้น นายตุลาจึงสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่านายกันได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นยันนายสิ่งหาได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๒๑๒/๒๕๑๐) ๔๖.ถาม คำว่า บุคคลภายนอกผู้ “สุจริต” ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้นมีความหมายอย่างไร ? ตอบ คำว่า “สุจริต” หมายถึง บุคคลภายนอกผู้ได้จดทะเบียนสิทธินั้นไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้นดีกว่าผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ ให้ตนซึ่งการจะพิจารณาว่าสุจริตหรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง เป็นรายกรณีไป ตัวอย่างกรณีที่ถือว่าบุคคลภายนอกสุจริต เช่น ก่อนซื้อที่ดิน ผู้ซื้อได้ไปดูที่ดินพบบิดาของผู้ครอบครองปรปักษ์บิดาบอกว่าเช่าที่ดิน พิพาทจากเจ้าของ หากผู้ซื้อซื้อที่พิพาทจะขอเช่าอยู่ต่อไป ยังฟังไม่ได้ ว่าผู้ซื้อรู้ว่ามีผู้ครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้ซื้อสุจริต ตัวอย่างที่ถือว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริต เช่น ซื้อที่ดินมีโฉนด มา ๑ แปลง แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้ซื้อไปดูที่ดินที่จะซื้อ ก็เห็นผู้อื่นครอบ ครองอยู่ในที่รายนี้โดยมีบ้านเรือนปลูกอยู่ มีก่อไผ่ล้อมรั้วอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่งก่อนแล้ว ผู้ซื้อก็มิได้ซักถามผู้ครอบครองหรือแม้แต่ตัวผู้ขาย ว่า ผู้ครอบครองนั้นครอบครองอยู่ในที่พิพาทด้วยเหตุใด การที่ผู้ซื้อ ซื้อไว้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่ามีผู้อื่นครอบครองทรายพิพาทอยู่ เท่ากับเป็นการ ซื้อคดีมาฟ้องร้อง เรียกไม่ได้ว่าซื้อโดยสุจริต ๔๗.ถาม นายโจ้ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายผังกว่า ๑๐ ปีจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการได้มาต่อมาหลังจากนายโจ้ครอบครอง ที่ดินครบ ๑๐ ปี เพียง ๒ มีนายผังได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ นายกนิชซึ่งสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากนั้นอีกเพียง ๓ ปี นาย กนิชได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายต้อ โดยนายต้อ รู้ว่านายโจ้ได้ครอบครองที่ดินนั้นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ท้ายที่สุดนายต้อฟ้องขับไล่นายใจให้ออกจากที่ดิน นาย โจ้ ยกข้อต่อสู้ว่านายต้อเป็นบุคคลภายนอกผู้ไม่สุจริต นายโจ้ จึงมีสิทธิดีกว่า เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ คำว่า “บุคคลภายนอก” ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น หมายถึง ผู้ที่มิใช่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไปมักได้แก่ผู้ได้สิทธิจากเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ทั้งนี้บุคคลภายนอกนั้นขยายความ รวมไปถึงผู้รับโอนสิทธิต่อกันเป็นทอด ๆ ด้วย หากผู้รับโอนสิทธิซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกนั้น คนใดคนหนึ่งในทอดใดทอดหนึ่งได้รับความ คุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองแล้ว ถือว่าสิทธิที่จะยกการได้ มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมของ ผู้ได้มาขาดตอนไปแล้ว แม้จะมีผู้รับโอนสิทธิจากบุคคลภายนอกต่อ ๆ กันมา ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนั้นก็ไม่อาจ ยกสิทธิของตนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนนั้นได้ โดย ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนคนต่อ ๆ มานั้นจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ นายโจ้เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ แต่เมื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของ นายโจ้อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้นยังไม่ได้จด ทะเบียนการได้มา จึงมีข้อบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายโจ้ไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ จดทะเบียนสิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามข้อเท็จจริงที่ โจทย์ให้ นายกนิชเป็นบุคคลภายนอกผู้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง สิทธิของนายโจ้ในการครอบครองปรปักษ์นั้นยุติลงแล้ว และเมื่อ นับจากวันที่สิทธิของนายโจ้ยุติ การครอบครองต่อมาก็เป็นเวลาเพียง ๓ ปี ยังไม่ครบ ๑๐ ปี นายโจ้จึงไม่สามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์แต่ไม่จดทะเบียนยันนายต้อได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายต้อจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น หาก ข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินให้นายต้อเป็นฝ่ายชนะคดี (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘) ๔๘.ถาม นายดีได้เข้าแย่งครอบครองที่ดิน น.ส.๓ ของนายเด่นเป็นเวลากว่า ๑ ปี ต่อมา นายเด่นได้จดทะเบียนโอนขายที่ดิน น.ส.๓ ดัง กล่าวให้นายโด่ง ซึ่งจดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลัง จากนั้นนายโด่งจะเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดิน จึงได้พบว่านายดีได้ ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว นายโด่งจึงฟ้องขับไล่นายดีต่อศาล โดย อ้างว่าได้จดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายดียกข้อต่อสู้ว่า นายดีได้สิทธิครอบครองโดยการแย่ง นายโด่งจะอ้างว่า เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองไม่ได้ เพราะมาตรา๑๒๙๙ วรรคสองใช้บังคับกับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ไม่ใช้กับที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ กรณีการครอบครองที่ดินน.ส.๓ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ที่ดินมือเปล่า”(ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์) มีประเด็นปัญหาว่าจะปรับ เข้ากับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองได้หรือไม่ เพราะเมื่อมีกรณีการแย่ง การครอบครองที่ผู้ครอบครองได้สิทธิครอบครองโดยผู้มีสิทธิครอบ ครองเดิม ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน หากเลย ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการ ครอบครอง (มาตรา ๑๓๗๕) ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อพิจารณาตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรค สองแล้ว กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ สิทธิครอบครองก็จัดว่าเป็นทรัพยสิทธิประเภท หนึ่ง การได้มาซึ่งสิทธิครอบครอบโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมจะ ต้องจดทะเบียนด้วยมิฉะนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและยก เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้ นายดีได้สิทธิครอบครอง โดยทางอื่นในที่ดินที่มี น.ส.๓ ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง แต่ก็ถือว่า ต้องอยู่ในบังคับ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เมื่อสิทธิของนายดียังไม่ได้จดทะเบียนจึงยกเป็นข้อต่อสู้นายโด่งผู้ได้จดทะเบียนสิทธิ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วไม่ได้ เช่นนี้ หากข้าพเจ้าเป็นผู้ พิพากษาจะตัดสินให้นายโด่งชนะคดี (เทียบคําพิพากษาฎีกา ๔๒๗/ ๒๕๓๘) การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ๔๙.ถาม เหตุใดจึงมีการบัญญัติการเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิไว้ในมาตรา ๑๓๐๐ ? ตอบ สืบเนื่องจากการคุ้มครองบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ทำให้มีปัญหาว่า หากเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกไม่ได้รับความคุ้ม ครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แล้วบุคคลภาย นอกดังกล่าวได้ ฟ้องขับไล่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน แม้ผู้ได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์จะยกข้อต่อสู้จนชนะคดีได้ แต่การได้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นของผู้ได้มาฯ ซึ่งอาจทำให้ บุคคลภาย นอกซึ่งมีชื่ออยู่ในทางทะเบียนนั้นโอนต่อไปยังบุคคล ภายนอกทอดต่อไป และหากบุคคลภายนอกทอดต่อไปนั้นสุจริตและ เสียค่าตอบแทนเสียแล้วผู้ได้มาฯ นั้นก็จะยกการได้มาสู้บุคคลภายนอก ดังกล่าวไม่ได้ กฎหมายจึงให้สิทธิแก่ผู้ได้มาที่จะขอเพิกถอนการได้ มาซึ่งทรัพยสิทธิได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐ ๕๐.ถาม หลักเกณฑ์การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ? ตอบ หลักเกณฑ์การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ มี สาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้ (๑) ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเป็นผู้ขอ เพิกถอน (๒) การจดทะเบียนที่ขอเพิกถอนนั้น ทำให้ผู้อยู่ในฐานะจะให้ จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ (๓) ผู้รับโอนรับโอนไปโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริต ๕๑.ถาม บุคคลใดบ้างถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน ที่จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ ? ตอบ ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิขอให้เพิก ถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ ได้แก่ (๑) ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง เช่น เจ้าหนี้ที่รับการนำที่ดินมาตีใช้หนี้ เป็นต้น (๒) ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น ตาม มาตรา ๑๒๙๑๙ วรรคสอง เช่น ผู้ครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น ๕๒.ถาม ผู้จะซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีสิทธิขอเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ หรือไม่ ? ตอบ ปกติแล้วผู้จะซื้อมีเพียงบุคคลสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้จะขายจดทะเบียน โอนที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากผู้จะขายผิดสัญญานําที่ดิน ไปจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นก็ถือว่าผู้จะขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้จะซื้อย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับสิทธิของผู้จะซื้อในการใช้มาตรา ๑๓๐๐ นี้ ศาลฎีกาได้วางแนวคำพิพากษาไว้ว่า หากผู้จะซื้อใดได้ชำระราคา ครบถ้วน และผู้จะขายได้ส่งมอบทรัพย์ให้ผู้จะซื้อเข้าครอบครองแล้ว ถือว่า ผู้จะซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามมาตรา ๑๓๐๐ มีสิทธิขอให้เพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิได้ ๕๓.ถาม นายหนึ่งทำสัญญาจะซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนายสองโดยทำหนังสือสัญญากันถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังหาโฉนดที่ดินไม่พบจึง ยังไม่ได้มีการไปจดทะเบียนโอนที่ดินกัน โดยนายหนึ่งได้ชำระเงินครบ ถ้วนและได้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่ดินที่จะซื้อขายกันแล้ว ต่อมานายสอง พบโฉนดที่ดิน แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้นาย สามซึ่งรู้ดีว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายหนึ่งและนายสอง เช่น นี้นายหนึ่งจะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายสองและนายสามได้หรือไม่ ตอบ สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสองมีการชำระราคาครบถ้วนและมีการส่งมอบที่ดินให้นายหนึ่งเข้าครอบครองแล้วถือได้ว่า นายหนึ่งอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ เมื่อนายสามรับโอนที่ดินจากนายสองโดยไม่สุจริต นายหนึ่ง ย่อมสามารถฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายนั้นได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๗๒/๒๔๙๙) ๕๔.ถาม นายจันทร์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนายอังคาร โดยทำหนังสือสัญญากันถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจันทร์ได้ชำระเงิน บางส่วนและได้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่ดินที่จะซื้อขายกันแล้ว ต่อมานาย สองกลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้นายพุธซึ่งรู้ดีว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายจันทร์และนายอังคาร เช่นนี้นาย จันทร์จะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายอังคารและนายพุธ โดยอาศัยมาตรา ๑๓๐๐ ได้หรือไม่ ตอบ กรณีที่นายจันทร์ผู้จะซื้อชำระราคาบางส่วนและเข้าครอบครองที่ดินที่จะซื้อขายนี้ ศาลฎีกาถือว่า ผู้จะซื้อยังไม่อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ ได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ ดังนั้นนายจันทร์จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนการ จดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายอังคารและนายพุธ (เทียบคำพิพากษา ๓๔๕๔/๒๕๓๓) ๕๕.ถาม กรณีที่ผู้จะซื้อไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๐๐ ฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างผู้จะขายกับผู้ซื้อรายหลังได้ ผู้จะซื้อจะมีหนทางในการใช้บทบัญญัติใดฟ้องเพิกถอนอีกได้หรือไม่ ? ตอบ ในกรณีที่ผู้จะซื้อไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๐๐ ฟ้องเพิกถอนได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะผู้จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนผู้จะซื้ออาจเพิกถอนได้ โดยอาศัยมาตรา ๒๓๗ ซึ่งเป็นการเพิกถอนโดยอาศัยหลักในทางหนี้ โดยมาตรา ๒๓๗ บัญญัติไว้ว่า “มาตรา ๒๓๗ เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านห้ามมิให้ใช้บังคับถ้าปรากฏว่าในขณะที่ ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อ ความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณี เป็นการทำให้โดยเสน่หาท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้น ก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้” เมื่อพิจารณาผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะเห็นว่ามีฐานะเป็น เจ้าหนี้ ซึ่งผู้จะซื้อประสงค์ในทรัพย์เฉพาะสิ่ง คือ ที่ดินที่ซื้อขาย อันเป็นความประสงค์ในตัวทรัพย์ยิ่งกว่าค่าสินไหมทดแทน การที่ผู้จะ ขายเอาทรัพย์ไปโอนให้ผู้อื่นเสีย ถือได้ว่าผู้ซื้อเสียเปรียบ ผู้ซื้อขอให้ เพิกถอนการโอนได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้จะขายมีทรัพย์สินอื่น เพียงพอชำระค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา ๒๐๑๐/๒๕๒๕) ๕๖.ถาม นาย ก เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ถูกนาย ข. ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้วนายก. ทราบว่า ถึงจะฟ้องขับไล่นาย ข. นาย ก. ก็แพ้คดี จึงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นาย ค. ซึ่งเป็น เพื่อนของนาย ก. และทราบดีว่า นาย ข. ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ดังกล่าวแล้ว เพื่อที่จะให้นาย ค. เป็นผู้ฟ้องขับไล่นาย ข. พอนาย ข. ทราบเรื่องนี้ จึงได้มาปรึกษาท่านว่า กรณีเช่นนี้นาย ข.จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรดี ตอบ กรณีนี้เมื่อนาย ข. ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นการได้มาฯ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง และเป็นผู้อยู่ในฐานะจุด ทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ เมื่อมีการจด ทะเบียนโอนที่ดินให้นาย ค. โดยนาย ค. ไม่สุจริต และการโอนนี้ทำให้ นาย ข. เสียเปรียบ นาย ข. ย่อมสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการจด ทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างนาย ก. และนาย ค. ได้ (คำพิพากษาฎีกา ๑๘๘๖/๒๕๓๖) ๕๗.ถาม นายเพชรเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่แปลงหนึ่ง ต่อมานายเพชรถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นายเงิน นายทอง และนาย มรกตเป็นทายาทโดยธรรม ได้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล ศาล ตั้งนายชมพู่เป็นผู้จัดการมรดก นายชมพู่ได้ดำเนินการแอบโอนที่ดินแปลงใหญ่อันเป็นมรดกนั้นให้แก่นายที่ซึ่งไม่ใช่ทายาท และไม่มีสิทธิ รับมรดกโดยนายที่ทราบดีว่านายชมพู่เป็นเพียงผู้จัดการมรดกนายเงิน นายทอง และนายมรกตทราบเรื่อง จึงได้มาหารือท่านว่าจะดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างนายชมพู่กับนายตีได้หรือไม่ ตอบ กรณีนี้ ที่ดินแปลงใหญ่เป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นสิทธิร่วมกันของทายาท คือ นายเงิน นายทอง และนายมรกต ทันทีที่นายเพชรเจ้า มรดกถึงแก่ความตายการที่นายชมพู่ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดิน ให้แก่นายที่ซึ่งไม่ใช่ทายาท ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการ มรดกที่จะต้องดําเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และทำให้ นายเงิน นายทอง และนายมรกต ผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอน ที่ดินได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ ทายาททั้ง ๓. คนจึงขอให้เพิกถอนการ จดทะเบียนระหว่างนายชมพู่กับนายตีได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐ (คำพิพากษาฎีกา ๗๘๓/๒๕๓๘) การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๑๓๐๓) ๕๘.ถาม กรณีที่มีบุคคลหลายคนกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์รายเดียวกัน โดยอาศัยสิทธิต่างกัน เช่นนี้ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน ตอบ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างมาเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน โดยอาศัยสิทธิต่างกัน มาตรา ๑๓๐๓ วางหลักว่า ผู้ใดครอบครองผู้นั้น มีสิทธิดีกว่า แต่ต้องได้สังหาริมทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้ การครอบครองโดยสุจริต แต่หลักข้างต้นไม่ใช่ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ (๑) สังหาริมทรัพย์พิเศษ (๒) ทรัพย์สินหาย (๓) ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด ๕๙.ถาม นายใหญ่เป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ได้มอบหมายให้นายกลางเป็นตัวแทนขายรถยนต์คันดังกล่าว ในขณะเดียวกัน นายใหญ่ก็พยายาม ขายรถยนต์ของตนอยู่ด้วย นายกลางได้ตกลงขายรถยนต์ให้นายเล็ก โดยได้ส่งมอบรถยนต์ให้นายเล็กแล้ว ในขณะเดียวกันนายใหญ่ก็ได้ ตกลงขายรถยนต์ให้นายน้อย แต่ยังไม่ได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้ ให้ วินิจฉัยว่า ระหว่างนายเล็กและนายน้อย ใครจะมีสิทธิในรถยนต์คันดังกล่าวอีกว่ากัน ตอบ นายเล็กได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์จากนายกลางตัวแทนของนายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายได้ในฐานะตัวแทน พร้อมกับได้รับ มอบรถยนต์แล้ว แต่นายน้อยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับนายใหญ่ แม้จะซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่นายน้อยก็มิได้ครอบครอง รถยนต์ ดังนั้น เมื่อรถยนต์ตกอยู่ในความครอบครองของนายเล็ก และนายเล็กได้รถยนต์คันนั้นโดยมีค่าตอบแทนและได้ครอบครอง โดยสุจริต นายเล็กจึงมีสิทธิดีกว่านายน้อย ตามมาตรา ๑๓๐๓ (คำพิพากษาฎีกา ๓๒๔๗/๒๕๓๓) ทรัพย์สินของแผ่นดิน ๖๐.ถาม จงอธิบายความหมายของทรัพย์สินของแผ่นดิน ตอบ ทรัพย์สินของแผ่นดิน หมายถึง ทรัพย์สินที่แผ่นดินเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่นอาคารของส่วนราชการ ที่ดินของรัฐ เป็นต้น ๖๑.ถาม ทรัพย์สินของแผ่นดินมีกี่ประเภท ตอบ ตามกฎหมายทรัพย์สินของแผ่นดินแบ่งได้ออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ (๑) ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา คือ ทรัพย์สินที่แผ่นดินถือ ไว้ในฐานะความเป็นอยู่เสมือนเอกชนมีทรัพย์สินไว้จำหน่ายจ่ายโอน ทำผลประโยชน์หากำไรเข้ากระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ นอกพาณิชย์เพียงแต่ต่างจากทรัพย์ในพาณิชย์ของเอกชนทั่วไป โดย มีกฎหมายห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อบังคับชำระหนี้ แต่ ทั้งนี้ทรัพย์สินของแผ่นดินนั้นสามารถโอนกันได้ดังทรัพย์สินของเอกชน ทั่วไปสามารถถูกครอบครองปรปักษ์ได้ ตัวอย่างทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น รถยนต์ของส่วนราชการ เป็นต้น (๒) สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินที่แผ่นดินถือไว้ ในฐานะเป็นผู้แทนพลเมืองเพื่อใช้ในการสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อ ให้พลเมืองได้ใช้ร่วมกัน โดยลักษณะสำคัญของสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน มี ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และ ประการที่สอง ใช้เพื่อสาธารณ ประโยชน์ร่วมกัน ๖๒.ถาม สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีกี่ประเภท ตอบ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ ได้ยกตัวอย่างของสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ ๓ ประเภท (แต่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังอาจมีสาธารณสมบัติอื่นของแผ่นดินได้อีก) คือ (๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน (๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่าที่ชายตลิ่งทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ (๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง อาวุธยุทธภัณฑ์ ๖๓.ถาม ทรัพย์สินของเอกชนจะกลายเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร ? ตอบ ทรัพย์สินของเอกชนนั้นอาจกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยที่เอกชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นยกทรัพย์สินของเอกชนให้เป็น ประโยชน์สาธารณะโดยการยกให้อาจมีการยกให้ได้ใน ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะแรก การยกให้โดยชัดแจ้ง เช่น เจ้าของที่ดินยกที่ดิน ให้เพื่อใช้ทำทางสาธารณะ เป็นต้น ลักษณะที่สอง การยกให้โดยปริยาย เช่น ลำรางอยู่ในเขตที่ดินของเจ้าของที่ดิน แม้เจ้าของที่ดินจะไม่ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะ ก็ตาม แต่เมื่อลำรางนี้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรมา หลายสิบปี เจ้าของที่ดินไม่ได้ว่ากล่าวหวงห้ามใด ๆ ในการที่ประชาชน ทั่วไปใช้ลำรางนี้ แสดงว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นลำราง พิพาทนี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว แม้จะไม่ได้แก้โฉนด ที่ดิน ลำรางก็เป็นลำรางสาธารณะ (คำพิพากษาฎีกา ๓๔๓ – ๓๔๔/๒๕o๘) ๖๔.ถาม นายอุดรได้ทำหนังสือยกที่ดินเพื่อให้ใช้ทำเป็นทางสาธารณะทั้งแปลงแต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนยกให้ ต่อมาภริยาของนายอุดรได้ด่าว่านาย อุดรที่ยกที่ดินให้ทำทางสาธารณะ แทนที่จะขายได้เงินมาใช้ ทำให้ นายอุดรจำต้องหาทางเพื่อเอาที่ดินดังกล่าวคืน นายอุดรมาปรึกษาท่าน ขอให้ท่านให้คำแนะนำแก่นายอุดร ตอบ ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำว่า ทรัพย์สินของเอกชนอาจเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินได้ โดยการที่เอกชนยกให้แผ่นดิน การที่เอกชนยกทรัพย์สินให้ แก่แผ่นดินนี้ ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินประเภทที่กฎหมายกำหนด แบบในการโอนไว้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ซึ่งปกติต้องทำเป็นหนังสือและ จดทะเบียน การยกทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินนี้ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนก็สมบูรณ์ เพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพื่อยกให้ ทรัพย์สินกลับคืนเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อนายอุดรได้ยกที่ดินแก่ แผ่นดินแล้ว แม้การยกให้ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒๕ นายอุดรก็ ไม่อาจอ้างได้ว่าการยกให้ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามแบบ เช่นนี้ แล้วนายอุดรไม่อาจเอาคืนซึ่งที่ดินที่ยกให้แก่สาธารณะแล้วได้ (คำพิพากษาฎีกา ๗๖๓๘/๒๕๓๘) ๖๕.ถาม ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น แตกต่างจากที่งอกริมตลิ่งอย่างไร ? ตอบ ที่ชายตลิ่งต่างจากที่งอกริมตลิ่ง ตามมาตรา ๑๓๐๔ ตรงที่ที่งอกริมตลิ่งเป็นที่งอกไปจากตลิ่งซึ่งเวลาน้ำขึ้นตามปกติท่วมไม่ถึงแต่ที่งอกริมตลิ่ง อาจเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ถ้าที่งอกริมตลิ่งนั้นงอกไปจาก สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ๖๖.ถาม ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินธรรมดาของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญที่ต่างไปจากทรัพย์สินของเอกชนอย่างไร ตอบ ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินธรรมดาของแผ่นดิน ย่อมสามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้เหมือนทรัพย์สินของเอกชนทั่วไป เว้นแต่ กฎหมายมาตรา ๑๓๐๗ กำหนดห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินนำมาชำระหนี้ หรือ เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษามีข้อสังเกตว่าเจ้าหนี้สามารถฟ้องหน่วย งานของรัฐเป็นจำเลยในคดีแพ่งได้ เพียงแต่เมื่อชนะคดีแล้ว ไม่อาจร้อง ขอให้มีการยึดทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐนั้นเหมือนลูกหนี้ที่เป็นเอกชน ทั่วไป แต่ต้องรอให้หน่วยงานของรัฐตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ตาม คำพิพากษา ๖๗.ถาม ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญในทางกฎหมายอย่างไร ตอบ ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญในทางกฎ หมาย ๓ ประการ คือ (๑) สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ด้วยวิธีการ เช่นเดียวกับทรัพย์สินของเอกชน (มาตรา ๑๓๐๕) เว้นแต่อาศัยกฎ หมายหรือพระราชกฤษฎีกา (๒) สาธารณสมบัติของแผ่นดินบุคคลจะยกอายุความขึ้นเป็น ข้อต่อสู้กับแผ่นดินไม่ได้ (มาตรา ๑๓๐๖) กล่าวคือ บุคคลจะอ้างการ ครอบครองปรปักษ์เหนือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ไม่ว่าจะครอบครองเป็นระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม (๓) ห้ามมิให้ยึดสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (มาตรา ๑๓๐๗) ๖๘.ถาม ตามกฎหมายได้กำหนด ในการโอนสมบัติของแผ่นดินไว้อย่างไร ตอบ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การโอน สาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ดังนี้ ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่ได้ หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมือง อาจถูกถอน สภาพหรือโอนไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือนำไปจัดเพื่อประโยชน์ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจัดหาที่ดินมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว การถอน สภาพหรือการโอนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าพลเมืองได้เลิก ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็น ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตาม อำนาจกฎหมายอื่นแล้วการถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา (๒) ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้ หรือไม่ต้องการหวงห้ามหรือสงวนต่อไป เมื่อ ได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้ แต่ถ้าจะ โอนต่อไปยังเอกชนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าจะนำไปจัด เพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่นให้กระทำ โดยพระราชกฤษฎีกา ๖๙.ถาม นายฟ้าได้เข้าครอบครองปลูกพืชบนที่ดินสาธารณะอยู่ก่อน ต่อมานายเหลืองได้เข้าไปไถพืชที่นายฟ้าปลูกไว้จนได้รับความเสียหาย เช่น นี้ นายฟ้าจะฟ้องห้ามมิให้นายเหลืองเข้กรบกวนการครอบครองและเรียกค่าเสียหายจากนายเหลืองได้หรือไม่ ตอบ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เอกชนย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง กล่าวคือ จะใช้กล่าวอ้างยันต่อรัฐไม่ได้ แต่ระหว่างเอกชน ด้วยกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฉะนั้น ผู้ใดใช้ (ครอบครอง) อยู่ก่อน ผู้นั้นมีสิทธิดีกว่า โดยถือเอาการใช้สอยในความเป็นจริงเป็นตัวชี้ เมื่อตามข้อเท็จจริงนายฟ้าได้เป็นผู้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ ในที่สาธารณะแปลงนี้ก่อนนายเหลือง นายฟ้าย่อมมีสิทธิดีกว่านาย เหลือง เมื่อนายเหลืองเข้าไปไถพืชไร่ที่นายฟ้าปลูกไว้ ทำให้นายฟ้าได้ รับความเสียหาย นายฟ้าจึงมีสิทธิฟ้องห้ามมิให้จำเลยเข้ารบกวนการ ครอบครองที่พิพาท ตามมาตรา ๑๓๗๔, ๒๓๗๕ และเรียกค่าเสียหาย จากนายเหลือง ตามมาตรา ๔๒๐ ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๒๒๖๖/๒๕๓๗) ๗๐.ถาม นายเสนาะเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำสาธารณะที่ดินดังกล่าวมีที่ชายตลิ่งต่อออกมาจากที่ดินของนายเสนาะ นาย เสนาะได้ทำสัญญาให้นายสนั่นเช่าที่ชายตลิ่งเพื่อขายของ ต่อมานายสนั่นไม่ยอมชำระค่าเช่า นายเสนาะจึงได้ฟ้องขับไล่นายสนั่น โดย อ้างว่านายสนั่นผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า ส่วนนายสนั่นอ้างว่า ที่ชาย ตลิ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใครครอบครองคนนั้นมีสิทธิดีกว่า เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ การที่กฎหมายห้ามโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น มุ่งหมายถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิใด ๆ ที่จะทะให้ทรัพย์สินหลุดไปจาก สาธารณประโยชน์หรือการใช้ร่วมกัน ดังนั้น การที่เอกชนผู้ครอบครอง สาธารณสมบัติของแผ่นดินทะสัญญาให้เช่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการทะเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชน จึงต้องห้าม สัญญาเช่าตกเป็นโมฆะ ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่ใช้สอย (ผู้เช่า) ผู้เข้าใช้สอยจึงมีสิทธิดีกว่า ที่ชายตลิ่งตามโจทย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน นาย เสนาะจึงไม่มีสิทธินำที่ชายตลิ่งไปให้นายสนั่นเช่าสัญญาเช่าต้องห้าม ตามกฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ นายเสนาะจึงไม่มีสิทธิ ฟ้องขับไล่นายสนั่น นายสนั่นซึ่งเข้าใช้สอยที่ชายตลิ่งจึงมีสิทธิดีกว่า (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๕๒๗ - ๕๓๐/๒๕๒๐) ๗๑.ถาม นายเขียวได้สร้างบ้านบนที่ดินของตนเองจนแล้วเสร็จ ต่อมาได้ต่อเติมบ้านออกไป ทำให้ส่วนที่ต่อเดิมนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายม่วง โดยนายเขียวเข้าใจโดยสุจริตว่าบ้านส่วนที่ต่อเติมนั้นอยู่ในที่ดินของ ตนเอง ต่อมานายม่วงได้เรียกร้องให้นายเขียวซื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออก ไป ในขณะเดียวกันนายเขียวก็เรียกร้องให้นายม่วงจดทะเบียนภาระ จำยอมในบ้านส่วนที่รุกล้ำโดยอ้างว่าเป็นการสร้างบ้านรุกล้ำโดยสุจริตให้วินิจฉัยว่าข้อพิพาทข้างต้นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายใด ตอบ บทบัญญัติมาตรา ๑๓๑๒ ใช้ในกรณีมีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำ หากเป็นกรณีต่อเติมโรงเรือนแล้วส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๑๒ ได้ และจะใช้มาตรา ๑๓๑๒ ในฐานะกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ไม่ได้ เมื่อตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้เป็นการต่อเติมแล้วรุกล้ำ แม้ นายเขียวจะสุจริตก็ไม่อาจกล่าวอ้างมาตรา ๑๓๑๒ ได้ ส่งผลทำให้ นายเขียวต้องรื้อบ้านที่ต่อเติมในส่วนที่รุกล้ำออกจากที่ดินของนายม่วง การสร้างสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ หรือธัญชาติในที่ดินของตน ด้วยสัมภาระของผู้อื่น (มาตรา ๑๓๑๕) ๗๒.ถาม นายทองได้นำไม้ของนายเงินจำนวน ๑๐๐ ท่อน มูลค่า ๕ หมื่นบาทมาสร้างบ้านเรือนไทยในที่ดินของนายทอง โดยนายเงินไม่ได้อนุญาต ต่อมานายเงินรู้เรื่องเข้าจึงได้ฟ้องเรียกให้นายทองคืนไม้ทั้ง ๑๐๐ ท่อน เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร ตอบ กรณีนี้เป็นเรื่องการสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของตนด้วยสัมภาระของผู้อื่น ตามมาตรา ๑๓๑๕ ซึ่งวางหลักไว้ว่า บุคคลใดสร้างโรงเรือน หรือ ทำการก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งติดที่ดิน หรือเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติ ในที่ดินของตนด้วยสัมภาระของผู้อื่น บุคคลนั้นเป็นเจ้าของสัมภาระ แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ ตามข้อเท็จจริงในโจทย์ ไม้เป็นของนายเงิน แต่นายทองได้นำมาสร้างบ้านบนที่ดินของตน กรณีต้องด้วยมาตรา ๑๓๑๕ นายเงิน ไม่อาจจะเรียกให้คืนไม้ทั้ง ๑๐๐ ท่อนได้ แต่นายเงินมีสิทธิได้ค่า สัมภาระมูลค่า ๕ หมื่นบาทจากนายทอง (คำพิพากษาฎีกา ๔๒๑/๒๔๙๖) การนําสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเป็นส่วนควบ ๗๓.ถาม กรณีที่นําสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเป็นส่วนควบกฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง ตอบ มาตรา ๑๓๑๖ ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ ๒ ประการ คือ (๑) กรณีเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากัน จนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้แล้วบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวม แห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนใน เวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น (๒) กรณีมีทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันนั้นเพียงผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น แดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ ๗๔. ถาม อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายประการใด ตอบ ตามมาตรา ๑๓๓๖ อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิ์เด็ดขาด ถาวรไม่สูญสิ้นไปเพราะการไม่ใช้ สามารถจำแนกอำนาจออกได้เป็น ๕ ประการ คือ (๑) อำนาจใช้สอย (๒) อำนาจจำหน่าย (๓) อำนาจได้ดอกผล (๔) อำนาจติดตามเอาคืน (๕) อำนาจขัดขวาง ๗๕.ถาม นายเป็ดบอกกับนายไก่ว่า ขอฝากพัดลมไว้ ๒ อาทิตย์แล้วจะมาเอาคืน ระหว่าง ๒ อาทิตย์นั้น นายห่านเพื่อนบ้านของนายไก่ทำพัดลม เสียจึงมาขอยืมพัดลมที่นายเป็ดฝากไว้ไปใช้แก้ขัดก่อน นายไก่ก็ อนุญาตให้นายห่านยืมพัดลมไป เมื่อนายเป็ดทราบเรื่องเข้าจึงรู้สึก ไม่พอใจเป็นอันมาก ประกอบกับเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับนายห่านอยู่ก่อนแล้ว นายเป็ดจึงรีบไปทวงพัดลมคืนจากนายห่านทันที แต่นาย ห่านไม่ยอมคืนพัดลมให้โดยอ้างว่าตนยืมมาจากนายไก่ ให้นายเป็ด ไปเรียกคืนจากนายไก่เอง ให้ท่านในฐานะที่เป็นทนายความของนายเป็ด จะให้คำแนะนำนายเป็ดในกรณีเช่นว่านี้ประการใด ตอบ กรณียืมทรัพย์ของผู้อื่นไปจากผู้รับฝากไว้นั้น โดยเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เจ้าของที่แท้จริงย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติด ตามทรัพย์นั้นคืนจากผู้ยืมได้โดยตรง โดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา ๑๓๓๖ (คำพิพากษาฎีกา ๕๒/๒๔๙๑) ๗๖.ถาม นายเล็กเช่ารถจักรยานจากนายใหญ่ หลังจากนั้นนายเล็กนำจักรยานคันดังกล่าวไปจำนำกับนายกลางผู้รับจำนำ โดยนายใหญ่มิได้รู้เห็น ยินยอมด้วย พอนายใหญ่ทราบจึงได้ทวงถามนายกลางเพื่อให้คืนรถ จักรยานให้แก่ตน นายกลางกลับปฏิเสธว่าตนรับจำนำจากนายเล็ก โดยสุจริต ไม่ทราบมาก่อนว่าจักรยานคันดังกล่าวเป็นของนายใหญ่ นายใหญ่จึงมาปรึกษาท่านในฐานะทนายความ ท่านจะให้คำแนะนำในกรณีดังกล่าวแก่นายใหญ่ประการใด ตอบ กรณีผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่านั้นไปจำนำแก่บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่ามิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ผู้ให้เช่าในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์นั้น สามารถอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในการติดตามเอาทรัพย์นั้นคืน จากผู้รับจำนำได้โดยตรง ผู้รับจำนำไม่มีสิทธิจะยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ ดังนั้นนายใหญ่ย่อมมีอำนาจตามมาตรา ๑๓๓๖ ในการใช้สิทธิติดตาม เอาคืนจากนายกลาง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๑๕/๒๔๙๗) ๗๗.ถาม อำนาจในการติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้มีอายุความหรือไม่ ตอบ กรณีต้องพิจารณาในเบื้องต้นเสียก่อนว่า การฟ้องร้องบังคับตามสิทธินั้นเป็นการฟ้องร้องโดยอาศัยบังคับตามบุคคลสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ เนื่องจากมีกฎหมายวางหลักไว้ว่า การฟ้องคดีบังคับตามบุคคลสิทธิ ในเรื่องหนี้นั้นต้องฟ้องร้องภายในกำหนดอายุความ แต่การฟ้องคดี บังคับตามกรรมสิทธิ์นั้นไม่มีอายุความ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นเรื่องของ สิทธิที่ติดอยู่กับตัวทรัพย์ไปตลอด เรื่องอายุความเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องหนี้โดยเฉพาะ ตามที่มาตรา ๑๙๓/๙ ได้วางหลักไว้ว่า สิทธิ เรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ ๗๘.ถาม นายกุ้ง (ลูกจ้าง) เบียดบังยักยอกรถยนต์ของนายหอยซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นประโยชน์ส่วนตน นายหอยจึงฟ้องร้องเพื่อเรียกให้นายกุ้งคืน รถยนต์หรือหากคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ราคารถยนต์แทน นายกุ้งให้การ ต่อสู้คดีว่านายหอยนำคดีมาฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๑ ปี นับแต่รู้เกี่ยวกับการยักยอกและรู้ตัวผู้ยักยอกแล้วคดีจึงขาดอายุความแล้ว นายหอยไม่มีสิทธิ นำมาฟ้องร้องเป็นคดีเพื่อเรียกคืนตัวทรัพย์ หรือให้ชดใช้ราคาได้อีกท่านในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีของนายกุ้งและนายหอยประการใด ตอบ กรณีดังกล่าวนายหอยฟ้องร้องขอให้นายกุ้งคืนตัวทรัพย์คือรถยนต์ที่ยักยอกไป หรือให้ชดใช้ราคาทรัพย์แทน เป็นการฟ้องร้องเพื่อติดตาม เอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิใน อันที่จะติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งไม่มีกำหนดอายุ ความไม่ใช่กรณีเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด แม้ ล่วงพ้นระยะเวลา ๑ ปีแล้วคดีก็หาขาดอายุความตามมาตรา ๔๔๘ ไม่ ข้อต่อสู้ตามคำให้การของนายกุ้งจึงฟังไม่ขึ้น คดียังไม่ขาดอายุความ ทางจำเป็น ๗๙.ถาม จงอธิบายว่ามีกรณีใดบ้างที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็น ตอบ ตามมาตรา ๑๓๔๙ กําหนดเงื่อนไขว่าหากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งดัง ต่อไปนี้ ทางจำเป็นเกิดขึ้น คือ (๑) ที่ดินแปลงหนึ่งมีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ ทางสาธารณะ (มาตรา ๑๓๔๙ วรรคหนึ่ง) (๒) ที่ดินแปลงหนึ่งมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ไม่สะดวก (มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง) (๓) ที่ดินแปลงหนึ่งมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่มีชันอัน ระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก เหตุทั้งสามประการข้างต้นนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ขัดขวางมิให้ เจ้าของที่ดินออกไปสู่ทางสาธารณะได้หรือยอกได้แต่ไม่สะดวก ถ้ามี ทางออกสู่ทางสาธารณะอย่างสะดวกได้แล้ว ไม่ว่าโดยทางบกหรือทางน้ำ จะขอให้เปิดทางจำเป็นมิได้ ๘๐.ถาม ทางสาธารณะตามมาตรา ๑๓๔๙ มีความหมายว่าอย่างไร ตอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑ ได้ให้นิยามว่า ทางบก ทางน้ำ สำหรับประชาชนใช้ในการสัญจรและให้หมายความรวมถึงทางรถไฟ และทางรถรางที่มีรถเดินสำหรับประชาชนโดยสาร ๘๑.ถาม นาย ก. ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง โดยทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินตาบอด (ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ) ที่ดินของนายก. นั้น ด้านซ้ายติดกับที่ดิน ของนาย ข. ส่วนด้านขวาติดกับที่ดินของนาย ค. และนาย ก. ต้องการ จะผ่านที่ดินของนาย ข. เพื่อออกสู่ทางสาธารณะ นาย ข. ยอมเปิด ทางจำเป็นให้แล้วต่อมานาย ข. ตาย นาย ง. บุตรของนาย ข. เป็น ทายาทรับมรดกที่ดินดังกล่าวจากนาย ข. นาย ง. ไม่ยอมเปิดทางจำเป็นโดยโต้แย้งว่า นาย ก. มิได้จดทะเบียนสิทธิในทางจำเป็น และ นาย ก. ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต คือรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ตาบอดจึงขอเปิด ทางจำเป็นไม่ได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนาย ง. ฟังขึ้นหรือไม่และหากต่อมามีถนนมาตัดผ่านที่ดินของนาย ก. ทำให้ที่ของนาย ก. ติดถนนสาธารณะไป เช่นนี้นาย ก. จะยังขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินของนาย ง. ได้อีกหรือไม่ ตอบ มาตรา ๑๓๔๙ เป็นข้อจำกัดสิทธิตามกฎหมาย แม้มิได้จดทะเบียนสิทธิก็ถือว่านาย ก. สามารถใช้ทางจำเป็นได้โดยอำนาจของกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา ๑๓๔๙ ยังมิได้กำหนดว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูก ล้อมต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต ดังนั้นแม้นาย ก. จะรับโอนที่ดินมา โดยรู้ว่าเป็นที่ตาบอด นาย ก. ก็ไม่เสียสิทธิที่จะขอเปิดทางจำเป็น เช่นนี้ข้อต่อสู้ของนาย ง. จึงฟังไม่ขึ้นทั้ง ๒ ข้อ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๗/๒๕๓๑, ๒๔๕๔/๒๕๓๖, ๑๒๒๔/๒๕๓๙) ทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๔๙ เป็นข้อจำกัดกรรมสิทธิ์จะยังคง มีอยู่ตามความจำเป็นในการออกสู่ทางสาธารณะ หากต่อมาปรากฏ ว่าที่ดินที่ถูกล้อมมีทางออกสู่ทางสาธารณะแล้ว เจ้าของที่ดินตาบอด ย่อมหมดความจำเป็นที่จะขอเปิดทางจำเป็นอีกต่อไป นาย ก. จึงไม่ อาจขอเปิดทางจำ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑ – ๘๑๒/๒๕๔๐) ๘๒.ถาม ให้อธิบายหลักเกณฑ์เรื่องทางจำเป็นกรณีทางจำเป็นนั้นเกิดขึ้นจากการแบ่งแยกที่ดิน ตอบ ตามมาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า (๑) ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มี ทางออกไปสู่สาธารณะได้ (๒) เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้ เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน (๓) โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนแต่อย่างไร ๘๓.ถาม นายเอเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งทางทิศตะวันออกของที่ดินติดกับถนนสาธารณะ ต่อมานายปีได้โอนที่ดินให้นายเอ ที่ดินแปลงนี้อยู่ ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินแปลงเดิมของนายเอ และเป็นที่ดินซึ่ง ถูกที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นของนายซีล้อมรอบทุกด้านไม่มีทางออกสู่ถนน สาธารณะได้ หลังจากนั้น ๓ เดือนนายเอได้โอนขายที่ดินแปลงที่ได้ รับโอนมาจากนายปีให้แก่นายดี นายดีได้รับโอนที่ดินมาแล้วจึงพบว่า ที่ดินของตนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเลย นายดีจึงมาปรึกษาท่านว่าตนมีสิทธิจะเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ประการใด ตอบ มาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ดังนั้น กรณีที่ดินหลายแปลงติดกัน แต่เป็นของเจ้าของรายเดียวกันนั้น ถ้ามีการโอนที่ดินอัน ทำให้ที่ดินถูกล้อมรอบกรณีนี้ไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๓๕๐ เพราะมาตรา ๑๓๕๐ ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดียวแล้วมีการแบ่งแยกทำที่ดิน แปลงที่ถูกแบ่งแยกไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อนายเอได้รับโอน ที่ดินมาอีกแปลงหนึ่ง แม้ที่ดินที่ได้รับโอนมาใหม่จะมีเขตใดติดต่อกับ ที่ดินแปลงเดิมก็ย่อมต้องถือว่าเป็นที่ดินคนละแปลง ฉะนั้นเมื่อโอน ขายที่ดินแปลงที่ได้รับโอนมาภายหลังแก่นายดีไปทั้งแปลง ดังนี้จะ ถือว่าเป็นที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจากที่ดินแปลงเดิมของเจ้าของ ตามมาตรา ๑๓๕๐ ไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินต่างแปลงกันมาแต่เดิม เมื่อ ปรากฏว่าที่ดินแปลงหลังถูกล้อมรอบไม่มีทางออกต้องบังคับด้วย มาตรา ๑๓๔๙ ดังนั้นนายดีย่อมสามารถเรียกร้องให้นายเอหรือนาย ซีคนใดคนหนึ่งเปิดทางจำเป็นให้แก่ตนได้ ทั้งนี้ต้องชดใช้ค่าทดแทน ทางจำเป็นดังกล่าวด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๗/๒๔๙๓) ๘๔.ถาม นางสำลีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ต่อมาได้แบ่งขายที่ดินครึ่งหนึ่งในส่วนที่ติดกับทางสาธารณะให้แก่นางนิล ทำให้ที่ดินที่เหลืออีกครึ่ง หนึ่งของนางสำลีไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนางนิลได้ทำถนนขึ้นใน ที่ดินส่วนหนึ่งของตนเพื่อเป็นทางสัญจรเข้าออกระหว่างทางสาธารณะ เชื่อมถึงที่ดินของนางสำลีและยกถนนดังกล่าวให้กับเทศบาลไปแล้ว นางสำลีมาร้องขอต่อศาลให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของนางนิลโดย อ้างสิทธิตามมาตรา ๑๓๕๐ ท่านในฐานะที่เป็นศาลจะสั่งเปิดทาง จำเป็นให้แก่นางสำลีหรือไม่ และหากนางนิลมิได้ทำถนนบนที่ดิน ของตนเพื่อเชื่อมกับถนนสาธารณะ และที่ดินของนางนิลไม่มีส่วนใด เลยที่ติดกับทางสาธารณะ แต่ต้องผ่านที่ดินของนางกระพงอีกที่หนึ่ง จึงจะออกสู่ทางสาธารณะได้ เช่นนี้ นางสำลีจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินของนางนิลและนางกระพงต่อศาลในคดีเดียวกันได้หรือไม่ ตอบ มาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า เมื่อแบ่งแยกที่ดินจนเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเจ้าของที่ดินนั้นเรียกให้เปิดทาง จำเป็นได้เฉพาะแต่ในที่ดินที่แบ่งแยกออกมาเท่านั้น แม้ขณะแบ่ง แยกที่ดินไม่มีทางออกสู่สาธารณะก็ตาม แต่ภายหลังสามารถออกสู่ ทางสาธารณะได้ เพราะทำถนนขึ้นบนที่ดินเองเป็นทางเชื่อมเข้าออก สู่ทางสาธารณะ ก็ไม่มีเหตุจะขอเปิดทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๕๐ อีกต่อไป เช่นนี้ นางสำลีจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินที่ถูกแบ่ง ออกมาของนางนิลตามมาตรา ๑๓๕๐ มิได้ มาตรา ๑๓.๕๐ นั้นมิได้วางหลักว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมตรงสู่ ทางสาธารณะโดยตรงไม่หากทางจำเป็นนั้นต้องผ่านที่ดินหลายแปลง ก็สามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินเหล่านั้นได้ ดังนั้นนางสำลีสามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของนางนิลและนางกระพงเพื่อออก สู่ทางสาธารณะได้ แต่นางสำลีจะบังคับนางกระพงซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนี้มิได้ เพราะขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ นางสำลีต้องไปฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหาก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๓๖/๒๕๓๗) ๘๕.ถาม นายกุ้งเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ด้านขวาติดถนนสาธารณะ นายกุ้งแบ่งขายที่ดินเป็น ๒ แปลงย่อย ด้านซ้ายให้นายกิ่ง ด้านขวาให้นาย ปู นายทั้งแบ่งที่ดินออกเป็น ๒ ส่วน ด้ายซ้ายนายทั้งปลูกบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินนั้นเอง ส่วนด้านขวาที่ติดกับที่ดินของนายปูขายให้นาย ปลา นายกังจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินแปลงใดได้บ้าง และมีหลักเกณฑ์ในการขอเปิดทางจำเป็นอย่างไรในแต่ละกรณี ตอบ ที่ดินแปลงใหญ่เมื่อแบ่งเป็นที่ดินขนาดกลาง ๒ แปลง และที่ดินขนาดกลางแบ่งเป็นที่ดินย่อย ๒ แปลง ที่ดินแปลงย่อยไม่มีทางออกสู่ทาง สาธารณะ จะขอเปิดทางจำเป็นได้เฉพาะเหนือที่ดินแปลงที่มีการแบ่ง แยกครั้งหลังสุดเท่านั้น เพราะมาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่าเฉพาะ การแบ่งแยกที่ดินแปลงหนึ่งทําให้ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไม่มีทางออก สู่ทางสาธารณะเท่านั้น เช่นนี้นายทั้งแบ่งที่ดินครั้งสุดท้ายให้นายปลา นายทั้งสามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินนายปลาได้โดยไม่ต้อง ชดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๓๕๐ ได้ และขอเปิดทางจําเป็นผ่านที่ดิน นายปูซึ่งมิใช่ที่ดินที่แบ่งออกครั้งหลังสุด จึงต้องชดใช้ค่าทดแทนใน การขอเปิดทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๔๙ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๖/ ๒๕๓๓ และ ๗๙๗๖/๒๕๔๓) ๘๖.ถาม โปรดอธิบายความแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับทางภาระจำยอมมาโดยละเอียด ตอบ ทางจำเป็นแตกต่างกับทางภาระจำยอมหลายประการดังต่อไปนี้ (๑) ทางจำเป็นเป็นข้อจำกัดสิทธิ โดยมีกฎหมายกำหนดไว้ การ ได้มาซึ่งทางจำเป็นเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมายจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแต่อย่างใด สวนทางภาระจำยอมนั้นไม่ว่า จะเป็นการได้มาโดยนิติกรรมหรืออายุความ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ทำ เป็นหนังสือและจดทะเบียน (๒) ทางจำเป็นต้องใช้อาศัยออกสู่ทางสาธารณะอย่างเดียว แต่ทางภาระจำยอมจะอาศัยออกไปยังที่แห่งใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้อง ออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น (๓) การได้มาซึ่งทางจำเป็นแม้ผู้มีสิทธิผ่านทางจะเดินผ่านนาน เพียงใดก็ไม่กลายเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความได้เพราะ การผ่านทางจำเป็นนั้นเป็นการผ่านโดยเคารพรับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของ ที่ที่ผู้มีสิทธิใช้ผ่านทางเดินนั้น ในขณะที่การได้มาซึ่งทางภาระจำยอม โดยอายุความนั้นการเดินผ่านต้องเดินแบบปรปักษ์ (๔) ทางจำเป็นโดยหลักต้องมีการจ่ายค่าทดแทนเสมอ แต่ทางภาระจำยอมนั้นจะมีค่าทดแทน หรือไม่ก็ได้ (๕) ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้เมื่อที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออก สู่ทางสาธารณะ ถ้าต่อมาที่ดินแปลงนั้นมีทางออกสู่สาธารณะ ความ จำเป็นในการใช้ทางจำเป็นย่อมหมดสิ้นลง ข้อจำกัดกรรมสิทธิ์เกี่ยว กับทางจำเป็นย่อมหมดสิ้นไป ส่วนทางภาระจำยอมนั้นหากได้มาโดย นิติกรรม จะเลิกกันได้ต้องมีการตกลงกัน หากได้มาโดยอายุความจ้า มิได้ใช้เป็นเวลา ๑๐ ปีย่อมสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน (๖) ทางจำเป็นหากเจ้าของที่ดินที่ถูกจำกัดกรรมสิทธิ์ตกลงให้ จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมมีกำหนด เวลาแน่นอนก็ได้ และทาง จำเป็นนั้นก็จะกลายเป็นทางภายใต้ภาระจำยอมไป กรรมสิทธิ์รวม ๘๗.ถาม โปรดอธิบายหลักเกณฑ์ตามกฎหมายในเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวม ตอบ ตามมาตรา ๑๓๕๔ มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันในระหว่างบรรดาเจ้าของรวม เจ้าของรวมแต่ละคนนั้นจะมีอำนาจ จัดการทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมเพียงใด แยกพิจารณาได้ ๓ กรณีคือ (๑) การจัดการตามธรรมดา ทำได้โดยคะแนนเสียงข้างมาก ของเจ้าของรวมทุกคน แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งอาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงเป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทำเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ (๒) การจัดการอันเป็นสาระสำคัญทำได้โดยคะแนนเสียงข้าง มากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนเสียงข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่า ครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน (๓) การจัดการอันเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ กระทำได้เมื่อ เจ้าของรวมทุกคนเห็นชอบด้วยเท่านั้น สิทธิครอบครอง ๘๘.ถาม สิทธิครอบครองเป็นทรัพยสิทธิหรือไม่ เพราะเหตุใด ตอบ มาตรา ๑๓๖๗ ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิครอบครองไว้อย่างชัดเจนประกอบกับกฎหมายยังกำหนดถึงอำนาจของสิทธิครอบครอง ไว้ทำนองเดียวกับทรัพยสิทธิประเภทอื่นโดยในมาตรา ๑๓๗๔ กำหนด ให้อํานาจผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนการครอบครองจากผู้ไม่มีสิทธิ ดีกว่าตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขอบอำนาจแห่งสิทธิครอบครองที่เป็น สิทธิเหนือทรัพย์สินใช้ยันบุคคลได้ทั่วไปโดยไม่จำกัด อันเป็นลักษณะ จำเพาะของทรัพยสิทธิ ๘๙.ถาม จงอธิบายความแตกต่างของสิทธิครอบครองกับสิทธิประเภทอื่น ๆ ตอบ สิทธิครอบครองแตกต่างจากสิทธิประเภทอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) การเกิดแห่งสิทธิ สิทธิประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วยความ รับรองตามกฎหมาย ถือว่าเป็นสิทธิอันได้มาตามกฎหมาย กล่าวคือ การได้รับโอนสิทธิมาต้องชอบด้วยกฎหมาย แต่สิทธิครอบครองอาจ เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ เพราะสิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่ได้มาโดยการยึดถือตามข้อเท็จจริง (๒) สิทธิประเภทอื่น - ผู้ทรงสามารถกล่าวอ้างอำนาจแห่งทรัพยสิทธิต่อบุคคลใด ๆ ก็ได้ แม้จะอยู่เฉย ๆ ยังไม่มีใครมารบกวนก็ตาม แต่สิทธิครอบครอง หากอยู่เฉย ๆ ยังไม่มีบุคคลใดมารบกวนจะอ้างว่า มีสิทธิครอบครองมิได้ เมื่อถูกรบกวนหรือแย่งการครอบครอง จึงจะมี สิทธิฟ้องร้องขอให้ระงับหรือเรียกคืนมาได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๔ และมาตรา ๑๓๗๕ (๓) การระงับแห่งสิทธิ ทรัพยสิทธิอื่นเกิดขึ้นโดยกฎหมาย รับรองจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นเลิกรับรอง หรืออาจมีอยู่ได้เพียง เท่าที่ผู้มีสิทธิได้กำหนดให้ไว้ แต่สิทธิครอบครองเกิดขึ้นโดยอาศัยการ ครอบครองยึดถือตามข้อเท็จจริง ตราบใดที่ยังคงมีเจตนายึดถือเพื่อ ตนอยู่สิทธิครอบครองก็มีอยู่ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด หากเมื่อใดเหตุ การณ์ยึดถือเพื่อตนสิ้นสุดไป สิทธิครอบครองก็สิ้นสุดไปด้วยในขณะ เดียวกัน ๙๐.ถาม การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ตอบ การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองมี ๒ ประเภท ได้แก่ (๑) การได้มาโดยทางนิติกรรม (๑.๑) การโอนโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง (๑.๒) การโอนกรณีผู้รับโอนยึดถือทรัพย์สินนั้นอยู่แล้ว (๑.๓) การโอนในกรณีผู้โอนแสดงเจตนาจะยึดถือทรัพย์สิน นั้นแทนผู้รับโอน (๒) การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม (๒.๑) การได้มาโดยการครอบครองของตนเอง (๒.๒) การได้มาด้วยการที่ผู้อื่นยึดถือไว้ ๙๑.ถาม สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗ เป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยความผิด อาญาฐานใดบ้าง ให้อธิบายมาพอสังเขป ตอบ (๑) ความผิดฐานลักทรัพย์ (ปอ. มาตรา ๓๓๔) ต้องเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์จากการครอบครองของผู้ครอบครอง โดยที่ผู้ครอบครองทรัพย์ นั้นไม่ยินยอม (๒) ความผิดฐานฉ้อโกง (ปอ. มาตรา ๓๔๑) ต้องเป็นการหลอกลวง ทำให้ผู้ครอบครองยอมส่งมอบทรัพย์ให้ (๓) ความผิดฐานยักยอก (ปอ. มาตรา ๓๕๒) ต้องเป็นกรณีมีการ ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้เบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต ๙๒.ถาม นายแดงและนายดำโดยสารไปในเรือลำเดียวกัน ระหว่างทางนายแดงปวดท้องจึงฝากกระเป๋าให้นายดำถือไว้แล้วไปเข้าห้องน้ำที่ท้ายเรือ นายดำบังอาจเปิดกระเป๋าและเอาธนบัตรในกระเป๋าไป นายดำมีความผิดอาญาฐานใด ตอบ มาตรา ๑๓๖๗ วางหลักไว้ว่า ผู้ใดยึดถือทรัพย์โดยเจตนายึดถือเพื่อตนผู้นั้นได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง การที่นายแดงฝากกระเป๋าให้นายดำ ช่วยดูแลเพื่อไปเข้าห้องน้ำ เป็นการฝากเพียงชั่วคราวมิได้แสดงเจตนา สละการครอบครอง ถือว่านายดำครอบครองแทนนายแดง นายดำ มิได้เจตนายึดถือกระเป๋าเพื่อตนเอง เมื่อนายดำเอาธนบัตรไปจึงมี ความ ผิดฐานลักทรัพย์ หาได้มีความผิดฐานยักยอกไม่ (คำพิพากษา ฎีกาที่ ๑๗๙/๒๕๐๗) ๙๓.ถาม นางเอ๋เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง นางอ้อยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินของนางเอ๋ เมื่อนางเอ๋แจ้งให้นางอ้อยรื้อถอนบ้านออกไป นางอ้อยกลับโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่บนเขตทางหลวง และไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไป จนเวลาผ่านไป ๑ ปี ๑ วัน นางเอ๋จึงมาฟ้องร้อง ต่อศาลเพื่อเรียกที่ดินคืนจากนางอ้อย หากท่านเป็นศาล ท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร ตอบ มาตรา ๑๓๗๕ วางหลักไว้ว่า บุคคลใดถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายบุคคลนั้นมีสิทธิได้คืนซึ่งการครอบครอง แต่การฟ้อง เรียกคืนต้องกระทำภายใน ๑ ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง กรณี นางอ้อยโต้แย้งว่าที่ดินอยู่บนเขตทางหลวงและไม่ยอมรื้อถอนบ้าน ออกไปนั้นมิใช่การแสดงเจตนายึดถือเพื่อตนเอง จึงมิใช่การแย่งการ ครอบครอง เช่นนี้นางเอ๋สามารถเรียกที่ดินคืนได้แม้ว่าได้ล่วงพ้นเกิน ๑ ปีไปแล้วก็ตาม เพราะกรณีไม่ใช่การเรียกคืนเนื่องจากถูกแย่งการ ครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ แต่ประการใด (คําพิพากษาฎีกา ๕๔๓/๒๕๒๓) ครอบครองปรปักษ์ ๙๔.ถาม อายุความได้สิทธิต่างจากอายุความเสียสิทธิอย่างไร จงอธิบายมาพอสังเขป ตอบ ข้อแตกต่างระหว่างอายุความได้สิทธิกับอายุความเสียสิทธิ มีดัง ต่อไปนี้ (๑) อายุความได้สิทธิพิจารณาด้านตัวบุคคลที่จะได้สิทธิเป็นสำคัญ ต้องครอบครองทรัพย์ติดต่อกันจนครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ได้ถือการที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ละทิ้งทรัพย์ตนเป็น เวลานานเท่าใดเป็นเกณฑ์ เพราะกรรมสิทธิ์ไม่สูญสิ้นไปเพราะการ ไม่ใช้กรรมสิทธิ์/ ส่วนเรื่องอายุความเสียสิทธินั้นถือเอากำหนดเวลาที่ เจ้าหนี้ละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ทำให้ลูกหนี้ยกเรื่องอายุความ เป็นข้อต่อสู้จนเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ (๒) อายุความได้สิทธิ์เป็นเรื่องการใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ติดต่อ กัน แต่อายุความเสียสิทธิเป็นการเสียสิทธิไปเพราะไม่ใช้ในเวลาที่กำหนด (๓) อายุความเสียสิทธิตามมาตรา ๑๙๓/๒๙ หมายถึงแต่เฉพาะอายุความเสียสิทธิเท่านั้น ซึ่งหากคู่ความไม่ยกอายุความขึ้น ต่อสู้ ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองมิได้ แต่อายุความได้สิทธิจะนำมาตรา ๑๙๓/๒๙ มาใช้ไม่ได้ เพราะมิใช่อายุความฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิ เรียกร้อง ผลจึงเป็นว่าหากไม่ครบกำหนดเวลาได้สิทธิ แต่ไม่มีการยก ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ๙๕.ถาม นายเอ นายบี และนายซีเป็นเจ้าของร้านในที่ดินมีโฉนดผืนหนึ่ง ซึ่งยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่นายบีและนายซีมิได้ เข้าอยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าว คงมีแต่นายเออาศัยและทำกินเหนือ ที่ดินดังกล่าวเพียงผู้เดียวตลอดมา จนครบกำหนดระยะเวลา ๑๐ ปี เช่นนี้นายเอสามารถกล่าวอ้างได้หรือไม่ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ เหนือที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักไว้เกี่ยวกับการครอบครองว่า ต้องเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น กรณีนายเอครอบครองที่ดินดังกล่าวต้องถือว่าเป็นกรณีครอบครองแทนเจ้าของ ร่วมทุกคน นายเอถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมคนหนึ่งเท่านั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดย เจตนาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่ เช่นนี้ ข้อกล่าวอ้างของนายเอจึงสับฟังไม่ได้) (คำพิพากษาฎีกา ๑๕๗๔/ ๒๕๐๖) ๙๖.ถาม นายดินดูรอบครองที่ราชพัสดุผืนหนึ่งซึ่งเป็นที่ส่วนของจังหวัด เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสวนยางของโรงเรียนเกษตรกรรมประจำจังหวัด นายดิน ได้เข้าครอบครองที่ดังกล่าวเป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี นายดินสามารถ ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่ และหากที่ดินที่นายดินครอบครอง เป็นส่วนหนึ่งของวัด นายดินจะอ้างการครอบครองเหนือที่ดังกล่าวได้หรือไม่ ตอบ ทรัพย์สินที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังเช่นที่ราชพัสดุนี้ ตามมาตรา๑๓๐๖ ห้ามมิให้ยกอายุความได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒ ขึ้นต่อสู้รัฐ แม้การครอบครองจะมีเจตนาเป็นเจ้าของ โดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปีก็ตาม นายดินผู้ซึ่งครอบ ครองที่ดังกล่าวจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันต่อรัฐได้ (คำพิพากษาฎีกา ๔๕๙/๒๕๒๒) ที่ดินของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ วางหลักไว้ว่า ห้ามบุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดในเรื่อง ทรัพย์สิน อันเป็นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น แม้นายดินจะครอบ ครองเป็นเวลานานเกิน ๑๐ ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ปรปักษ์ไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่๑๒๖๕/๒๔๙๕, ๘๔๓/๒๔๘๗ และ ๑๒๘๘/๒๕๑๓) ๙๗.ถาม นายใหญ่ซื้อที่ดินมีโฉนดใส่ชื่อ “นายกลาง” บุตรของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วส่งนายกลางไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนนายใหญ่ครอบครองที่ดินตลอดมา ต่อมานายใหญ่เข้าใจว่านาย ก ๆ ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งนายกลางถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ที่ ต่างประเทศปี ๒๕๔๕ นายใหญ่ครอบครองที่ดินต่อมาจนปี ๒๕๕๐ นายใหญ่จึงร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งแสดงว่านายใหญ่ครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่านายใหญ่มีสิทธิในฐานะผู้ครอบ ครองปรปักษ์หรือไม่ หากนายกลางยังมีทายาท คือนายเล็ก ขณะนาย กลางถึงแก่ความตาย ตอบ มาตรา ๑๓๘๑ วางหลักไว้ว่า การครอบครองแทนผู้อื่นนั้น ผู้ครอบครองจะครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของได้ก็แต่โดยเปลี่ยนลักษณะ แห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของที่แท้จริงว่า ตนไม่เจตนา ยึดถือทรัพย์สินแทนเจ้าของอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดย สุจริต เมื่อนายใหญ่ซื้อที่ดินแล้วใส่ชื่อบุตรคือนายกลาง เท่ากับนาย ใหญ่ครอบครองที่ดินแทนนายกลางตลอดมา และแม้ต่อมานายกลาง ถึงแก่กรรม ที่ดินย่อมตกได้แก่ทายาทคือบุตรของนายกลาง ได้แก่ นายเล็กการที่นายใหญ่ครอบครองที่ดินภายหลังนายกลางถึงแก่กรรม โดยที่ไม่บอกกล่าวไปยังทายาทของนายกลาง คือ นายเล็ก เพื่อแสดง เจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองแทนมาเป็นการครอบครองเพื่อ ตนเองถือว่าการครอบครองต่อมาภายหลังนายกลางถึงแก่กรรม เป็น การครอบครองแทนทายาทของนายกลาง คือ นายเล็ก แม้นายใหญ่ จะได้ครอบครองติดต่อกันมาครบ ๑๐ ปีแล้วก็ตามนายใหญ่ก็หาได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ไม่ เพราะ ขาดองค์ประกอบที่ว่าจะต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเอง (คำพิพากษาฎีกา ๒๑๒๘/๒๕๑๘) ๙๘.ถาม นายนิกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดผืนหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แต่เนื่องจากนาย นิก มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายนิกจึงไม่ได้ใช้ ประโยชน์จากที่ดินผืนดังกล่าวเลย ต่อมานายนัทเป็นชาวบ้านอาศัยอยู่ ในจังหวัดราชบุรี ได้เข้าไปใช้ประโยชน์บนที่ดินของนายนิกโดยสร้าง เป็นร้านขายของชำ นายนิกไม่ได้ติดตามดูแลที่ดินของตนจนเวลา ผ่านไป ๖ ปี นายนัทโอนขายที่ดินที่ตนทำเป็นร้านขายของชำนั้นให้นายโน้ต นายโน้ตครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวได้เพียง ๔ ปี นายนิกทราบเรื่องนี้เข้าจึงฟ้องต่อศาลให้ขับไล่นายโน้ตออกจากที่ดินของตน นายโน้ตจะสามารถยกข้อต่อสู้ใดขึ้นต่อสู้นายนิกได้บ้าง ตอบ มาตรา ๑๓๔๒ วางหลักเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ ว่าต้องเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของติด ต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปีจึงจะได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อนายนัทได้เข้าครอบครอง มาแล้วเป็นเวลา ๖ ปี และนายโน้ตครอบครองต่อมาเป็นเวลา ๑๐ ปี นั้น เป็นกรณีที่มีการโอนการครอบครองให้แก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลา ซึ่งผู้โอนเคยครอบครองอยู่ก่อนรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนได้ ดังนั้น ระยะเวลาของนายโน้ต (ผู้รับโอน และนายนัท (ผู้โอน) รวมกัน ได้เวลา ๑๐ ปี นายโน้ตจึงสามารถต่อสู้นายนิกได้ว่าตนได้ครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวแล้ว ไม่จำต้องออกจากที่ดินตามฟ้องของนายนิก (คำพิพากษาฎีกา ๘๓๕/๒๔๗๓) ๙๙.ถาม นายใหม่เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง นายหนึ่งเข้าครอบครองที่ดินของนายใหม่โดยสงบ เปิดเผย ติดต่อ กัน ๙ ปี แต่ในปีที่ ๙ นั้น นายใหม่ได้โอนที่ดินให้นายเก่า ผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบ แทน และนายเก่าก็โอนที่ดินต่อให้นายโบราณอีกทอดหนึ่ง โดยนาย โบราณไม่สุจริตเพราะรู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นของนายใหม่ และนายหนึ่งได้ครอบครองปรปักษ์มาแล้ว ๙ ปี จนบัดนี้นายหนึ่งได้ ครอบครองที่ดินมาได้ ๑๑ ปีแล้ว นายหนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้แสดงว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่ ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต เปิดเผย ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปี และ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง วางหลักเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม หากผู้ครอบครองโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน การครอบครองปรปักษ์ย่อมสิ้นสุดลง ผู้ครอบครองปรปักษ์อย่างนายหนึ่งไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นาย โบราณผู้รับโอนได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ (อย่างนาย หนึ่ง) ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรก (นายเก่า) แม้นายหนึ่งจะครอบครองที่ดินตลอดมา แต่จะนับระยะเวลา ครอบครอง ๙ ปีแรกเข้ามารวมมิได้ เมื่อนายหนึ่งครอบครองต่อมา เพียง ๒ ปี จึงถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อนายโบราณจนครบ เวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘, ๑๐๘๗ - ๑๐๙๐/๒๕๐๑, ๘๖๘/๒๕๑๒ และ ๑๐๑๕/๒๔๘๕) ๑๐๐.ถาม นายนิดหน่อยเป็นเจ้าของที่ดินที่มีข้อบังคับห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ นายเล็กน้อยเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผยในที่ดินของ นายนิดหน่อย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ หลังพ้นกำหนดเวลา ห้ามโอนแล้วนายนิดหน่อยโอนขายที่ดินให้นายเหลือเฟือ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๗ โดยนายเหลือเพื่อเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตเสียค่า ตอบแทน นายเล็กน้อยครอบครองที่ดินต่อมาจนครบ ๑๐ ปี ในปี ๒๕๒๐ นายเล็กน้อยยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์แล้ว นายเหลือเฟือจึงคัดค้านว่านายเล็กน้อย ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะตนรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน หากท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักไว้ว่า ผู้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องมีการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี ที่ดินของ นายนิดหน่อยเป็นที่ดินที่กำหนดระยะเวลาห้ามโอนซึ่งเป็นกรณีที่ทาง ราชการควบคุมที่ดินอยู่มิให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่เอกชนผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นเวลาห้ามโอน ผู้ครอบครอง (นายเล็กน้อย) แม้ครอบครอง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ - ๒๕๑๐ จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์เพราะ จะเอาระยะเวลาที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวม คำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ มิได้ (คำพิพากษาฎีกา ๖๑๙/๒๕๒๕) นอกจากนี้ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ยังได้วางหลักคุ้มครอง ผู้รับโอนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน มิให้ผู้ครอบครองปรปักษ์ต่อสู้ ได้ คือ กรณีนายเหลือเฟือ ผู้รับโอนที่ดินในปี ๒๕๑๗ นั้นระยะเวลา ครอบครองปรปักษ์ของนายเล็กน้อยตั้งแต่กำหนดเวลาห้ามโอน คือ ๒๕๑๐ - ๒๕๑๗ รวมเป็นเวลา ๗ ปี ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้นายเล็กน้อยจะครอบครองที่ดินโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ต่อ มาจนถึงปี ๒๕๒๐ ก็ไม่อาจอ้างสิทธิเพื่อการครอบครองปรปักษ์ได้ เพราะระยะเวลาการครอบครองยังไม่ครบ ๑๐ ปี (คำพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘) .............................................................................. รับพิมพ์เอกสาร 0624988997(ก้อง)
กฎหมายลักษณะทรัพย์สิน
............................................
บทนำ
ทรัพย์เป็นสิ่งที่มีความหมายและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ทรัพย์เป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาเพื่อการบริโภค การใช้สอยในลักษณะต่าง ๆ จึงมีการหวงแหนกีดกันมิให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยื้อแย่ง หากคนอื่นมาเอาไปโดยผู้ที่หวงกันมิได้ยินยอมก็ย่อมจะต้องติดตามเอาคืน และอาจจะกลายเป็นเรื่องที่บาดหมางทะเลาะวิวาทกัน ผู้ที่ปกครองชนเผ่าหรือผู้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องหาทางระงับข้อพิพาท และหาทางป้องกันการพิพาทโดยการออกกฎเกณฑ์หรือออกกฎหมายกำหนดสิทธิ คือ อำนาจแห่งความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือกำหนดให้มีสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะมีทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น สิทธิจำนอง สิทธิเหนือพื้นดิน และภารจำยอม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้มีการอะลุ้มอล่วยพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน
กฎหมายลักษณะทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เด็กทารกที่แรกเกิดก็อาจเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งอาจมีบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ยกให้เป็นการรับขวัญการดำรงชีวิตประจำวันต้องมีการซื้อหาทรัพย์มาบริโภค หรือเพื่อใช้สอยในลักษณะต่างๆเพื่อความสะดวกสบาย หรือเมื่อได้ทรัพย์ต่าง ๆ มาก็ย่อมมีอำนาจหวงกันมิให้คนอื่นมายุ่งเกี่ยว กฎหมายลักษณะทรัพย์จึงมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของคนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังเป็นกฎหมายพื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องศึกษาก่อนที่จะศึกษากฎหมายบางลักษณะบางเรื่อง จึงจะสามารถเข้าใจกฎหมายเหล่านั้นได้ดี
ลักษณะของทรัพย์สิน
ศึกษาประเภทของทรัพย์สิน ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างทรัพย์ เครื่องอุปกรณ์ ดอกผล ตาม
ป.พ.พ. บรรพ ๑ ลักษณะ ๓ ลักษณะและหลักทั่วไปของทรัพยสิทธิ ชนิดของทรัพยสิทธิ ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔ ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างทรัพย์ เครื่องอุปกรณ์และดอกผล
๑) ลักษณะของทรัพย์และทรัพย์สิน
ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๓๗ บัญญัติความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ว่า “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุที่มีรูปร่าง”และ ม. ๑๓๘ บัญญัติความหมายของคำว่า “ทรัพย์สิน” ว่า “ทรัพย์สิน” หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้”
ม. ๑๓๗ ทรัพย์นั้น จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย ส่วน ม.๑๓๘ ทรัพย์สินจะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ รวมทั้งวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย
“มนุษย์” แม้จะมีรูปร่าง แต่ก็ไม่อาจมีราคาซื้อขายกันได้ เพราะ ปอ. ม.๓๑๒ ห้ามเอาคนลงเป็นทาส ห้าม พา ซื้อขาย จำหน่าย รับ หรือหน่วงเหนี่ยวบุคคลไว้ แต่อวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น ผมสตรีที่ตัดไปขาย ย่อมมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์ ดวงตาที่บุคคลขายหรืออุทิศให้โรงพยาบาล เพื่อนำไปเปลี่ยนกับคนไข้ ย่อมมีราคาและถือเอาได้ ย่อมเป็นทรัพย์
ได้เคยมีผู้ทำพินัยกรรมอุทิศศพของตนให้กรมมหาวิยาลัยแพทยศาสตร์ แต่ญาติของผู้ตายได้ฟ้อง กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เรียกศพคืน ได้ยกข้ออ้างเป็นประเด็นในชั้นฎีกาข้อหนึ่งว่าศพไม่ใช่ทรัพย์จึงทำพินัยกรรมมิได้ เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยว่าศพเป็นทรัพย์หรือไม่ เพียงแต่วินิจฉัยว่าพินัยกรรมนั้นใช้ได้ เพราะได้กำหนดการเผื่อตายไว้ในเรื่องอันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย (ฎ. ๑๑๗๔/๒๕๐๘) หรือกรณีที่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้ทำพินัยกรรมเพื่อตายยกศพให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ย่อมมีผลตามพินัยกรรม
ดวงดาว ดวงจันทร์ เมฆบนท้องฟ้า อากาศ ทะเล ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดถือเอาได้ จึงมิใช่ทรัพย์หรือสินทรัพย์ แต่ถ้ามีผู้นำน้ำทะเลมากลั่นให้เป็นน้ำจืดและนำออกขาย หรือนำอากาศมาทำเป็นออกซิเจน ช่วยในการหายใจ หรือนำอากาศมาใช้เติมยางรถยนต์ น้ำทะเล และอากาศก็กลายเป็นสิ่งมีราคาและถือเอาได้ทันที จึงเป็นทรัพย์หรือทรัพย์สินขึ้นมา
คำว่า “วัตถุมีรูปร่าง” นั้น หมายถึงสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา จับต้อง สัมผัสได้ เช่น หนังสือ โต๊ะ บ้านเรือน รถ เรือ ม้า ลา เป็นต้น แต่กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง จึงน่าจะเป็นทรัพย์สิน มิใช่ทรัพย์นั้น ได้มี ฎ. ๘๗๗/๒๕๐๑ วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ หรือ ๓๓๕ แล้วแต่กรณี
คำว่า “วัตถุไม่มีรูปร่าง” นั้น หมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา เช่น แก๊ส กำลังแรงแห่งธรรมชาติ พลังน้ำตก พลังปรมาณู เป็นต้น และยังได้แก่สิทธิต่าง ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์ด้วย แต่สิทธิต่าง ๆ ที่จะเป็นทรัพย์สินนี้ จะต้องเป็นสิทธิที่กฎหมายไทยรับรองแล้ว เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ จำนำ จำนอง ลิขสิทธิ์ (ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑) สิทธิบัตร (ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒) สิทธิในเครื่องหมายการค้า (ตามพระราชบัญญัติเครื่อง หมายการค้า พ.ศ. ๒๕๗๔)
คำว่า “อาจมีราคาได้” นั้น ราคา หมายถึงคุณค่าในตัวของสิ่งนั้นเอง (ตรงกับ value ในภาษาอังกฤษ มิใช่ราคาที่ตรงกับ price ในภาษาอังกฤษ) บางสิ่งบางอย่างอาจซื้อขายด้วยราคามิได้ แต่อาจมีคุณค่าเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทางเศรษฐกิจ หรือประโยชน์ทางจิตใจอยู่ เช่น จดหมาย ติดต่อระหว่างคู่รัก ประกาศตั้งชื่อสกุล เป็นต้น สลากกินแบ่งรัฐบาลก็เป็นทรัพย์สิน ซึ่งซื้อขาย เปลี่ยนมือกันได้ (ฎ. ๑๑๒๐/๒๔๙๕) แม้สลากที่ไม่ถูกรางวัลแล้ว ซื้อขายกันไม่ได้ต่อไป ก็อาจมี ราคาได้ ถ้าเจ้าของยังหวงแหนเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก (ฎ. ๓๙๓/๒๕๐๓ อธิบายว่า ทรัพย์สินนั้น หมายความถึงทรัพย์อันมีค่าใด ๆ ทั้งสิ้นที่จะถือเอาได้)
คำว่า “อาจถือเอาได้” นั้น ความจริงตัวบทภาษาไทยเขียนไว้ไม่ชัดเจนพอ เพราะใช้ ถ้อยคำว่า “อาจมีราคาได้ และถือเอาได้” ซึ่งน่าจะหมายถึงต้องถือเอาได้จริงจัง แต่ตัวบทภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Susceptible of having a value and of being appropriated” ซึ่งหมายความว่า เพียงแต่อาจถือเอาได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว โดยที่มาตรานี้ร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงแปล เป็นภาษาไทยเมื่อถ้อยคำภาษาไทยไม่ชัดเจนพอ จึงต้องอาศัยร่างเดิมเป็นแนวแปล คือ แปล มาตรา ๑๓๘ ว่า อาจมีราคาได้ และ อาจถือเอาได้ คำว่า ถือเอาได้ นั้นหมายถึงอาการเข้าหวงกันไว้เพื่อตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้ายึดถือจับ ต้องได้จริงจัง เช่น ปลาในโป๊ะ แม้เจ้าของโป๊ะจะยังไม่ทันจับปลาก็เรียกได้ว่าเจ้าของโป๊ะอาจถือ เอาได้แล้ว เพราะมีการกั้นโป๊ะแสดงการหวงกันไว้เพื่อตนเอง รังนกในถ้ำเมื่อผู้ที่ผูกขาดได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเข้าครอบครองถ้ำ แสดงการหวงกันรังนกนั้นแล้วก็เรียกได้ว่า อาจถือเอาได้แล้ว ฉะนั้น ปลาในทะเลก็ดี รังนกในถ้ำก็ดี อยู่ในลักษณะที่อาจถือเอาได้ทั้งสิ้น สิทธิบางอย่างเช่นลิขสิทธิ์สิทธิในหุ้นส่วน สิทธิในการเช่าแม้จะจับต้องมิได้ แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะที่จะยึดถือ คือหวงแหนไว้เพื่อตนเองได้ กระแสไฟฟ้า พลังน้ำตกก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ย่อมถือเอามาเป็นประโยชน์ได้
เกี่ยวกับหุ้นในบริษัทนั้น ฎ. ๑๑๗๔/๒๔๘๗ วินิจฉัยว่าเป็นสิทธิชนิดหนึ่ง แม้การโอนหุ้น บริษัทจำกัดจะไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าผู้รับโอนได้ปกครองมาเกิน ๕ ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ได้
เกี่ยวกับสิทธิการเช่าตึกและสิทธิการเช่าเครื่องโทรศัพท์นั้น ได้มี ฎ. ๕๓๖/๒๔๙๘ วินิจฉัยว่า ย่อมโอนกันได้ และเมื่อได้ชำระเงิน มอบหมายสิทธินั้นให้ต่อกันแล้ว สิทธินั้นย่อมตกได้แก่ ผู้รับโอนทันที
(๑) สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ มิใช่ทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่สามารถตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้ หากมีการโอนไปในระหว่างสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดตาม ม. ๕๖๙
(๒) การซื้อขายเรือน โดยผู้ซื้อมีเจตนาจะรื้อเอาเรือนไป เป็นการซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ จึงไม่ต้องทำตามแบบใน ม. ๔๕๖ วรรคหนึ่ง คือ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน แต่ต้องทำให้ถูกต้องตาม ม. ๔๕๖ วรรคท้าย ประกอบวรรคสอง คือ การซื้อขายที่มีราคาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป ต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑)หลักฐานเป็นหนังสือ (๒)การวางมัดจำ (๓)การชำระหนี้บางส่วน จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
(๓) กรณีข้อ ๒ แต่ต่อมาไม่มีการรื้อถอนบ้าน หรือกรณีซื้อขายบ้านโดยมีการจดทะเบียนที่ว่าการอําเภอ โดยไม่มีการจดทะเบียนเป็น สิทธิเหนือพื้นดิน แล้วเจ้าของที่ดินและบ้านเดิมได้จดทะเบียนโอนขาย ที่ดินให้แก่อีกบุคคลหนึ่งซึ่งสุจริต ผู้ซื้อบ้านจะรื้อถอนไม่ได้ ผู้ซื้อรายหลังจะได้ทั้งที่ดินและบ้าน เพราะระหว่างผู้สุจริตด้วยกัน ผู้ประมาทเลินเล่อยอมเสียเปรียบ กรณีนี้ผู้ซื้อบ้านประมาทโดยไม่ยอมไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน แต่ถ้าผู้ซื้อบ้านรื้อบ้านออกไปก่อนที่ผู้ซื้อรายหลังจะจดทะเบียนซื้อที่ดินพร้อมบ้าน ผู้ซื้อบ้านรายแรกจะมีสิทธิดีกว่า
(๔) โรงเรือน (อาคาร) จะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ต้องพิจารณาสภาพของโรงเรือนนั้นว่าอยู่ติดตรึงตราถาวรกับที่ดินหรือไม่ ถ้าติดก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนโรงเรือนจะเป็นส่วนควบหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องดูเจตนาของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้าน บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่บ้านไม่เป็นส่วนควบ เพราะเข้าข้อยกเว้นการไม่เป็นส่วนควบ คือ ปลูกสร้างโดยมีสิทธิ (มาตรา ๑๔๖ ตอนท้าย)
๒) ประเภทของทรัพย์สิน มีดังนี้
(๑) ทรัพย์สินมีรูปร่างและทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง (ม. ๑๓๗ และ ม. ๑๓๘) ดังได้กล่าวมาข้างต้น
(๒) อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ (ม. ๑๓๙ และ ๑๔๐)
๓) อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์โดยปกติเคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น ที่ดิน ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดิน ทรัพย์ที่ประกอบ เป็นอันเดียวกับที่ดิน และสิทธิทั้งหลาย อันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (ม. ๑๓๙) ส่วน สังหาริมทรัพย์คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ รวมทั้งกำลังแรงแห่งธรรมชาติ และสิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ (ม. ๑๔๐)
๔) ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้
ทรัพย์แบ่งได้ คือ ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้ชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัวเอง (ม. ๑๔๑) ส่วน ทรัพย์แบ่งไม่ได้ คือ ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้ โดยสภาพ หรือ โดยกฎหมายถือว่าแบ่งไม่ได้ (ม. ๑๔๒)
๕) ทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์
ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๓ บัญญัติว่า “ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย”
ทรัพย์นอกพาณิชย์ อาจเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ มี ๒ ประเภท คือ
ก. ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ ความจริง สิ่งใดที่ไม่อาจมีราคาได้ หรือไม่อาจถือเอาได้ ย่อมมิใช่ทรัพย์หรือทรัพย์สิน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗ และ ๑๓๘ ฉะนั้น ที่มาตรา ๑๔๓ บัญญัติว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้เป็นทรัพย์นอกพาณิชย์นั้น ความจริงไม่อยู่ในข่ายที่จะถือว่าเป็นทรัพย์ตามกฎหมายเสียเลยทีเดียว แต่ที่มาตรา ๑๔๓ ยังถือว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์อยู่นั้น ก็คงจะหมายถึง ทรัพย์ที่มิใช่ทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่อาจนำมาเป็นวัตถุแห่งสิทธิ หรือนำมาจำหน่ายจ่ายโอนได้ เช่นทรัพย์สินตามกฎหมายชนิดอื่น ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทนี้ได้แก่ สายลม แสงแดด ก้อนเมฆ ดวงดาว น้ำทะเล เป็นต้น
ข. ทรัพย์ที่ไม่สามารถโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งจะนำมา จำหน่าย จ่ายโอน ดังเช่นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปมิได้ เว้นแต่จะโอนโดยอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมาย โดยเฉพาะ เนื่องจากโอนกันมิได้ เช่นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปเช่นนี้ จึงถือว่าอยู่นอกพาณิชย์คือนอก การหมุนเวียนเปลี่ยนมือ ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทนี้อาจจะมีการห้ามโอนโดยกฎหมายพิเศษ เช่น ถ้ามีกฎหมายห้ามโอนพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งในวัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะพระพุทธรูป นั้นก็กลายเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ไป หรืออาจมีการห้ามโอนโดยกฎหมายซึ่งบัญญัติห้ามโอนไว้ ทั่ว ๆ ก็ได้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา มาตรา ๑๕๙๘ บัญญัติว่า สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละ ยึดหรือโอนมิได้ ดังนั้น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็น ทรัพย์นอกพาณิชย์
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ บัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่ของวัดและที่ธรณีสงฆ์ ฉะนั้นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จึงเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์
ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัด
ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๓ (๑)(๒)
ข้อสังเกต ทรัพย์นอกพาณิชย์ประเภทที่ไม่สามารถโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ห้ามโอนโดยมีกฎหมายบัญญัติห้ามโอนไว้เป็นการตลอดไป และเป็นการห้ามโอนไว้โดยตรง เช่น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และที่วัด เป็นต้น ถ้าเป็นทรัพย์ที่อาจทำนิติกรรม ห้ามโอน แม้ว่าจะมีกฎหมายรับรองให้ทำได้ก็ตาม ทรัพย์นั้นก็หาใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ไม่ เช่น ตาม ป.พ.พ. ม. ๑๗๐๐ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดย นิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิตหรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอน ทรัพย์สินนั้นก็ได้ ทรัพย์ที่ห้ามโอนโดยนิติกรรมตาม ม. ๑๗๐๐ นี้ มิใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ เพราะมิได้เป็นการห้ามโอนโดยกฎหมาย แต่เป็นทรัพย์ซึ่งจะห้ามโอนหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ใจของเจ้าของทรัพย์ นอกจากนี้ การห้ามโอนโดยนิติกรรมนี้ตาม ม. ๑๗๐๑ จะห้ามโอนไว้ได้ไม่เกิน ๓๐ ปี หรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์เท่านั้น มิใช่เป็นการห้ามโอนตลอดไป
ทรัพย์ในพาณิชย์
ทรัพย์ในพาณิชย์นั้น เป็นการแบ่งแยกประเภทของทรัพย์ออกจากทรัพย์นอกพาณิชย์ ทรัพย์นอกพาณิชย์คืออะไรนั้น ได้อธิบายมาแล้ว สำหรับทรัพย์ในพาณิชย์นั้นได้แก่ ทรัพย์ประเภท ที่สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนมือในทางพาณิชย์ได้ กล่าวคือเป็นทรัพย์ที่บุคคลโดยทั่วไปสามารถ เป็นเจ้าของได้โดยปกติ ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ถ้าจะกล่าวเพื่อให้เข้าใจโดยง่ายแล้ว ทรัพย์ใดที่มิใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์ ทรัพย์นั้นย่อมเป็นทรัพย์ในพาณิชย์ทั้งหมด การแบ่งแยกออกเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์นั้นเป็นการแบ่งแยกในทาง ทฤษฎี เพราะตาม ป.พ.พ. ก็มิได้บัญญัติถึงทรัพย์ในพาณิชย์ไว้ คงบัญญัติไว้เฉพาะทรัพย์นอกพาณิชย์ในมาตรา ๑๔๓
การแบ่งแยกทรัพย์ออกเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ ในการที่จะกำหนดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล เพราะหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ในพาณิชย์ บุคคล โดยทั่วไปก็อาจมีสิทธิเป็นเจ้าของได้ตามกฎหมาย แต่หากว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์แล้วบุคคลโดยทั่วไปก็ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ หรือไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๓ หลักเกณฑ์ในเรื่องทรัพย์ในพาณิชย์และทรัพย์นอกพาณิชย์ มีบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยโรมัน โดยในสมัยโรมันนั้นทรัพย์บาง อย่างจำกัดให้ชาวโรมันเท่านั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของดังนั้นบุคคลอื่นที่มิใช่ชาวโรมันจึงไม่อาจเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น ๆ ได้ เช่น ที่ดิน หรืออาวุธ เป็นต้น ทรัพย์เหล่านั้นจึงอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ปัจจุบันแนวความ คิดเกี่ยวกับเสรีภาพในทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์ใดจะเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์จึงต้องมีกฎหมาย กำหนดโดยชัดเจน เว้นแต่โดยสภาพของทรัพย์นั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ เช่น ดวงดาว ท้องทะเลหลวง เช่นนี้เป็นต้น
๖) ส่วนควบ
ป.พ.พ. ม. ๑๔๔ บัญญัติว่า “ส่วนควบของทรัพย์นั้น คือส่วนซึ่งว่าด้วยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากทำลาย หรือทำบุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง
เจ้าของทรัพย์ ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”
อธิบายว่า จะต้องเป็นทรัพย์ตั้งแต่ ๒ สิ่งขึ้นไป เช่น จักร ลาน เข็ม เป็นส่วนควบของนาฬิกา เสา ฝา หลังคา ประตูหน้าต่าง เป็นส่วนควบของเรือน เป็นต้น
(๑) โรงเรือน (อาคาร) ที่ปลูกสร้างบนที่ดินเป็นส่วนควบของที่ดิน ผลที่ตามมา คือ หากมีการซื้อที่ดิน โดยจดทะเบียนถูกต้อง ต่อมาจึงมีการซื้อบ้านที่อยู่บนดิน การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ในบ้านไม่จำต้อง จดทะเบียน เพราะบ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินตามหลักส่วนควบ
(๒) ไม้ยืนต้น เป็นส่วนควบของที่ดิน แต่หากเป็นไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ ไม่เป็นส่วนควบ และถือว่า เป็นสังหาริมทรัพย์ด้วย ต้นพลูเป็นไม้ยืนต้น ต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก
(๓) ไม้ยืนต้นที่ผู้ปลูกมีเจตนาเพียงชั่วคราว เช่น ปลูกเพื่อตัดไปทำเยื่อกระดาษ ไม่เป็นส่วนควบ (ม. ๑๔๖)
(๔) ข้อยกเว้นการเป็นส่วนควบที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
ก. ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว
ข. ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้น ปลูกทำลงในที่ดินนั้น
(๕) สิ่งปลูกสร้างที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำ ลงไว้ในที่ดินนั้น ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่น อาจจะเป็นสิทธิตามสัญญา เช่น สัญญาเช่า สิทธิเหนือพื้นดิน หรือใน กรณีเจ้าของที่ดินอนุญาตหรือยินยอมให้ปลูกสร้าง (โดยตรงหรือโดย ปริยายก็ได้) ก็ถือว่าเป็นการสร้างโดยผู้มีสิทธิเช่นเดียวกัน สิ่งปลูก สร้างนั้นไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน
(๖) ระวัง การปลูกสร้างโดยมีสิทธิต้องดูสิทธิว่าได้มากน้อย เพียงใด ถ้าเกิน ส่วนที่เกินก็ไม่มีสิทธิ และถือว่าเป็นส่วนควบ เช่น กรณี เช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้าน แต่ผู้เช่าปลูกไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นปลูกโดยไม่มีสิทธิ ตกเป็นส่วนควบของเจ้าของที่ดิน
(๗) กรณีเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านบ้านไม่เป็นส่วนควบ ครบกำหนด ตามสัญญาผู้เช่ารื้อถอนบ้านออกไปได้ เพราะบ้านเป็นของผู้เช่า แต่ถ้า มีการตกลงยกบ้านให้เจ้าของที่ดินไว้ในสัญญาหรือเมื่อสิ้นสุดสัญญา ต่อมามีการตกลงยกสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ผู้ให้เช่า บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีที่ผู้เช่าแสดงเจตนายกให้ โดยไม่ต้องจดทะเบียนตามหลักส่วนควบที่เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของ ส่วนควบ
๗) อุปกรณ์ (ม. ๑๕๗)
“อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของ เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การ จัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมา ติดต่อ หรือปรับเข้าไว้หรือทำโดยประการอื่นใด ในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น
อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
๘) ดอกผล
ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘ บัญญัติไว้ว่า “ดอกผลทั้งหลายของทรัพย์นั้น มีความหมายดังนี้
(๑) ดอกผลธรรมดา หมายถึง บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งได้มาเพราะใช้ของนั้นอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน เช่น ผลไม้ น้ำมัน ขน และลูกของสัตว์ ย่อมสามารถจะถือเอาได้เวลาเมื่อขาด ตกออกจากสิ่งนั้น ๆ
(๒) ดอกผลนิตินัย หมายถึง ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล หรือลาภอื่น ๆ ที่ได้เป็นครั้ง เป็นคราวแก่เจ้าทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น ดอกผลเหล่านี้ย่อมคำนวณและถือเอาได้ตามรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๒ ประเภท คือ
ก) ดอกผลธรรมดา เป็นทรัพย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เพราะเหตุที่ได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น เมื่อเกิดแล้วถือเป็นทรัพย์ที่เพิ่มพูน งอกเงยต่างหากจากตัวแม่ทรัพย์ โดยแม่ทรัพย์ที่ผลิตดอกผลนั้นยังคงสภาพคงลักษณะเป็นแม่ทรัพย์อยู่อย่างเดิมไม่ผิดแผกแตกต่างไปอย่างใด เช่น ผลไม้เมื่อขาดหลุดจากต้น ต้นไม้อันเป็นแม่ทรัพย์ก็ยังคงมีสภาพเดิมอยู่ หรือขนของสัตว์ แม้จะตัดไป ก็ย่อมจะขึ้นมาใหม่ตามธรรมชาติ ไม่ทำให้สัตว์ซึ่งเป็นแม่ทรัพย์เสียลักษณะรูปร่างเดิมของสัตว์นั้นไป แต่ถ้าทรัพย์ใดที่เป็นทรัพย์เพิ่มพูน งอกเงยจากแม่ทรัพย์ และเมื่อขาดหรือหลุด จากแม่ทรัพย์แล้ว ทำให้แม่ทรัพย์เสียหายหรือเสียสภาพ ลักษณะเดิมไป ย่อมมิใช่ดอกผลธรรมดา เช่น เขาของสัตว์ หางของสัตว์ เมื่อตัดออกแล้วทำให้สัตว์นั้นเสียลักษณะไป เพราะเขาและหาง นั้นไม่อาจงอกได้อีก เขาและหางจึงมิใช่ดอกผลธรรมดาของสัตว์
ดอกผลธรรมดามิใช่มีแต่เพียงผลไม้ น้ำนม ขน และลูกของสัตว์เท่านั้น ทรัพย์อื่นที่เกิด งอกเงยขึ้นโดยธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เพราะเหตุที่ใช้แม่ทรัพย์นั้นก็เป็นดอกผลธรรมดาได้ เช่น เห็ด หรือแร่ธาตุที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๑๗ ย่อมเป็นดอกผลธรรมดาของที่ดิน หรือใบจากเป็นดอกผลธรรมดาของต้นจากเป็นต้น
แต่ถ้าทรัพย์ใดมิได้เกิดโดยธรรมชาติจากแม่ทรัพย์เอง หากแต่มีมนุษย์ทำให้เกิด แม้จะอาศัยแม่ทรัพย์ช่วยให้เกิดอยู่ด้วยก็ตาม ก็หาใช่ดอกผลธรรมดาไม่ เช่นต้นข้าวที่ปลูกในนาเกิดจาก แรงงานของมนุษย์ มิได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากนา จึงมิใช่ดอกผลของนา ฉะนั้นข้าวเปลือก ก็มิใช่ดอกผลของนาเช่นกัน (ฎ.๑๕๓๕/๒๔๙๓)
ทรัพย์ที่เป็นดอกผลธรรมดานั้น จะถือเอาเป็นดอกผลได้ต่อเมื่อขาด ตกออกจากแม่ทรัพย์ แล้ว ถ้ายังไม่ ขาด ตก จากแม่ทรัพย์ เช่นผลไม้ยังอยู่กับต้น ลูกสัตว์ยังอยู่ในท้อง ขนสัตว์ยังมิได้ตัด ยังไม่ถือเป็นดอกผลธรรมดา
การขาด ตก นั้น จะขาดตกโดยธรรมชาติ เช่นผลไม้สุกงอมร่วงมาเอง ลูกของสัตว์คลอด ออกมา เองตามกำหนดก็ได้ หรือจะขาดตกโดยกำลังภายนอกเช่น พายุพัดทำให้ผลไม้ร่วง หรือ คนปลิด สอยเอาผลไม้ หรือขุดเอาหน่อไม้ก็ได้ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นการขาดตกโดยผลของการใช้ แม่ทรัพย์ และไม่ทำให้แม่ทรัพย์เสียหายหรือเสียสภาพไป
ข) ดอกผลนิตินัย เป็นดอกผลที่มิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างดอกผลธรรมดา แต่เป็นดอกผลของแม่ทรัพย์เกิดจากการที่ผู้อื่นใช้แม่ทรัพย์นั้น และ ซึ่งกฎหมายรับรองให้เป็นดอกผล เช่น ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล เป็นต้น ดอกผลนิตินัยนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้อื่นเป็นผู้ใช้แม่ทรัพย์นั้น แล้วมอบค่าตอบแทนเป็นทรัพย์ให้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์เป็นครั้งคราว เพื่อตอบแทน ในการที่ผู้อื่นได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น โดยที่ดอกผลนิตินัยมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงคำนวณและถือเอาได้ตามรายวัน หรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
ดอกผลนิตินัย มีสาระสำคัญดังนี้
๑. ต้องเป็นทรัพย์ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น ผลประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่ทรัพย์ย่อม ไม่เป็นดอกผลนิตินัย เจ้าของรถยนต์เอารถให้เช่าเพื่อทำแท็กซี่ ค่าเช่าเป็นดอกผลนิตินัย แต่ถ้าผู้เช่าแท็กซี่บริการผู้ให้เช่าด้วยการให้นั่งรถฟรี แม้จะเป็นครั้งคราว นานเท่าใด การได้นั่งรถฟรี หาใช่ดอกผลไม่เพราะเป็นเพียงประโยชน์มิใช่ทรัพย์ แต่ทรัพย์นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป อาจเป็นทรัพย์อื่นก็ได้ เช่น เช่านา ได้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก เช่าสวนผลไม้ได้ค่าเช่าเป็นผลไม้ ข้าวเปลือกและผลไม้ก็ถือว่าเป็นดอกผลนิตินัยได้
๒. ต้องเป็นทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์นั้นเอง เช่น เอาเงินให้กู้ เอารถให้เช่า ดอกเบี้ย และค่าเช่าตกได้แก่เจ้าของทรัพย์นั้นเอง ถ้าผู้กู้ให้เงินแก่นายหน้าที่ช่วยพาไปกู้ แม้จะให้เป็นครั้งคราวเพียงใด เงินนั้นก็มิใช่ดอกผล เพราะมิใช่เงินที่ตกค้างได้แก่เจ้าของเงิน แต่ถ้าทรัพย์ใด จะต้องตกได้แก่เจ้าของทรัพย์แล้ว แม้เจ้าของทรัพย์จะให้ผู้อื่นรับแทน หรือผู้ใช้ทรัพย์มอบให้แก่ ผู้อื่นไปเลยก็ตาม ทรัพย์นั้นก็ยังเป็นดอกผลอยู่ เช่นดอกเบี้ย หรือค่าเช่า แม้เจ้าของแม่ทรัพย์ จะให้ผู้กู้หรือผู้เช่าชำระให้แก่ผู้ใดก็ตาม ดอกเบี้ยและค่าเช่านั้นก็ยังเป็นดอกผลนิตินัยอยู่
๓. ทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของแม่ทรัพย์นี้จะต้องเป็น การตอบแทนจากผู้อื่นในการที่ผู้นั้น ได้ใช้แม่ทรัพย์ เช่น นำรถยนต์ให้เช่า ค่าเช่าเป็นผลประโยชน์ที่ผู้เช่าให้แก่เจ้าของรถเนื่องจาก ผู้เช่าได้ใช้สอยรถนั้น แต่ค่าโดยสารที่ผู้เช่าได้จากผู้โดยสารมิใช่ทรัพย์ที่ตกได้แก่เจ้าของรถยนต์ และยังถือว่าเป็นทรัพย์ที่เกิดจากแรงงานของผู้ขับมากกว่าที่จะเกิดจากการใช้ทรัพย์นั้นแต่อย่างเดียว ฉะนั้นค่าโดยสารนี้แม้จะได้เป็นครั้งคราวก็มิใช่ดอกผลนิตินัย
ผู้ใดมีสิทธิในดอกผล
หลักทั่วไป คือ เจ้าของแม่ทรัพย์มีสิทธิในดอกผลของทรัพย์นั้น ดังจะเห็นได้จาก มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งบัญญัติว่าเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น มาตรา ๑๓๖๐ วรรคสองบัญญัติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนในทรัพย์สินนั้น มาตรา ๖๖๖ บัญญัติว่าถ้ามีดอกผลเกิดแก่ทรัพย์สินที่ฝาก ผู้รับฝากต้องคืนดอกผลให้แก่ผู้ฝากหรือทายาท ของผู้ฝาก มาตรา ๘๑๐ บัญญัติว่าเงิน และทรัพย์สินอื่นที่ตัวแทนรับไว้ในฐานะตัวแทนต้องส่งให้ ตัวการทั้งสิ้น
๙) ลักษณะและหลักทั่วไปของทรัพยสิทธิ ลักษณะของทรัพยสิทธิ ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๔
๙.๑) ลักษณะของทรัพย์สิทธิและบุคคลสิทธิ
เมื่อพูดถึงทรัพย์และทรัพย์สินแล้ว ย่อมมีปัญหาเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงเรื่องสิทธิของบุคคลที่มีอยู่ในตัวทรัพย์ว่าเมื่อบุคคลหลายคนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในตัวทรัพย์และทรัพย์สินเดียวกันแล้ว สิทธิของ ผู้ใดจะมีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นดีกว่ากัน ปัญหานี้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม. ๑๒๙๘ ถึง ม. ๑๔๓๔)
ม. ๑๒๙๘ บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้นท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้ แต่ด้วยอาศัยอำนาจใน ประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น”
“ทรัพยสิทธิ” คือสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ สิทธิยึดหน่วง ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ใช้ยันกับบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่บุคคลทั่วโลก
“บุคคลสิทธิ” คือสิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำซึ่งในลักษณะหนี้ เรียกว่าสิทธิเรียกร้องหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ตัวบุคคลให้กระทำหรือมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ สิทธิตามสัญญาจะซื้อขาย สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน ทางละเมิด เป็นต้น
๙.๒) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(๑) การได้มาโดยทางนิติกรรม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง การได้มาโดยนิติกรรมสมบูรณ์ต่อเมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
(๒) แต่การได้มานั้น ถ้ามีกฎหมายกำหนดแบบไว้เป็นการเฉพาะ การไม่ทำตามแบบย่อมตกเป็นโมฆะ เช่น มาตรา ๔๕๖ ซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ รวมแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ด้วย มาตรา ๕๒๕ ให้อสังหาริมทรัพย์ มาตรา ๗๑๔ จำนองอสังหาริมทรัพย์
(๓) อีกนัยหนึ่งคือการได้มาซึ่งนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริม- ทรัพย์ที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดแบบไว้ จึงตกอยู่ภายใต้มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีผลคือ หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในบุคคลสิทธิ คือ ยันคนทั่วไปไม่ได้ ยันได้แต่กับคู่กรณี เช่น
- การโอนอสังหาฯ ตีใช้หนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดแบบไว้ ต้อง ปรับเข้ามาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก
- การได้อสังหาฯมาโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการได้มาโดยนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เช่น พ่อ แม่ทะเลาะเรื่องแบ่งที่ดินจึงตกลงยกที่ดินให้ลูก ส่วนใหญ่เกิดเมื่อจะหย่ากัน (ไม่ใช่ให้โดยเสน่หา)
(๔) การเช่าซื้อที่ดินเมื่อจ่ายเงินครบถือว่ามีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ เมื่อชำระราคาครบ ต้องไปจดทะเบียน มิฉะนั้นบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
(๕) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางมรดก ไม่ว่าจะมีพินัยกรรมหรือไม่หลักปกติถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่น (มาตรา ๑๖๐๐) ยกเว้นกรณีที่พินัยกรรมก่อตั้งทรัพย- สิทธิขึ้นมาใหม่ เช่น พินัยกรรมก่อตั้งสิทธิอาศัย เช่นนี้ถือว่า ผู้ได้มาซึ่งสิทธิอาศัยดังกล่าวเป็นการได้มาโดยนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
(๖) การก่อตั้งทรัพยสิทธิจำพวกตัดทอนกรรมสิทธิ์ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย หากไม่มีการต่างตอบแทน ปกติต้องถือว่าเป็นการให้ อสังหาริมทรัพย์โดยเสน่หา ไม่จดทะเบียนตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๕๒๕ ไม่ใช่เพียงไม่บริบูรณ์ตามมาตรา ๑๒๙๙ แต่ฎีกายังไม่ลงรอยกันสนิท เสียทีเดียว บางฎีกาก็ว่าสามารถบังคับได้
(๗) การต่างตอบแทนในการก่อตั้งทรัพยสิทธิ บางครั้งไม่จำเป็น ต้องมีการจ่ายเงินอย่างเดียว อาจเป็นกรณีที่มีการกระทำการใดแลกเปลี่ยนกันก็ได้ หรือมีการทะเลาะกันพิพาทกันแล้วประนีประนอมก่อตั้งภาระจำยอมก็ได้ ขออย่างเดียวไม่ใช่การให้โดยเสน่หาก็พอ
(๘) การได้ทรัพยสิทธิมาโดยนิติกรรมที่ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา เช่น ภาระจำยอม แต่ไม่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ผู้ได้มาที่ประสงค์จะให้สิทธิของตนสมบูรณ์สามารถฟ้องให้อีกฝ่ายไป จดทะเบียนตามบุคคลสิทธิได้ (ฎ. ๖๗๔๗/๒๕๓๙)
๙.๓) การได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม ตาม ม. ๑๒๙๙ วรรค ๒ ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ มี ๓ อย่าง คือ
(ก) การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ (ม. ๑๓๘๒)
(ข) การได้มาโดยคําพิพากษาของศาล (ฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘)
(ค) การได้มาโดยทางมรดก(มีหรือไม่มีพินัยกรรมก็ตาม) (ม.๑๕๙๙)
(๙.๓.๑) การได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ (ม. ๑๓๘๒)
๑. ทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ต้องมีกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินมือเปล่าไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ แต่แย่งสิทธิครอบครองได้
๒. กรณีที่ดินมือเปล่า แล้วมีการออกโฉนดที่ดินในภายหลัง ระยะเวลา ๑๐ ปี จะนับต่อเมื่อที่ดินนั้นมีการออกโฉนดที่ดินแล้ว จะนำระยะเวลาที่ครอบครองก่อนหน้าเป็นโฉนดที่ดินมารวมไม่ได้
๓. ครอบครองที่ดินที่งอก จะเริ่มนับเวลาได้เมื่อที่ริมตลิ่งกลาย เป็นที่งอกแล้ว และนับเวลาก่อนนั้นมารวมก็ไม่ได้ด้วย
๔. การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ดินของผู้อื่น การครอบครองที่ดินของตนเองที่ใส่ชื่อผู้อื่นถือไว้แทน ไม่ใช่ครอบครองปรปักษ์ เจ้าของเรียกให้เปลี่ยนชื่อตามหลักเรื่องตัวการตัวแทนได้เสมอ
๕. เมื่อครอบครองที่ดินของผู้อื่น ต่อให้เข้าใจว่าเป็นของตน ไม่รู้ว่าเป็นของผู้อื่น ก็เป็นการครอบครองปรปักษ์ได้
๖. การซื้อขายหรือการให้ที่ตกเป็นโมฆะ และมีการส่งมอบ ที่ดิน ผู้ซื้อหรือรับการให้ สามารถได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามหลักการครอบครองปรปักษ์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองแทน
๗. กรณีการซื้อที่ดินที่ห้ามโอน แล้วไม่ได้จดทะเบียน จะเริ่มนับเวลาได้ ต่อเมื่อพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนเสียก่อน เอาระยะเวลา ก่อนหน้านั้นมานับรวมก็ไม่ได้
๘. กรณีผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่า เป็นการครอบครองแทนผู้จะขาย ครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
๙. แต่แม้มีการระบุว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ผู้จะขายเจตนาโอนให้เป็นสิทธิขาด (ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด) ถ้าครอบครอง ๑๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์
๑๐. ครอบครองปรปักษ์ที่ดินวัดไม่ได้ แต่วัดครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่มีผู้ยกให้แต่ไม่ได้จดทะเบียนให้ได้ แต่จะตั้งหน้าตั้งตาครอบครองปรปักษ์ที่ดินผู้อื่นไม่ได้ ถือว่าอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของวัดในฐานะเป็นนิติบุคคล
๑๑. การครอบครองในระหว่างเป็นคดีกัน ถือว่าครอบครองไม่ สงบ บริวารของผู้เป็นความกันก็อ้างว่าครอบครองโดยสงบไม่ได้เช่นกัน
๑๒. การครอบครองที่ดินโดยเจ้าของยอมให้อาศัย ไม่ใช่เจตนา เป็นเจ้าของ ไม่เป็นครอบครองปรปักษ์
๑๓. กรรมสิทธิ์รวม เจ้าของรวมคนหนึ่งจะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือไปยัง เจ้าของรวมคนอื่นเสียก่อน
๑๔. การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ถือเอาระยะเวลาด้านผู้ครอบครองเท่านั้น
๑๕. แต่ถ้าด้านผู้เป็นเจ้าของมีการโอนกันอยู่ตลอดเวลา อาจ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบได้
๑๖. ด้านเจ้าของที่มีชื่อ หากมีการโอนหลายทอด ผู้รับโอนอ้าง มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ตัดสิทธิผู้ครอบครองปรปักษ์ได้
๑๗. กรณีมีการโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับระยะเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครอง ของตนก็ได้
- ศาลฎีกาวางแนวใน ฎ. ๘๐๐/๒๕๐๒ ว่า สิทธิที่ได้มาตาม มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องเป็นสิทธิประเภทเดียวกัน คือ กรรมสิทธิ์ กับกรรมสิทธิ์ เช่น ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์ (ผู้ครอบครองได้ กรรมสิทธิ์) กับบุคคลภายนอกได้มาโดยการซื้อขายที่ดิน (บุคคล ภายนอกได้กรรมสิทธิ์) ดังนั้น ถ้าเป็นกรรมสิทธิ์กับภาระจำยอมแล้วไม่ต้องด้วยมาตราดังกล่าวผู้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความแม้ไม่จดทะเบียนก็อ้างภาระจำยอมยันบุคคลภายนอกที่จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้ (ทางออกน่าจะออกเป็นเรื่องว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริต เพราะบุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการจดทะเบียนย่อมต้องรู้ได้ ว่าที่ดินที่ซื้อมีทางภาระจำยอม)
บุคคลต่อไปนี้ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง
(๑) ทายาทของเจ้าของทรัพย์ไม่ใช่บุคคลภายนอก เพราะ ทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก อีกทั้งไม่ถือว่า ทายาทได้ทรัพย์ไปโดยเสียค่าตอบแทนด้วย และหากเป็นการให้ใน ระหว่างที่พ่อมีชีวิตแล้ว แม้ลูกเป็นบุคคลภายนอก แต่ก็ไม่ได้รับความ คุ้มครองเพราะไม่เสียค่าตอบแทน แต่ถ้าพ่อขายที่ดินให้ลูก ลูกเป็น บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองได้ แต่อาจถูกโต้แย้งได้ว่าไม่สุจริต เพราะลูกน่าจะรู้เรื่องที่ดินของพ่อ
(๒) เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เพราะไม่ได้เป็นผู้ จดทะเบียนสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นเจ้าหนี้จำนองแล้ว ถือว่าเป็น บุคคลภายนอก เพราะในการจำนองมีการจดทะเบียนสิทธิจำนอง อัน เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง
(๓) เจ้าของรวมที่ได้รับโอนที่ดินภายหลังจากมีผู้ได้ครอบ ครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ไม่ใช่บุคคลภายนอก เพราะ ถือว่าเป็นคู่กรณี
๑๘. มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ใช้กับทั้งที่ดิน น.ส.๔ และ น.ส.๓ ด้วย การได้มาโดยสิทธิครอบครอง มาตรา ๑๓๗๕ ก็ตกอยู่ใน บังคับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองเช่นกัน
๑๙. คำว่า “สุจริต” หมายถึง ไม่รู้ว่ามีผู้ได้มาโดยทางอื่นนอก จากนิติกรรมแล้ว ตัวอย่างพฤติการณ์ที่ถือว่าไม่สุจริต เช่น
- ซื้อที่ดินแปลงใหญ่แต่ไม่ยอมไปดู
- ไปดูที่ดินพบผู้อยู่อาศัย ถามผู้ขาย ผู้ขายว่าเช่าอยู่ หรือ อาศัยสิทธิผู้ขายอยู่ แต่ถ้าเข้าไปถามผู้อยู่อาศัย แล้วเขาตอบว่าอาศัย หรือเช่า ถือว่าสุจริต
๒๐. ในกรณีครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว (ย้ำต้องได้กรรม- สิทธิ์แล้ว) ถ้าบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินโดย สุจริตและเสียค่าตอบแทน บุคคลภายนอกย่อมได้รับความคุ้มครอง และถือว่าสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้ว (ต้องเริ่มนับ ๑ ใหม่) ดังนั้น แม้จะมีผู้รับโอนที่ดินกันต่อมา ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับโอนคนต่อมาจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่
๒๑. กรณีมีการรับโอนอสังหาฯ จากผู้ไม่มีสิทธิ เช่น ผู้ที่ปลอม ลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดิน หรือซื้อที่ดินจากผู้ที่ปลอมโฉนดที่ดินมาขาย หรือออกโฉนดที่ดินปลอม ย่อม ไม่เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แม้จะสุจริตและ เสียค่าตอบแทนก็ตาม บุคคลภายนอกต้องได้รับโอนอสังหาฯ จากผู้ที่ เป็นเจ้าของเดิม(ผู้มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิในที่ดิน)
๒๒. กรณีที่เจ้าของที่ดินลงชื่อในใบมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอก ข้อความ เพื่อให้ผู้รับมอบอำนาจไปกระทำการหนึ่ง เป็นการประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง ถ้าผู้รับมอบอำนาจไปกรอกเองว่า เป็นการมอบ อำนาจให้ขายที่ดิน แล้วผู้ซื้อซื้อที่ดินโดยสุจริตแล้ว เจ้าของที่ดินเดิมจะใช้สิทธิตาม ม. ๑๓๐๐ เพิกถอนการจดทะเบียนไม่ได้ ถือว่า เจ้าของ ที่ดินเดิมใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (เพราะตัวเองประมาทเลินเล่ออย่าง ร้ายแรงในตอนต้น)
๒๓. กรณีโฉนดที่ดินหรือ น.ส. ๓ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ออกโดยไม่มีสิทธิ ไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๒๔๙๔ วรรคสอง แม้มีการ โอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผู้รับโอนก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เจ้าของที่ดินที่แท้จริงขอเพิกถอนเอกสารสิทธิดัง กล่าวได้ โดยอาศัยกฎหมายเฉพาะคือประมวลกฎหมายที่ดิน โดย เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่ไม่ถูกต้อง (รวมทั้งกรณีนางเนื่อม ด้วย) (กรณีมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ต้องรับโอนมาจากเจ้าของเดิมที่ เอกสารสิทธิในที่ดินออกมาโดยถูกต้อง)
๒๔. กรณีโอนโฉนดที่ดินไขว้กัน ระหว่างผู้รับโอนเรียกร้องให้ มอบโฉนดที่ดินให้ถูกต้องได้ อ้างมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ไม่ได้ เพราะทั้งสองต่างถือว่าเป็นคู่กรณี ไม่ใช่บุคคลภายนอก แต่ถ้าได้มีการ โอนไปให้บุคคลภายนอกแล้ว ผู้รับโอนย่อมได้รับที่ดินตามที่ได้รับโอนทางทะเบียน เมื่อสุจริต (มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง)
(๙.๓.๒.) การได้มาโดยคําพิพากษาของศาล (ฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘)
- คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๒/๒๔๘๘ คำพิพากษาซึ่งแสดงว่าให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดนั้น บุคคลย่อมได้สิทธิตามคำพิพากษาโดยบริบูรณ์ แม้จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ต้องนำไปจด ทะเบียนเสียก่อน การจดทะเบียนเป็นแต่เพียงทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ฉะนั้น ผู้อาศัยซึ่งชนะคดี ผู้ให้อาศัยย่อมได้สิทธิตามคำพิพากษาโดยไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลบังคับเสมอไปและใช้ยันคู่กรณีได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนสิทธินั้น และยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๙/๒๕๑๑ /คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๓๖๔/๒๕๓๓ /คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๙๓๖/๒๕๓๙ อีก
(๙.๓.๓) การได้มาโดยทางมรดก (มีหรือไม่มีพินัยกรรมก็ตาม) (ม. ๑๕๕๙)
- ม. ๑๕๙๙ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกแก่ทายาท หมายความว่ากองมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยทายาทไม่ต้องแสดงเจตนาเพื่อรับทรัพย์- สินที่เป็นกองมรดก
- ม. ๑๖๐๐ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมาย หรือโดย สภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
๑. การได้ทรัพยสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม
๒. การได้ทรัพยสิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรม
๓. การได้ทรัพยสิทธิโดยทางมรดกในกรณีอื่น
แต่เดิมมานั้นในต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในกรณีที่ดินนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายลง ที่ดินนั้น กลายเป็นที่ดินไม่มีเจ้าของ ใคร ๆ ก็เข้าทำกินได้ การกำหนดเช่นนี้ไม่เป็นธรรมแก่ทายาทของผู้ตาย ต่อมา จึงได้บัญญัติให้ที่ดินตกทอดไปยังทายาทได้ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในพระอัยการเบ็ดเสร็จบทที่ ๕๕ ในปัจจุบันความตายของบุคคลเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาโดยนิติเหตุ โดยแบ่งได้เป็นสองกรณี คือ กรณีเป็นทายาทโดยธรรมและกรณีเป็นผู้รับพินัยกรรม (ฎ. ๑๖๑๙/๒๕๐๖) ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดก ตั้งแต่เจ้ามรดก ตาย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙ ก็ตาม ฎ. ๑๘๑๒/๒๕๐๖ เมื่อ ผู้ทำพินัยกรรมตาย ที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันทีตาม ปพพ. มาตรา ๑๖๗๓)
(๑) การได้ทรัพยสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรม
ในกรณีที่บุคคลถึงแก่ความตายลง มรดกของผู้ตายย่อมตกได้แก่ทายาท ความตายนั้น อาจเป็นการตายโดยธรรมชาติ หรือตายโดยบทบัญญัติของกฎหมาย คือ สาบสูญ (ป.พ.พ. ม.๖๑ และ ม.๖๒) ก็ได้ ผู้รับมรดกโดยสิทธิตามกฎหมายนี้เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม" ดังนั้น บุคคลที่ทรัพย์สินของเขาจะ ตกทอดไปยังทายาทได้นั้นต้องเป็น “บุคคลธรรมดา”เท่านั้น “นิติบุคคล”ไม่อาจมีกองมรดกตกทอด ไปยังทายาทโดยธรรมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙๙ วรรคแรก ว่า “เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” มรดก คืออะไรนั้น มาตรา ๑๖๐๐ ได้บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพ แล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่า มรดกนั้นมิได้ หมายความเฉพาะทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ตายเท่านั้น แต่หมายรวมถึงหน้าที่ด้วย หน้าที่ไม่ใช่ ทรัพย์สิน ดังนั้น ในกรณีหน้าที่จึงมิใช่เป็นเรื่องการได้ทรัพยสิทธิ เช่น นายแดงเจ้ามรดกตาย ลงทิ้งกองมรดกไว้ คือ บ้านและที่ดินราคา ๑ ล้านบาท แต่นายแดงก็มีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่ นายดำอีก ๕ แสนบาท กรณีเช่นนี้บ้านและที่ดินย่อมเป็นทรัพยสิทธิที่ตกทอดไปยังทายาท แต่ หน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้นั้นมิใช่ทรัพยสิทธิ อย่างไรก็ตาม สิทธิในหนี้ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน
การตกทอดทรัพยสิทธิโดยทางมรดกนั้นยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบังคับในเรื่องการตกทอดทรัพยสิทธิด้วย เช่น มาตรา ๑๔๐๔ ได้บัญญัติว่า “สิทธิอาศัยนั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก” หรืออาจมีกฎหมายเฉพาะห้ามโอนหรือตกทอดโดยทางมรดก ซึ่งทรัพย์สินบางชนิดบางประเภทด้วย อนึ่ง สิทธิบางประการแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามตกทอดทางมรดกก็ตาม แต่ถ้าโดยสภาพแล้วเห็นได้ว่าเป็นเป็นสิทธิเฉพาะตัวเช่นนี้ก็ไม่อาจตกทอดมรดกได้ เช่น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิทธิในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตกทอดไปยังทายาทได้ เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ฯลฯ เป็นต้น การตกทอดทรัพยสิทธิโดยทางมรดกนั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในเรื่องนี้ด้วย คือ ป.พ.พ. บรรพ 6
(๒) การได้ทรัพยสิทธิในฐานะผู้รับพินัยกรรม
เจ้ามรดกอาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลใดๆก็ได้ซึ่งเรียกว่า“ผู้รับพินัยกรรม” แต่พินัยกรรมนั้นต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผลทางกฎหมายจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ทำพินัยกรรม ตายลง ทรัพย์สินที่ได้ทำพินัยกรรมไว้ย่อมตกได้กับผู้รับพินัยกรรม การตกทอดมรดกโดยพินัยกรรมนั้น แตกต่างจากการสืบสิทธิในทางมรดกในฐานทายาทโดยธรรม เพราะในกรณีแรกนั้น เจ้ามรดกจะกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดอย่างไรก็ได้ แต่ในกรณีหลังนั้น การสืบสิทธิเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พินัยกรรมต้องอาศัยการแสดงเจตนากำหนด เมื่อตายไว้ ซึ่งต่างจากกรณีมรดกธรรมดาซึ่งมิต้องแสดงเจตนาใด ๆ ไว้
อนึ่ง การได้ทรัพยสิทธิมาโดยทางมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมนั้น นักกฎหมายมีความ เห็นเป็นสองแบบ แบบแรก เห็นว่าการได้ทรัพยสิทธิมาในลักษณะดังกล่าว เป็นการได้มาโดย นิติกรรมอย่างหนึ่ง เพราะพินัยกรรมก็เป็นนิติกรรม แบบที่สอง เห็นว่า แม้พินัยกรรมจะ เป็นนิติกรรม แต่ผลของนิติกรรมดังกล่าว เป็นผลที่เกิดจากอำนาจของกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมาย ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตกทอดมรดกโดยพินัยกรรม ความตายของบุคคลเป็นเหตุของการตกทอดโดยตรง มิใช่เพราะเขาทํานิติกรรมไว้ นิติกรรมจึงเป็นเรื่องที่มาทีหลัง สำหรับ ผู้เขียนนั้นเห็นว่าการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยพินัยกรรมนั้น น่าจะเป็นการได้ทรัพยสิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมมากกว่า
อันที่จริงการได้ทรัพยสิทธิมาโดยพินัยกรรมนั้น ก็คือ การทำนิติกรรมยกให้อย่างหนึ่ง นั่นเอง ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าความตายของผู้ทำพินัยกรรมเป็นเงื่อนไขของผลทางกฎหมาย ซึ่งผลดังกล่าวนี้ กฎหมายกำหนดขึ้นมิใช่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดขึ้นเองแต่อย่างใด การตกทอดทรัพยสิทธิ โดยพินัยกรรมจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้บุคคลได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ
(๓) การได้ทรัพยสิทธิโดยทางมรดกในกรณีอื่น
ทรัพยสิทธินั้นแม้บุคคลจะสามารถได้มาโดยทางมรดกไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรม หรือ ในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็ตาม การได้มาในลักษณะดังกล่าวยังต้องประกอบด้วยเจตนาของเจ้า มรดกอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นกรณีใด กรณีพินัยกรรมนั้นเห็นได้ชัดเจนในเรื่องเจตนาของเจ้ามรดก แต่แม้จะเป็นการตกทอดในฐานะทายาทโดยธรรมก็ตาม ก็อาจพิจารณาได้ว่าถึงอย่างไรเจ้ามรดก คงต้องการให้ทรัพย์มรดกของตนตกได้แก่ทายาท มิฉะนั้นแล้วก็คงจะทำนิติกรรมหรือพินัยกรรม ยกให้ผู้อื่นไปแล้ว แต่มีบางกรณีที่ทรัพย์สินอันเป็นมรดกของบุคคลตกทอดไปโดยอำนาจของกฎหมายโดยแท้ กรณีดังกล่าวนี้ ก็คือ
กรณีทรัพย์สินของภิกษุมรณภาพ ในเรื่องนี้มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๒๓ ว่า “ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือโดยพินัยกรรม” จะเห็นว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่ในสมณเพศ จึงจะตกได้แก่ วัดที่เป็นภูมิละเนาของพระภิกษุนั้น และอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพระภิกษุนั้นยังมิได้จำหน่าย หรือ โอนไปให้แก่ผู้ใดในระหว่างมีชีวิตอยู่ กรณีนี้จึงเป็นทางหนึ่งที่ทำให้มีการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดก แม้ว่าจะเป็นวัดวาอารามก็ตาม แต่วัดก็เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช่นกัน อนึ่ง หากทรัพย์สินของพระภิกษุนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่มีมาก่อนอุปสมบท ทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของภิกษุนั้นตาม มาตรา ๑๖๒๔ การตกทอดมรดกในกรณีนี้ เกิดจากความตายของบุคคล และผลของบทบัญญัติของกฎหมาย เจตนาของเจ้ามรดกมิได้นำเข้ามาพิจารณาด้วย
กรณีทรัพย์สินของพระภิกษุนี้เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดกอย่าง หนึ่ง แต่เป็นการได้มาโดยทางมรดกในกรณีพิเศษ กล่าวคือกฎหมายได้บัญญัติไว้เฉพาะเหตุที่ต้องบัญญัติให้ทรัพย์สินของพระภิกษุตกได้แก่วัดนั้นก็เพราะพระภิกษุเป็นผู้สละแล้วซึ่งกิเลส ดังนั้น สิ่งใดที่สั่งสมไว้ในขณะบวชอยู่นั้นย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่ได้มาเพียงเพื่อการดํารงชีพอยู่ในเพศบรรพชิต หรือเพราะมีผู้ถวายให้ซึ่งไม่อาจขัดศรัทธาได้ ดังนั้น จึงควรให้ทรัพย์สินนั้นตกได้แก่วัด เพื่อวัดจะได้นําทรัพย์สินนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกิจการทางสงฆ์ต่อไป
๑๐) การเพิกถอนการจดทะเบียน ตาม ม. ๑๓๐๐ มีสาระสำคัญ ดังนี้
(๑) ผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนได้ก่อน ตามแนวฎีกา ได้แก่
(ก) ผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว และได้รับมอบทรัพย์สินที่ซื้อแล้ว แต่ถ้า เพียงทำสัญญาจะซื้อจะขาย หรือชำระราคาบางส่วนยังไม่อยู่ในฐานะจดทะเบียนได้อยู่ก่อน
(ข) ผู้จะซื้อที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้จะขายที่ดิน จดทะเบียนให้ ไม่ว่าจะได้ชําระราคาครบถ้วน แล้ว หรือได้รับมอบหรือยัง
(ค) ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน
(ง) ทายาทที่ได้รับมรดก
(จ) เจ้าของรวมคนที่ยอมให้เจ้าของรวมคนอื่นมีชื่ออยู่ในโฉนด
(๒) ถ้าบุคคลภายนอกสุจริต และเสียค่าตอบแทน บุคคลภายนอกชนะ ทั้ง ม. ๑๒๙๙ และ ม.๑๓๐๐
(๓) ผู้จะซื้อที่ไม่เข้าเงื่อนไข มาตรา ๑๓๐๐ ศาลฎีกายอมให้ใช้ มาตรา ๒๓๗ เพิกถอนการโอนที่ดินที่จะซื้อจะขายกันได้ (ทั้ง ๆ ที่การ ใช้มาตรา ๒๓๗ ต้องใช้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเหลือเพียงพอ ชำระหนี้ แต่ศาลให้ตามเจตนา โดยการจะซื้อจะขายต้องการที่ดิน ไม่ใช่ต้องการค่าเสียหาย)
๑๑) สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ม.๑๓๐๔ บัญญัติว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น (๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า (๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ผลของการเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สำคัญมี ๓ ประการ คือ
(๑) จะโอนแก่กันโดยทางปกติไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
(๒) จะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
(๓) จะยึดไม่ได้ คือ ยึดเอามาเพื่อบังคับคดีไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยึดถือเพื่อทรงสิทธิ ครอบครองไม่ได้ (เอกชนเข้ายึดถือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมได้สิทธิครอบครองที่ใช้ยันกันเองได้ แต่ยันรัฐไม่ได้)
(๔) การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่แสดงเจตนาอุทิศ ไม่จำต้องจดทะเบียนโอน แม้หนังสืออุทิศระบุว่าจะไปจดทะเบียนก็ตาม และศาลจะบังคับให้ ผู้อุทิศไปจดทะเบียนก็ไม่ได้เช่นกัน
(๕) เมื่อมีการอุทิศให้แล้ว แม้ผู้ที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามความประสงค์ของผู้อุทิศก็ตาม ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
(๖) การอุทิศให้สาธารณะอาจทำได้โดยปริยาย คือ การยอมให้ ประชาชนใช้สอยที่ดิน โดยไม่หวงกั้น ก็ได้
(๗) การยกที่ดินเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการโดยเฉพาะ เช่น ยกให้เพื่อให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเพื่อหารายได้มาพัฒนา
(๘) ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ระหว่างเอกชนด้วยกัน ใครครอบครองก่อน และครอบครองอยู่ คนนั้นมีสิทธิดีกว่า แต่ถ้าได้ ครอบครองก่อนแล้วสละการครอบครอง ผู้ครอบครองรายหลังซึ่งครอบครองอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า
(๙) ถ้าผู้ครอบครองอยู่ก่อนนำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ออกให้เช่า สัญญาเช่าโมฆะ ผู้เช่าซึ่งครอบครองอยู่มีสิทธิดีกว่า แต่ถ้ามีการนำทรัพย์สินที่ปลูกสร้างบนที่ดินสาธารณะไปให้เช่า ผู้ให้เช่ามี สิทธิดีกว่า สัญญาเช่าใช้บังคับได้
(๑๐) ทรัพย์ใดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมเป็นตลอดไปแม้พลเมืองจะเลิกใช้ไปแล้วก็ตาม
๑๒) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ (ม.๑๓๐๘ - ม.๑๓๐๙) มีสาระสำคัญดังนี้
๑. ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น
๒. ที่งอกริมตลิ่งต้องเป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และ ต้องงอกออกไปจากชายตลิ่ง
๓. ร่องน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินเนื่องจากประชาชนนําสิ่งของไปทิ้ง ไม่ใช่ที่งอกริมตลิ่ง
๔. ที่งอกริมตลิ่งที่งอกจากทางสาธารณะ ก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
๕. ที่งอกหน้าที่ดินมีโฉนดย่อมมีกรรมสิทธิ์ จะครอบครองปรปักษ์ต้องใช้เวลา ๑๐ ปี เมื่อมีผู้ครอบครองปรปักษ์เป็นส่วนสัดมานานกว่า ๑๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ (ข้อสังเกต การเริ่มนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ ต้องเริ่มนับนับแต่กลายเป็นที่งอกแล้ว)
๖. ถ้างอกมาจากที่ดิน น.ส.๓ ย่อมมีเพียงสิทธิครอบครอง แย่งเพียง ๑ ปี เจ้าของก็เรียกคืนไม่ได้แล้ว
๗. ที่ดินที่ถูกน้ำเซาะพังทั้งแปลงจนกลายเป็นทางน้ำแล้ว ย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ภายหลังจะเกิดเป็นที่งอกขึ้น มาใหม่ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นที่งอกที่งอกจากที่ดินแปลงใด เจ้าของแปลงเดิมจะอ้างสิทธิโดยอัตโนมัติไม่ได้
๑๓) การสร้างโรงเรือนที่ดินของผู้อื่น (ม. ๑๓๑๐) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ผู้ที่สร้างโรงเรือน (อาคาร) ในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนด้วย แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงเท่าที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนให้แก่ผู้สร้าง (มาตรา ๑๓๑๐) แต่ถ้าไม่สุจริต บุคคลนั้นต้องทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนแก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของจะเลือกให้ส่งคืนตามที่เป็นอยู่ โดยใช้ราคาโรงเรือนหรือราคาที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนตามแต่จะเลือก(มาตรา ๑๓๑๑)
๒. นำมาตรา ๑๓๑๐ มาใช้กับสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ผู้สร้างต้องรื้อถอนออกไป
๓. คำว่า โดยสุจริต คือ ปลูกสร้างโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของผู้อื่น หรือเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ความสุจริตถือเอาตอนลงมือก่อสร้างไปจนเสร็จการก่อสร้างเป็นสำคัญ
๔. การปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินที่ได้มาจากนิติกรรมที่ตกเป็น โมฆะ จะอ้างว่าสร้างโดยสุจริตไม่ได้
๕. ผู้ที่ปลูกสร้างโรงเรือนโดยอาศัยสิทธิตามนิติสัมพันธ์ไม่เข้า มาตรา ๑๓๑๐-๑๓๑๑ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่า หรือเจ้าของยอมให้ สร้าง หรือ จำง่าย ๆ ว่า โรงเรือนที่จะเข้ามาตรา ๑๓๑๐ และ ๑๓๑๑ ต่อเมื่อโรงเรือนนั้นเป็นส่วนควบของที่ดิน (ไม่เข้าข้อยกเว้นการเป็น ส่วนควบตามมาตรา ๑๔๖)
๑๔) สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น (ม. ๑๓๑๑ - ม.๑๓๑๒) มีสาระสำคัญดังนี้
๑. หลัก กรณีสุจริต ผู้สร้างเป็นเจ้าของ แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนเป็นภาระจำยอม แต่ถ้าภายหลังโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอน การจดทะเบียนเสียก็ได้
กรณี ไม่สุจริต เจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป โดย ให้ทำให้ที่ดินเป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
๒. สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองต้องเป็นโรงเรือน ส่วนจะเป็นส่วนใดของโรงเรือนก็ได้ แต่ส้วมไม่ใช่โรงเรือน ท่อน้ำทิ้งก็ไม่ใช่โรงเรือน ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒
๓. กรณีเจ้าของเดิมปลูกโรงเรือนในที่ดินของตนเองแล้วแบ่งแยกที่ดินโอนให้บุคคลอื่น แล้วปรากฏในภายหลังว่า โรงเรือนรุกล้ำที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ไม่เข้ามาตรา ๑๓๑๒ โดยตรง ต้องอาศัยมาตรา ๔ เทียบกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งนำมาตรา ๑๓๑๒ มาใช้บังคับ
๔. การสร้างแล้วรุกล้ำ ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อย ถ้าทั้งหลังอยู่ในที่ดินของคนอื่น หรือส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของคนอื่น ไม่ใช่รุกล้ำ
๕. ก่อสร้างบ้านในย่านที่เจริญแล้วโดยไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ตรงกับโฉนดที่ดินของตนเสียก่อน เมื่อมีการรุกล้ำถือว่าไม่สุจริต
๖. การก่อสร้างแล้วรุกล้ำพิจารณาในการก่อสร้างครั้งแรก ถ้าต่อเติมรุกล้ำไม่เข้ามาตรา ๑๓๑๒ ต้องรื้อถอนออกไป จะใช้มาตรา ๔ ก็ไม่ได้
๗. ภาระจำยอมในส่วนที่รุกล้ำเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย และเกิดภาระจำยอมทันทีที่สร้างรุกล้ำไม่ต้องรอให้ถึง ๑๐ ปี
๑๕) การรวมสัมภาระ
๑. การนำสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นมาสร้างเป็นอสังหาริมทรัพย์ ดู มาตรา ๑๓๑๕
๒. กรณีนำสังหาริมทรัพย์มาสร้าง คิด มาตรา ๑๓๑๗ ก่อน แล้วจึงพิจารณา มาตรา ๑๓๑๖ แล้ว ประกอบมาตรา ๑๔๔ โดย
๒.๑) ค่าแรงมากกว่าค่าสัมภาระ ผู้ทำทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของ แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ (มาตรา ๑๓๑๗ วรรคสอง)
๒.๒) ค่าสัมภาระมากกว่าค่าแรง เจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่ต้องใช้ค่าแรงงาน (มาตรา ๑๓๑๗ วรรคหนึ่ง) ถ้าเจ้าของสัมภาระมีหลายคน ต้องดูต่อว่า ใครเป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำมารวมกัน (ดู มาตรา ๑๓๑๖) ถ้า
(๑) ทรัพย์นั้นมีทรัพย์ประธาน (ดู มาตรา ๑๔๔ หลัก 1.U.P) เจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของ แต่ต้องใช้ค่าทรัพย์ให้ผู้อื่นนั้น (มาตรา (๑๓๑๖ วรรคสอง) จบเพียงเท่านี้
(๒) ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีทรัพย์ประธาน เจ้าของสัมภาระทั้งหมด เป็นเจ้าของร่วมกัน (มาตรา ๑๓๑๖ วรรคแรก)
๑๖) สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต จากการขายทอดตลาด (มาตรา ๑๓๓๐) มีสาระสำคัญดังนี้
๑. ผู้ซื้อทรัพย์ที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องปรากฏว่าได้มีการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย หากขายทอดตลาดไม่ชอบ แล้วศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
๒. แต่ถ้ายังอยู่ระหว่างดำเนินการให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ จึงมีสิทธิฟ้องผู้ที่อยู่ในที่ดิน
๓. กรณีทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ซื้อไม่ได้รับความคุ้มครอง แม้จะซื้อโดยสุจริตก็ตาม
๔. ผู้ซื้อทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครอง ได้ทรัพย์นั้นเสมือนหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าทรัพย์นั้นมีภาระ เช่น จำนอง ผู้ซื้อก็ต้องรับภาระมาด้วย
๕. กรณีต่างฝ่ายต่างซื้อที่ดินแปลงเดียวกันจากการขายทอดตลาดของศาล คนแรกซื้อที่ดิน น.ส. ๓ คนที่สองซื้อที่ดิน น.ส. ๔ ซึ่งออกมาจาก น.ส.๓ คนซื้อ น.ส. ๔ ได้สิทธิดีกว่า เพราะถือว่า น.ส. ๔. เมื่อออกมาแล้วมีผลเป็นการยกเลิก น.ส. ๓
๖. การขายทอดตลาดตาม มาตรา ๑๓๓๐ เป็นการขายตามคำสั่งของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ในคดีล้มละลาย ถ้าเป็นการขายทอดตลาดแม้เป็นโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ เช่น ศุลกากร หรือ สรรพากร ฯลฯ ไม่เข้ามาตรา ๑๓๓๐ แต่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๓๓๒
๑๗) ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในท้องตลาด (ม. ๑๓๓๒) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ผู้ซื้อที่ได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งผู้เช่าซื้อที่ชำระราคาครบ แล้วด้วย
๒. ถ้าผู้นั้นนำทรัพย์มาขายในท้องตลาด แล้วมีพ่อค้ารับซื้อ ปกติไม่ถือว่าเป็นการซื้อจากท้องตลาด เว้นแต่ ตลาดนั้นเป็นตลาดทั้งตลาดผู้ซื้อและตลาดผู้ขาย เช่น สี่แยกคอกวัว (เป็นท้องตลาดทั้งการซื้อ และการขายหวยที่ถูกรางวัล) เป็นต้น
๓. การซื้อจากพ่อค้า รวมถึงซื้อจากแม่ค้าด้วย
๔. ผู้ซื้อตามมาตรา ๑๓๓๒ มีสิทธิดีกว่าผู้ขาย เพราะถ้าทรัพย์ อยู่ในมือผู้ขาย เจ้าของเรียกคืนได้โดยไม่ต้องเสนอใช้ราคา แต่เมื่อมาอยู่ในมือผู้ซื้อ เจ้าของมาทวงคืนต้องเสนอใช้ราคาที่ผู้ซื้อซื้อมา (เป็น ไปตามข้อยกเว้นของหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ซึ่งข้อยกเว้น ได้แก่ “ผู้รับโอนอาจมีสิทธิดีกว่าผู้โอนได้” โดยผู้รับโอนอาจได้กรรมสิทธิ์ เช่น กรณีมาตรา ๑๓๓๐ หรือมีสิทธิดีกว่าผู้โอน เช่น กรณีมาตรา ๑๓๓๒ ดังนั้น การที่ผู้รับโอนมีสิทธิดีกว่าผู้โอน ไม่ได้หมายความเสมอไปว่าแม้ผู้โอนไม่มีกรรมสิทธิ์ ผู้รับโอนก็ได้กรรมสิทธิ์)
๑๘) แดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ (ม. ๑๓๓๕ - ม. ๑๓๓๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้
ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ระบุว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องแดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์ กล่าวคือ บุคคลผู้เป็นของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิ์ ดังนี้
(๑) ใช้สอยทรัพย์สินของตน
(๒) จำหน่ายทรัพย์สินของตนเอง
(๓) ได้ซึ่งดอกผลของทรัพย์สิน
(๔) ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้
(๕) ขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิได้รับอนุญาต
(๖) เป็นการฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ ไม่อายุความ
(๗) กรณีตาม ม. ๑๓๓๗ เกี่ยวกับการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ สามารถฟ้องได้ เช่น ไม่อาจใช้เป็นทางเข้าออกได้เลย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นความเสียหายธรรมดา จะฟ้องไม่ได้
๑๙) ทางจำเป็น (ม.๑๓๔๙ - ม. ๑๓๕๕) มีสาระสำคัญดังนี้
๑. ที่ดินติดคลองสาธารณะจะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้ เพราะถือว่ามีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่คลองนั้นต้องใช้สัญจรไปมาได้ด้วย ถ้าคลองนั้นตื้นเขินจนไม่สามารถเดินเรือ หรือใช้สัญจรไปมาได้หรือใช้ได้เป็นบางครั้งบางคราวหรือไม่มีน้ำที่จะใช้สัญจรได้ตลอดปี ก็ยังไม่พอถือว่าเป็นทางสาธารณะ และถือ ว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่สาธารณะ
๒. ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับทางสาธารณะโดยตรง คือ ขอผ่านที่ดินหลาย ๆ แปลงเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้ แปลง ใน ๆ จะอ้างว่าไม่ได้เชื่อมกับทางสาธารณะโดยตรงไม่ได้
๓. เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นและมีสิทธิ ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
๔. การใช้ทางจำเป็นไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เดินอย่างเดียว มีสิทธิใช้รถยนต์ผ่านทางได้
๕. แต่ถ้าก่อนซื้อที่ดินมาเจ้าของที่ดินรู้อยู่แล้วว่าทางจำเป็นใช้ เฉพาะแต่การเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะขอใช้รถยนต์ ผ่านทางจำเป็นไม่ได้
๖. ทางจำเป็นคงมีอยู่ตราบเท่าที่ยังจำเป็น ถ้าต่อมาผู้ที่เป็น เจ้าของที่ดินแปลงตาบอด ซื้อที่ดินรอบด้าน ทำให้มีทางออกสู่สาธารณะได้ ทางจำเป็นก็ปิดทางได้ เพราะหมดความจำเป็น
๗. มาตรา ๑๓๔๙ ไม่ได้บัญญัติว่า ต้องใช้ค่าทดแทนก่อนเปิดทางจำเป็น เจ้าของที่ดินตาบอดจึงมีสิทธิฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้โดยไม่ต้องเสนอค่าทดแทนก็ได้ ฝ่ายที่ถูกฟ้องต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทน หรือฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างจากมาตรา ๑๓๕๒ ถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ สายไฟฟ้าซึ่งทำให้ผู้ที่จะวางท่อต้องเสนอค่าทดแทนมาในฟ้องให้แก่เจ้าของที่ดินด้วย ไม่อย่างนั้นศาลไม่ยอม
๘. ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่โดยผลของกฎหมาย เพราะเป็นข้อจำกัดกรรมสิทธิ์ จึงไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสิทธิ ก็ตกติดไปกับ ที่ดินเมื่อมีการโอนได้
๙. ทางจำเป็นกรณีมีการแบ่งแยก มาตรา ๑๓๕๐ ต้องเป็นการแบ่งแล้วทําให้ ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ไม่ใช่ทางสาธารณะเกิดขึ้นในภายหลัง (กรณีนี้ขอมาตรา ๑๓๕๐ ไม่ได้ ต้องขอตามมาตรา ๑๓๔๙)
๑๐. การแบ่งแยกต้องเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ถ้าแบ่งแล้วมีทางออก ต่อมาทางปิด ไม่เข้ามาตรา ๑๓๕๐
๒๐) กรรมสิทธิ์รวม (ม. ๑๓๕๖ - ม. ๑๓๖๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ชายหญิงอยู่กินร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สิน ที่ทำมาหาได้แม้จะไม่ใช่สินสมรส ก็ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่าง สามีภริยา
๒. เจ้าของรวมที่แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมมีสิทธิในที่ดินส่วนที่ตนครอบครอง (ถือว่ามีการแบ่งแล้วโดยปริยาย)
๓. เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๓๕๙ เจ้าของรวมคนหนึ่งจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้บุกรุกได้ โดยไม่ต้อง ให้เจ้าของรวมคนอื่นมอบอำนาจให้
๔. การจำหน่ายส่วนของทรัพย์ในกรรมสิทธิ์รวม ไม่ต้องอาศัย ความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่น แต่ถือว่าการจำหน่ายนี้เป็นการ ขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนด้วย
๕. แต่การจำหน่ายตัวทรัพย์ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ถ้าไม่ได้รับความยินยอม สัญญานั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ถือว่าเป็นการขายส่วนของเจ้าของผู้ตกลงขายนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันเจ้าของ รวมคนอื่น
๒๑) สิทธิครอบครอง (ม. ๑๓๖๗ - ม. ๑๓๘๖) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การกระทำที่จะถือว่าเป็นการยึดถือทรัพย์สินเพื่อตนอันจะได้สิทธิครอบครองนั้น จะต้องพิจารณาว่าผู้นั้นได้เข้าเกี่ยวข้องโดยการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นพอสมควรตามสภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น จึงจะได้สิทธิครอบครอง
๒. การครอบครองที่ดินในระหว่างเป็นความกัน ถือว่าเป็นการ ครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาผู้ครอบครอง (ผู้แพ้คดี) จะเปลี่ยนลักษณะการยึดถือต้องใช้มาตรา ๑๓๔๑ จึงจะได้ เป็นการครอบครองเพื่อตน นอกจากนั้น การครอบครองหลังเป็นความก็เป็นการครอบครองแทนผู้ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ เรียกคืนได้เสมอ แม้เกิน ๑ ปี
๓. การแย่งการครอบครองโดยตรง ต้องมีการเข้าไปยึดถือและ ครอบครองตัวทรัพย์โดยตรง เช่น เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดิน เป็นต้น
๔. ลำพังเพียงการขอไปออก น.ส.๓ หรือเสียภาษีอากร ยังไม่ใช่การแย่งการครอบครอง แต่ถ้ามีการเข้าไปครอบครองตัวทรัพย์ที่ดินด้วย ถือว่าเป็นการแย่ง
๕. การที่บุคคลไปคัดค้านการรังวัดที่ดิน และห้ามไม่ให้ทำอะไร ในที่ดิน หรือไปคัดค้านการออก น.ส.๓ โดยไม่ได้อยู่ในที่ดินนั้น เพียงเท่านี้ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง
๖. ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น ไม่ถือว่าแย่งการครอบครอง เจ้าของจึงมีอำนาจฟ้องเรียกคืนได้ตลอดเวลา จะถือว่าแย่งต่อเมื่อใช้มาตรา ๑๓๘๑ เสียก่อน
๗. เมื่อมีการแย่งการครอบครองที่ดิน น.ส.๓ เกิน ๑ ปี และที่ดินนั้นมีโรงเรือนอยู่ด้วย เมื่อเจ้าของไม่สามารถเรียกคืนได้ โรงเรือนนั้นย่อมตกเป็นส่วนควบ เป็นสิทธิแก่ผู้ที่แย่งการครอบครองนั้นด้วย (กรณีนี้ดูการได้ทรัพย์ประธานเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่อสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงเรือนควรจะครอบครองปรปักษ์ ๑๐ ปี ก็ตาม)
๘. ระยะเวลา ๑ ปีนับแต่ถูกแย่ง ถือวันแย่งตามความเป็นจริง ไม่ใช่ถือเอาวันที่เจ้าของรู้ว่าถูกแย่ง
๙. ระยะเวลา ๑ ปี ไม่ใช่อายุความ แต่ถือเป็นกำหนดเวลา ในการฟ้องคดี จึงเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง แม้คู่ความไม่ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็หยิบยกขึ้นมาได้เอง ต่างจากอายุความที่เมื่อคู่ความไม่ยกขึ้นต่อสู้ศาลจะยกขึ้นต่อสู้เองไม่ได้
๑๐. ผู้ครอบครองเกรงกลัวอิทธิพล จึงต้องออกจากที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย มิใช่สละการครอบครอง
๑๑. สัญญาซื้อขายที่ดินมือเปล่าที่ตกเป็นโมฆะเพราะไม่จดทะเบียน และสมบูรณ์โดยการส่งมอบนั้น ผู้ซื้อจะฟ้องให้ผู้ขายโอนทางทะเบียนไม่ได้ เพราะผู้ขายไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่ต้องกระทําเช่นนั้น (สัญญาตกเป็นโมฆะไปแล้ว)
๑๒. บ้านที่ปลูกในที่สาธารณะเจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิครอบครอง จึงอาจโอนการครอบครองให้แก่กันได้
๑๓. กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมือเปล่า(แสดงว่าเจตนา จดทะเบียนที่ดิน) ปกติถือว่า การที่ผู้จะขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้จะซื้อ แล้วผู้จะซื้อครอบครองแทนผู้จะขายจนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนกัน หาได้มอบการครอบครองโดยสิทธิขาดไม่
๑๔. แต่ถ้าผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อเข้าทำประโยชน์แสดงตน เป็นเจ้าของประกอบกับทั้งสองฝ่ายต่างละเลยไม่ดำเนินการทางทะเบียน จนเวลาล่วงเลยนานไป ถือว่าผู้จะขายได้สละการครอบครองให้ผู้จะซื้อ โดยสิทธิขาดแล้ว จะเรียกคืนในภายหลังไม่ได้
๑๕. การขายฝากนั้น ไม่ถือว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครอง โดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แม้จะทำสัญญาขายฝากที่ดินมือเปล่า กันเองตกเป็นโมฆะ และผู้ซื้อฝากจะได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ใน ที่ดินที่ขายฝากแล้วก็ตาม ก็เป็นการครอบครองเพื่อรอให้ผู้ขายมา ไถ่คืน จึงเป็นการครอบครองแทนผู้ขายฝากเท่านั้น ดังนั้น ผู้ซื้อฝากจะครอบครองนานเท่าใด หรือผู้ขายฝากไม่นำเงินไปไถ่คืนในกำหนดผู้ซื้อก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ถ้าผู้ซื้อฝากประสงค์จะได้สิทธิครองครอง ต้องใช้มาตรา ๑๓๘๑
๑๖.แต่หากสัญญาขายฝากที่ตกเป็นโมฆะนั้น มีข้อตกลงแสดงให้เห็นว่าผู้ขายสละสิทธิครอบครองไว้ล่วงหน้า (เช่น ข้อตกลงว่า ถ้าผู้ขายฝากไม่ไถ่คืนในกำหนดให้ตกเป็นสิทธิของผู้ซื้อฝาก) เช่นนี้ ถ้า ผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนในกำหนด ถือว่าผู้ขายฝากสละสิทธิครอบครองใน วันที่ครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ซื้อฝากย่อมได้สิทธิครอบครองเมื่อพ้น กำหนดไถ่ถอน
๑๗. การเปลี่ยนการยึดถือ ตามมาตรา ๑๓๘๑ มีความเกี่ยว ข้องกับการแย่งการครองครองตามมาตรา ๑๓๗๕ หรือ ครอบครอง ปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ คือ ตราบใดที่ยังเป็นการครอบครอง แทน ก็ไม่ถือว่ามีการแย่งการครอบครอง และจะอ้างนับระยะเวลา ๑ ปี หรือ ๑๐ ปี ไม่ได้ จะนับได้ต่อเมื่อผู้ครอบครองดังกล่าว ได้บอก กล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้ที่ตนยึดถือไว้แทนแล้ว เท่านั้น
๑๘. ผู้ที่รับโอนที่ดินซึ่งผู้โอนครอบครองแทนผู้อื่น ก็ถือว่า ผู้รับโอนครอบครองแทนผู้อื่นเช่นกัน
๑๙. การบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครอง ต้องเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้ที่ตนครอบครองแทนหรือตัวแทน
๒๐. การบอกกล่าวโดยความโมโห ไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าว เปลี่ยนการยึดถือ เช่น ทะเลาะกับผู้ที่ตนครอบครองแทน บอกว่าจะแย่งแล้ว ไม่ได้จริงจังอะไร (ไม่ได้มีเจตนาบอกกล่าวที่แท้จริงนั้นเอง)
๒๑. การที่ผู้ครอบครองแทนไปแจ้งขอออก น.ส.๓ เป็นชื่อของตนเอง ยังไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือ เพราะไม่ได้บอกต่อผู้ที่ตนยึดถือไว้แทน แต่หากมีการออกมารังวัด แล้วเจ้าของตัวจริงมาคัดค้าน ถือว่าผู้ครอบครองแทนได้บอกกล่าวเปลี่ยนการยึด ถือแล้ว
๒๒. ในทางกลับกัน หากเจ้าของไปขอออกโฉนดหรือ น.ส.๓ แต่ผู้ครอบครองแทนไปคัดค้าน ถือว่าได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนการ ยึดถือแล้ว
๒๒) ภาระจำยอม (ม.๑๓๘๗-ม.๑๔๐๑) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ผู้ที่จะฟ้องขอให้เปิดทางภาระจำยอมต้องเป็นเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เพราะภาระจำยอมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์
๒. การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดิน ของบุคคลอื่นเท่านั้น ผู้ที่จะอ้างการได้มาซึ่งทางภาระจํายอมโดยอายุความจึงต้องเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของบ้านแต่มิได้เป็น เจ้าของที่ดิน ไม่อาจอ้างการได้สิทธิโดยอายุความได้ :
๓. ผู้เช่าหรือผู้อาศัย ซึ่งใช้เดินผ่านที่ดินของผู้อื่น แม้จะไม่มี สิทธิได้ภาระจํายอม แต่หากต่อมาบุคคลดังกล่าวได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในภายหลังก็มีสิทธิในภาระจํายอมได้ และมีสิทธินับระยะเวลาตอนใช้ภารยทรัพย์ในขณะเป็นผู้เช่าผู้อาศัยรวมเข้ากับ ระยะเวลาภายหลังได้กรรมสิทธิ์ด้วย
๔. กรณีกรรมสิทธิ์รวม เมื่อได้มีการแบ่งแยกครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ย่อมนับอายุในการทางเดินเพื่อภาระจำยอมได้ แต่ถ้ายังไม่ได้แยกครอบครอง ก็ยังไม่เริ่มนับ
๕. อายุความภาระจำยอม ไม่ว่าที่ดินจะเป็น น.ส.๔ หรือ น.ส.๓ ก็ต้องใช้เวลาเดิน ๑๐ ปี เพราะ มาตรา ๑๔๐๑ ให้นำอายุความ ได้สิทธิในลักษณะ ๓ มาใช้ ซึ่งก็ได้แก่ มาตรา ๑๓๘๒ ครอบครองปรปักษ์ ๑๐ ปี
๖. การใช้ภาระจำยอมโดยถือวิสาสะหรือได้ขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้ว เท่ากับยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ไม่ ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ
๗. การได้ภาระจำยอมโดยอายุความไม่ต้องใช้ค่าทดแทนหรือ ค่าเสียหายแก่ภารยทรัพย์
๘. เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิกระทำการทุกอย่างอันจำเป็น เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม การจดทะเบียนภาระจำยอมก็เป็นการ กระทำเพื่อรักษาสิทธิ เจ้าของสามยทรัพย์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จด ทะเบียนภาระจำยอมได้
๙. ภาระจำยอมที่เกิดขึ้นโดยสัญญา เมื่อมีการจำหน่าย สามยทรัพย์ ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ เว้นแต่ข้อสัญญา กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ฎ. ๓๗๗/๒๕๓๖) แม้จะยังไม่จดทะเบียน ก็ตาม (ไม่น่าจะถูกต้อง เท่ากับรับว่าเป็นทรัพยสิทธิ)
ตัวอย่างบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าของไทยทรงเป็นฉัตรปกป้องคุมครองพระพุทธศาสนา
น้ำพระทัยและพระราชดำรัส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช(รัชสมัยกรุงศรีอยุธยา)
“......เพราะในราชวงศ์ของเรา ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนา อย่างนี้ เป็นการยากอยู่....”
......ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อ ๆ กันมาถึง ๒๒๒๙ ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะให้ เปลี่ยนศาสนาเสียนั้น เป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้......
น้ำพระทัยและพระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (รัชสมัยกรุงธนบุรี)
อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่พระศาสดาสมณะพระพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กันฯ
......................................
“การเตรียมตัวในวันนี้.....บอกถึงชัยชนะในวันพรุ่ง”
“ความสำเร็จใด ๆ ในโลกนี้ มีบ้างไหมที่ไม่ใช้ความพยายาม...
.......ความสำเร็จที่งดงาม เกิดจากความพยายามนี่เอง”
แนวคำถาม – ตอบ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน
๑.ถาม สิ่งที่จะเป็น “ทรัพย์” ในทางกฎหมายนั้น ลำพังเพียงการมีรูปร่างเฉยๆ จะถือว่าเป็นทรัพย์ หรือต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์อื่น เช่น อาจมีราคาและอาจถือเอา ได้หรือไม่ ?
ตอบ สิ่งที่จะเป็นทรัพย์นั้นนักกฎหมายบางท่านเห็นว่า นอกเหนือจากการมีรูปร่างแล้ว ยังต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่ว่า “อาจมีราคาและอาจถือเอาได้” อีกด้วย โดยเป็นการพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๗ ประกอบมาตรา ๑๓๘
แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ แม้แต่ในมาตรา ๑๔๓ เอง ซึ่งบัญญัติถึงทรัพย์นอกพาณิชย์ ยังได้ให้ ความหมายว่า “ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถ ถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งเท่ากับ ยอมรับอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ไม่สามารถถือเอาได้ยังเป็น “ทรัพย์” และ เป็น “ทรัพย์นอกพาณิชย์” เช่น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นต้น
๒.ถาม “ทรัพย์” เป็นส่วนหนึ่งของ “ทรัพย์สิน” ใช่หรือไม่ ?
ตอบ หากถือว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอาจมีราคาหรืออาจถือเอาได้แล้ว ทุกสิ่งที่เป็นทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สินเสมอไป เช่น พระอาทิตย์ ดวงจันทร์นั้นจัดว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ แต่ก็ยังคง เป็น “ทรัพย์” แต่เมื่อไม่อาจถือเอาได้ก็ย่อมไม่เป็น “ทรัพย์สิน”
๓.ถาม กระแสไฟฟ้า เป็น “ทรัพย์” หรือไม่ ?
ตอบ โดยสภาพนั้น กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ไม่มีรูปร่าง เพราะไม่อาจจับต้องได้ จึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๗
แต่อย่างไรก็ตาม ในทางอาญา ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ โดยมติที่ประชุมใหญ่ ในประเด็นที่ว่า ลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ไว้ว่า การที่จำเลย เอาสายไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมต่อเข้ากับสายไฟฟ้าใหญ่ (สายเมน) การลัก กระแสไฟฟ้าย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๔ หรือ ๓๓๕ แล้วแต่กรณี
มีข้อสังเกตว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกกฎหมายกำหนดให้ การลักพลังงานเป็นความผิดอาญาเฉพาะแล้ว ศาลฎีกาคงยึดถือต่อ ไปว่า การลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
๔.ถาม สัญญาณโทรศัพท์ เป็น “ทรัพย์” หรือไม่ ?
ตอบ สัญญาณโทรศัพท์ โดยสภาพก็เป็นพลังงาน เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้า จึงไม่ถือว่าเป็น “ทรัพย์” ตามมาตรา ๑๓๗ แต่อย่างไรก็ตาม ในทางอาญา ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยว กับการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์ในประเด็นว่าเป็นความผิดอาญา ฐานลักทรัพย์หรือไม่ ไว้เป็นแนวดังนี้
(๑) กรณีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่เป็น ความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๔/๒๕๓๙ จำเลยนำโทรศัพท์มือถือ มาปรับจูนและก็อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้ รับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเพียงการแย่งใช้คลื่น สัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยให้การ รับสารภาพ ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๗๗/๒๕๔๓ การกระทำของจำเลยตาม ฟ้องที่ระบุว่าจำเลยร่วมกับพวกลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นทรัพย์ ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกน้ำ เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของ โทรศัพท์ผู้อื่นมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานี และชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ของผู้เสียหายนั้นเป็นเพียงการรับ ส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณ โทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินของ ผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) วรรคสอง แต่จำเลยคงมีความ ผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคมฯ
(๒) กรณีการลักลอบใช้สัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ สาธารณะ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒ (ประชุมใหญ่) จำเลย ให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วว่า จำเลยเอาสัญญาณโทรศัพท์จาก ตู้โทรศัพท์สาธารณะขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้จริง คำว่า “โทรศัพท์” สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๕๐ อธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้า นั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนกระแส ไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่งสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแส ไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่ หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอาสัญญาณโทรศัพท์สาธารณะ ที่อยู่ในความครอบครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้ เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่น เดียวกับการลักกระแสไฟฟ้าตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุม ใหญ่ที่ ๔๗๗/๒๕๐๑
๕.ถาม สรุปแล้วเกี่ยวกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องการลักพลังงานนั้นศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐานไว้อย่างไร
ตอบ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องการลักพลังงานนั้น ศาลฎีกาวาง แนวบรรทัดฐานไว้แยกได้เป็น ๒ กรณี คือ
กรณีแรก มีความผิดฐานลักทรัพย์ คือ การลักกระแสไฟฟ้า (คำพิพากษาฎีกา ๔๗๗/๒๕๐๑ ประชุมใหญ่) และการลักสัญญาณ โทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ (คำพิพากษาฎีกา ๑๘๘๐/๒๕๔๐ ประชุมใหญ่)
กรณีที่สอง ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ คือ การลักลอบใช้ สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (คำพิพากษาฎีกา ๕๓๕๔/๒๕๓๙ และ คำพิพากษาฎีกา ๔๑๗๗/๒๕๔๓)
๖.ถาม นายหนึ่งถือหุ้นในบริษัท พีซี จำกัด นายหนึ่งได้ขายหุ้นทั้งหมดให้นายสอง โดยได้รับเงินครบถ้วนแล้ว และได้ส่งมอบใบหุ้นให้นายสอง แต่ไม่ได้โอนให้ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด นายสองยึดใบหุ้น ไว้เป็นเวลากว่า ๕ ปี ต่อมานายหนึ่งถูกนายสามเจ้าหนี้เงินกู้ฟ้องคดี เรียกเงินกู้ แล้วศาลพิพากษาถึงที่สุดให้นายหนึ่งชำระหนี้เงินกู้พร้อม ดอกเบี้ยให้นายสาม แต่นายหนึ่งไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ นาย สามได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายหนึ่งแล้วพบว่า มีหุ้นจำนวนหนึ่ง ที่นายหนึ่งได้ขายให้นายสอง แต่ไม่ได้โอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึง เห็นว่ายังคงเป็นของนายหนึ่งอยู่เช่นนี้นายสามจะนำยึดหุ้นที่นายหนึ่งขายให้นายสองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ ?
ตอบ ทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะนำยึดเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้นั้น ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา) (ดูมาตรา ๒๑๔) แม้หุ้นในกรณีนี้ นายหนึ่งจะโอนให้นายสองไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ตาม แต่หุ้นเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๓๘ โดยเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อนายสองได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็น เจ้าของติดต่อกันเกินกว่า ๕ปีนายสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นนั้นตาม หลักการครอบครองปรปักษ์ (ดูมาตรา ๑๓๔๒)
ดังนั้น เมื่อหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสองเสียแล้ว นายสาม เจ้าหนี้นายหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจนำยึดหุ้นดังกล่าว
ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๔/๒๕๔๗ หุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทจำกัด เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๓๔ การโอนหุ้นของ บริษัทไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้รับโอนได้ปกครองมาเกิน ๕ ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์ใบหุ้นตามมาตรา ๑๓๔๒
๗.ถาม นายจันทร์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนายอังคารเป็นเวลา ๓๐ ปี โดยได้มีการจดทะเบียนสัญญาเช่าดังกล่าวตามมาตรา ๕๓๔ ถูกต้อง โดยตกลงค่าเช่ากันไว้ปีละ ๑๐ ล้าน ต้องจ่ายทันที่ที่ลงนามในสัญญา เช่า ซึ่งนายจันทร์ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งหมดให้นายอังคารแล้ว ต่อมา เมื่อนายจันทร์ได้เข้าอยู่ในที่ดินเป็นเวลา ๑๐ ปี นายจันทร์มีความ "จำเป็นทางการเงิน ต้องการเงินมาใช้ในการประกอบกิจการ จึงมีความประสงค์จะขายสิทธิการเช่าดังกล่าวนายจันทร์จะสามารถขายสิทธิการ เช่าดังกล่าวได้หรือไม่ หากได้ต้องดําเนินการอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ตอบ สิทธิเป็นทรัพย์สินแต่สิทธิการเช่าต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและสัญญาซึ่งนายจันทร์ผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าได้ก็ต่อเมื่อนายอังคาร ผู้เช่ายินยอม โดยหากนายอังคารยินยอม นายอังคารก็ย่อมสามารถ โอนสิทธิการเช่าให้ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเช่าต่อไปได้
ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๒๒/๒๕๓๖ สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สิน แม้สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะห้ามมิให้ผู้เช่าโอนสิทธิการ เช่าไปยังบุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก็ไม่ใช่ ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมายเพราะหากผู้ให้เช่ายินยอมก็โอน กันได้ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติว่า เป็นทรัพย์สินที่ไม่ อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สิทธิการเช่าจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
๘.ถาม “สิทธิเรียกร้อง” หรือ “บุคคลสิทธิ” หรือ “หนี้” เป็น “ทรัพย์สิน” หรือไม่ ?
ตอบ สิทธิเรียกร้อง (หรือบุคคลสิทธิ หรือหนี้) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง แต่สิทธิทั้งหลายเป็นสิ่งที่อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ สิทธิเรียกร้องย่อมเป็นทรัพย์สิน (ดูมาตรา ๑๓๔)
๙. ถาม เมื่อ “สิทธิเรียกร้อง” เป็นทรัพย์สิน สิทธิในการเช่าซื้อ และสิทธิในสัญญาต่าง ๆ จะสามารถเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่ ?
ตอบ การที่เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือลูกหนี้ ที่เรียกว่า “สิทธิเรียกร้อง” นั้น เป็นสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ สิทธิที่นี้ย่อมมีราคา เพราะนำมาซึ่งทรัพย์สิน โดยในทางบัญชีนั้นถือว่าลูกหนี้เป็นสิน ทรัพย์ของกิจการอย่างหนึ่งที่เมื่อลงบัญชีจะลงไว้ทางด้านเดบิต และ เมื่อกิจการประสงค์จะมีรายได้จากลูกหนี้ก่อนที่หนี้ของลูกหนี้นั้นจะ ครบกำหนด ก็ย่อมสามารถขายลูกหนี้นั้นให้ผู้ที่ประสงค์จะรับซื้อได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การซื้อขายหนี้”
แม้ว่าในทางปฏิบัติจะเรียกว่าการซื้อขายหนี้ แต่สถานะที่แท้ จริงของการซื้อขายหนี้ในทางกฎหมายนั้น คือ การโอนสิทธิเรียกร้อง โดยมีค่าตอบแทน ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา ๓๐๖ คือ ระหว่างเจ้าหนี้ (ผู้ขายหนี้) และผู้รับโอน (ผู้ซื้อหนี้) ต้องทำสัญญา โอนเป็นหนังสือ และส่งคำบอกกล่าวให้แก่ลูกหนี้ การโอนจึงจะมีผล สมบูรณ์ตามกฎหมาย
การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น คือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมโอน สิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง โดยมีผลให้ บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้คนเดิม และมี สิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม
๑๐.ถาม นายดำได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจากนายขาว โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วครบถ้วน จำนวน ๕ ล้านบาท รอเพียงให้นายขาวโอนที่ดินทาง ทะเบียนให้ ต่อมานายดำได้โอนสิทธิการเช่าซื้อที่ดินให้แก่นายฟ้า ซึ่งนายฟ้าได้จ่ายเงินจำนวน ๖ ล้านบาทให้นายดำ โดยการโอนสิทธิ เรียกร้องนี้ไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือ หลังจากนั้นนายฟ้าได้ติดต่อให้นายขาวไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนโดยกล่าวอ้างว่าได้รับโอนสิทธิ มาจากนายดำ นายขาวไม่ไปยอมจดทะเบียนให้ เช่นนี้ นายฟ้าจะฟ้อง ให้นายขาวไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตามสัญญาเช่าซื้อได้หรือไม่
ตอบ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายดำและนายฟ้านั้น ตามมาตรา ๓๐๖ กำหนดแบบให้ต้องทำเป็นหนังสือ และบอกกล่าวการโอนให้แก่นาย ขาวลูกหนี้ เมื่อการโอนสิทธิการเช่าซื้อนี้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ การโอน ย่อมตกเป็นโมฆะ นายฟ้าจะกล่าวอ้างสิทธิซึ่งได้มาตามสัญญาที่ตก เป็นโมฆะไปแล้วนั้น เรียกร้องให้นายขาวไปจดทะเบียนให้ไม่ได้
๑๑.ถาม นายมกราทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากการเคหะแห่งชาติ โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำนวน ๑ ล้านบาท รอเพียงการไป จดทะเบียนโอน แต่ก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนกับการเคหะแห่งชาติ นั้น นายมกราได้ขายสิทธิในที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้นายกุมภาใน ราคา ๒ ล้านบาท ไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือ โดยนายกุมภาได้ชำระ เงินให้นายมกราจำนวน ๕ แสนบาท โดยตกลงกันว่านายมกราจะไป ดำเนินการทำการโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่นายกุมภา แต่ต่อมา นาย มกราไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง เช่นนี้ นายกุมภาจะสามารถฟ้อง บังคับให้นายมกราไปดำเนินการทําการโอนสิทธิการเช่าซื้อให้ได้หรือไม่
ตอบ กรณีตามโจทย์ไม่ใช่กรณีที่นายกุมภาผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อจะฟ้องการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อบังคับตามสิทธิที่ได้รับมา หากแต่ เป็นการเรียกร้องต่อนายมกราผู้เป็นคู่สัญญา เช่นนี้ต้องปรับตามหลัก กฎหมายเรื่องการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสาม ประกอบวรรคสอง ไม่ปรับด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๐๖ ดังนั้น แม้การโอนสิทธิเรียกร้องนี้จะไม่มีการทำเป็นหนังสือ ก็ไม่นำมาพิจารณา โดยเมื่อพิจารณาตามหลักการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ (สิทธิ การเช่าซื้อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ย่อมเป็นสังหาริมทรัพย์ ดูมาตรา ๑๔๐) ข้อตกลงระหว่างนายมกรากับนายกุมภา แม้จะไม่ทำเป็นหนังสือ แต่นายกุมภาได้ชำระหนี้เนื่องจากการซื้อขายแก่นายมกราบ้างแล้ว ย่อมมีผลผูกพันระหว่างนายมกรากับนายกุมภา ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม นายกุมภาย่อมฟ้องบังคับให้นายมกราไป ทำการโอนสิทธิดังกล่าวได้
ข้อสังเกต
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๖๖/๒๕๓๙ (ประชุมใหญ่) สิทธิการเช่าซื้อที่ดินพร้อมอาคารของจำเลยที่มีอยู่ต่อการเคหะแห่งชาติ เป็น ทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่สามารถซื้อขายกันได้ ข้อตกลงซื้อขายสิทธิดัง กล่าวแม้ไม่เป็นหนังสือ แต่โจทก์ชำระหนี้เนื่องในการซื้อขายแก่จำเลย บ้างแล้ว มีผลผูกพันระหว่างจำเลยกับโจทก์ผู้ซื้อ ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยไปทำการโอนสิทธิดังกล่าวแก่ โจทก์ได้
๑๒.ถาม จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไรว่า กรณีที่มีการโอนสิทธิแล้วมีการฟ้องร้อง กรณีใดต้องปรับใช้หลักกฎหมายเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องกรณีใดต้องปรับใช้หลักกฎหมายเรื่องซื้อขายสังหาริมทรัพย์
ตอบ หลักที่ช่วยพิจารณา คือ ต้องพิจารณาว่า พิพาทอยู่กับใคร หรือจะฟ้อง ใคร โดย
กรณีแรก หากผู้รับโอนสิทธิฟ้องลูกหนี้ ผู้รับโอนต้องปฏิบัติ ให้ครบถ้วนตามมาตรา ๓๐๖ จึงจะมีสิทธิ
กรณีที่สอง ผู้รับโอนฟ้องผู้โอนให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในการ โอน เช่นนี้จะพิจารณาตามหลักกฎหมายซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม โดยการโอนต้องมีหลักฐาน เป็นหนังสือ หรือวางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน จึงจะสามารถฟ้อง ร้องบังคับคดีได้
๑๓.ถาม ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นทรัพย์สินหรือไม่
ตอบ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เรียกกันว่า “intellectual property” เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ได้มีการกำหนดขึ้นอันเกี่ยวด้วยกับผลผลิตจาก ปัญญาของมนุษย์ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงสภาพของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีกฎหมาย คุ้มครองเจ้าของผู้คิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นขึ้น เช่น ผู้ประพันธ์หรือ แต่งหนังสือย่อมมีลิขสิทธิ์ในหนังสือนั้น ผู้อื่นจะนำไปตีพิมพ์โดยไม่ได้ รับอนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และในการอนุญาตนั้น ผู้แต่ง หนังสือย่อมมีสิทธิได้รับค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีราคาและอาจถือเอานั้น สอดคล้องกับความ หมายของทรัพย์สินตามมาตรา ๑๓๔ ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็น ทรัพย์สินอย่างหนึ่ง
ประเภทของทรัพย์สิน
๑๔.ถาม อสังหาริมทรัพย์ คืออะไร ?
ตอบ อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมาย ความถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือ ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย (มาตรา ๑๓๙)
จากความหมายของอสังหาริมทรัพย์ข้างต้น อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
(๑) ที่ดิน คือ พื้นดินทั่ว ๆ ไป แต่หากดินนั้นถูกขุดขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หากแต่เป็นสังหาริมทรัพย์
(๒) ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินอันมีลักษณะเป็นการถาวร เช่น ไม้ยืนต้น บ้านเรือน กำแพง เป็นต้น ซึ่งลักษณะการยึดติดนั้นมีความ มั่นคงถาวร
(๓) ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น กรวด ก้อน หิน น้ำที่ไหลอยู่บนดิน แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น
(๔) ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น กรรมสิทธิ์สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บ กิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ จำนอง เป็นต้น
๑๕.ถาม สังหาริมทรัพย์ คืออะไร ?
ตอบ สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์และ หมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย (มาตรา ๑๔๐)
การให้ความหมายของสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการ ให้ความหมายในทางนิเสธ ทำให้สามารถวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น เพราะทรัพย์ใดไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์นั้นย่อม เป็นสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
๑๖.ถาม เครื่องจักรในโรงงานที่มีน้ำหนักมาก การเคลื่อนย้ายทำได้ยาก จัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ?
ตอบ เครื่องจักรในโรงงานนั้นแม้จะมีน้ำหนักมากเพียงใด ก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน โดยสภาพย่อมถอดถอนโยกย้ายได้ จึงไม่ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ก็ย่อมเป็นสังหาริมทรัพย์ (ดูคำ พิพากษาฎีกา ๓๙๙/๒๕๐๙)
มีข้อสังเกตว่า แม้เครื่องจักรจะเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกติ สังหาริมทรัพย์นั้นไม่อาจจำนองได้ ได้แต่จำนำเท่านั้น แต่เครื่องจักร นั้นมีกฎหมายเครื่องจักรกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เครื่องจักรนั้น สามารถจำนองได้ แต่การที่เครื่องจักรจำนองได้ ก็หาทำให้เครื่องจักร กลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ไม่
๑๗.ถาม นายอาทิตย์ได้ซื้อหุ้นของบริษัท สมาร์ทไทย จํากัด จากนายจันทร์ โดยการซื้อขายดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องการโอนหุ้น แต่นายอาทิตย์ได้ครอบครองหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี ต่อมา นายจันทร์ได้ตกเป็นลูกหนี้ของนายอังคาร นายอังคารได้ฟ้องนายจันทร์จนชนะคดี แล้ว จะนำยึดใบหุ้นของบริษัท สมาร์ทไทย จำกัด ซึ่งมีชื่อนายจันทร์เป็นเจ้าของหุ้น เช่นนี้จะยึดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ กรณีนี้ต้องพิจารณาว่า “หุ้น” เป็นทรัพย์สินประเภทใด จะเห็นได้ว่าหุ้นนั้นไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงเป็นสังหาริมทรัพย์ เมื่อเป็น สังหาริมทรัพย์ แม้การโอนหุ้นระหว่างนายอาทิตย์กับนายจันทร์จะไม่ถูกต้อง ทำให้หุ้นไม่โอนไปยังนายอาทิตย์ แต่เมื่อนายอาทิตย์ได้ครอบครองหุ้นอัน เป็นสังหาริมทรัพย์เกินกว่า ๕ ปี โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ นายอาทิตย์ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในใบหุ้นตามหลักการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ ดังนั้น เมื่อนายอาทิตย์เป็นเจ้าของหุ้นแล้ว หุ้นนั้น จึงไม่ใช่ของนายจันทร์ นายอังคารเจ้าหนี้จึงไม่อาจยึดใบหุ้นดังกล่าวขายทอด ตลาดได้ เพราะเจ้าหนี้จะยึดทรัพย์ได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์ที่เป็นของลูกหนี้ เท่านั้น ตามมาตรา ๒๑๔ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๘/๒๔๙๒ และ คำพิพากษาฎีกา ๓๓๙๕/๒๕๒๙)
๑๘.ถาม สังหาริมทรัพย์บางประเภท เช่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะนั้น เมื่อจะมีการซื้อขายกัน กฎหมายได้กำหนดให้ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน เช่นนี้ ทรัพย์ดังกล่าวจัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ?
ตอบ แม้โดยปกติทั่วไปอสังหาริมทรัพย์เมื่อจะมีการจำหน่ายจ่ายโอนหรือเปลี่ยนเจ้าของต้องกระทำผ่านระบบทะเบียน เพราะอสังหาริมทรัพย์ มีทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทรัพย์ใดที่ต้องมีการจด ทะเบียน ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น หาได้ยึดถือการจดทะเบียนของทรัพย์เป็นหลักไม่
สังหาริมทรัพย์ที่ถามนั้น เรียกกันทั่วไปว่า “สังหาริมทรัพย์ พิเศษ” แม้การซื้อขายจะต้องจดทะเบียน (มาตรา ๔๕๖) ก็เป็นเพราะ ทรัพย์เหล่านั้นมีทะเบียนที่แสดงความเป็นเจ้าของ การซื้อขายจึงต้อง กระทำผ่านระบบทะเบียน แต่โดยสภาพแล้วทรัพย์ดังกล่าวนั้นก็ยัง คงเป็นสังหาริมทรัพย์อยู่
๑๙.ถาม รถยนต์ซึ่งปกติเมื่อมีการซื้อขายหรือโอนกันต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนนั้น รถยนต์จัดเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ?
ตอบ กรณีรถยนต์ก็เป็นเช่นเดียวกับสังหาริมทรัพย์พิเศษ เพียงแต่ทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่ทะเบียนที่แสดงกรรมสิทธิ์ หากแต่เป็นเพียงทะเบียน ที่ควบคุมด้านการจัดเก็บภาษี การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์ จึงต่างไปจากทะเบียนของที่ดินที่เรียกว่า “โฉนด” ซึ่งเป็นทะเบียนที่ แสดงกรรมสิทธิ์ ดังนี้ โดยสภาพแล้วรถยนต์จึงไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ หากแต่เป็นสังหาริมทรัพย์
๒๐.ถาม สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ?
ตอบ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นบุคคลสิทธิที่ผู้เช่ามีต่อผู้ให้เช่า อันเป็นสิทธิเหนือคน ไม่ใช่สิทธิเหนือทรัพย์ ดังนั้น แม้สิทธิการเช่า จะ เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม ก็หาใช่สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ไม่ ดังนั้น จึงไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๑๔๐
สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์โดยปกติ จึงไม่อาจนำไปจำนองได้ เพราะทรัพย์ที่จะนำไปจำนองได้ ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บางกรณีอาจ จำนองได้ เช่น กรณีสิทธิการเช่าตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๔๒ พระราช บัญญัตินี้ได้กำหนดให้การเช่าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้นสามารถ นำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้ แต่ก็หาทำให้ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่สามารถนำไปจำนองได้ทำนอง เดียวกันกับกรณีที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนซื้อขายสังหาริมทรัพย์พิเศษได้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้สังหาริมทรัพย์พิเศษ กลายสภาพเป็น อสังหาริมทรัพย์ไม่
๒๑.ถาม การที่กฎหมายแบ่งทรัพย์ออกเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์นั้น ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันประการใดบ้าง ?
ตอบ ผลของการแบ่งทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ มีดังนี้
(๑) ความเป็นเจ้าของ
อสังหาริมทรัพย์นั้น หากเอกชนไม่ใช่เจ้าของ รัฐย่อมเป็นเจ้าของ ดังนั้น จึงไม่มีกรณีที่อสังหาริมทรัพย์จะไม่มีเจ้าของส่วนสังหาริมทรัพย์นั้นอาจมีกรณีที่ไม่มีเจ้าของได้ โดยอาจเกิด จากเจ้าของเดิมสละกรรมสิทธิ์ เช่น ของที่คนทิ้งแล้วกลายเป็นขยะ ขยะเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นต้น หรือความไม่มีเจ้าของเกิดขึ้น โดยสภาพ เช่น สัตว์ที่อยู่ตามที่สาธารณะ เป็นต้น
(๒) การก่อให้เกิดทรัพยสิทธิ
ทรัพยสิทธิซึ่งเป็นสิทธิเหนือทรัพย์นั้นบางอย่างจะมีได้แต่ใน อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น คือ ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ทรัพยสิทธิดังกล่าวมาข้างต้นไม่อาจก่อให้เกิดขึ้นเหนือสังหาริมทรัพย์ได้
ส่วนทรัพยสิทธิที่มีได้ทั้งในอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ คือ กรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครอง
(๓) อายุความได้สิทธิ
การครอบครองทรัพย์สินของบุคคลอื่นเพื่อผู้ครอบครองจะได้กรรมสิทธิ์ที่เรียกว่า“ครอบครองปรปักษ์” นั้น กรณีเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ส่วนสังหาริมทรัพย์นั้นครอบครองเพียง ๕ ปี ผู้ครอบครองก็ได้กรรมสิทธิ์ (มาตรา ๑๓๘๒)
(๔) แบบของนิติกรรม
มาตรา ๑๒๙๙ กำหนดเป็นหลักไว้ว่า การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมนั้นจะบริบูรณ์ต่อ เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะให้มีผลแตกต่างออก เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๔๕๖) การจำนองอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๗๑๔) หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ
ส่วนสังหาริมทรัพย์ การทำนิติกรรมเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ โดยหลักย่อมสมบูรณ์เมื่อคำเสนอตรงกับคำสนองคำสนอง เว้นแต่ในสัญญา บางประเภทที่อาศัยการส่งมอบทรัพย์เป็นองค์สมบูรณ์ของสัญญา เช่น สัญญายืม สัญญาให้ เป็นต้น การไม่ส่งมอบทรัพย์ย่อมทำให้ สัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์
แต่ในกรณีเป็นสังหาริมทรัพย์พิเศษการได้มาซึ่งสังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษดังกล่าวนั้น ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๑๓๐๒)
(๕) แดนกรรมสิทธิ์
เมื่อบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมา ย่อมมีแดนกรรมสิทธิ์กิน ทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย (มาตรา ๑๓๓๕) แต่สังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีแดนกรรมสิทธิ์
(๖) เขตอำนาจศาล
คดีแพ่ง ตามป.วิ.พ.การฟ้องคดีเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือ สิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ส่วนหากเป็นคดีเรื่องอื่น รวมถึงคดีเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ ต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล
๒๒.ถาม ทรัพย์แบ่งได้ คืออะไร ?
ตอบ ทรัพย์แบ่งได้ หมายถึง ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันได้เป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว (มาตรา ๑๔๑) เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำมัน เป็นต้น
ส่วนควบ อุปกรณ์ และดอกผล
๒๓.ถาม ส่วนควบ คืออะไร ?
ตอบ ส่วนควบ หมายถึง ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้นและไม่ อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายหรือทำบุบสลาย หรือทำให้ ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง (มาตรา ๑๔๔) โดยส่วนควบนั้นต้องเป็น ทรัพย์ตั้งแต่สองส่วนขึ้นไปประกอบกัน โดยจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรือ อสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เช่น บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน หรือหน้าปัด เป็นส่วนควบของนาฬิกา เป็นต้น
ส่วนควบนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ
(๑) ส่วนควบนั้นโดยสภาพหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็น สาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น เช่น เข็มนาฬิกาเป็นสาระ สำคัญโดยสภาพในความเป็นอยู่ของนาฬิกา หรือพายเป็นส่วนควบ ของเรือตามประเพณีแห่งท้องถิ่น หรือบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน โดยจารีตประเพณี เป็นต้น
(๒) ส่วนควบนั้นไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายหรือทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง เช่น หากแยก ล้อรถยนต์ออกย่อมเป็นการทำลายรถยนต์ ดังนั้น ล้อรถยนต์ย่อม เป็นส่วนควบของรถยนต์ เป็นต้น
๒๔.ถาม การรู้ว่าทรัพย์ใดเป็นส่วนควบของทรัพย์อีกสิ่งหนึ่ง จะมีประโยชน์ในทางกฎหมายประการใดบ้าง
ตอบ มาตรา ๑๔๔ วรรคท้ายกำหนดผลของการเป็นส่วนควบไว้ชัดเจนว่าเจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้นซึ่งหมายความว่าทรัพย์ที่เป็นส่วนควบอยู่ในทรัพย์อื่นจะมีเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่างหากไม่ได้
๒๕.ถาม มีหลักเกณฑ์ประการใดหรือไม่ที่จะใช้พิจารณาว่าทรัพย์ใดเป็นทรัพย์ประธาน ทรัพย์ใดเป็นส่วนควบ
ตอบ ในกรณีที่มีการนำทรัพย์สองสิ่งมารวมกัน เช่น หูถ้วยรวมกับตัวถ้วย โดยที่เจ้าของหูถ้วยและถ้วยเป็นคนละคน เช่นนี้ทำให้มีปัญหาได้ว่า ใครจะเป็นเจ้าของถ้วยกาแฟ กรณีนี้มีหลักทั่วไปที่ช่วยพิจารณาได้ คือ ถ้าในบรรดาทรัพย์ที่นำมารวมกันนั้น มีทรัพย์อันใดอันหนึ่งที่อาจ เรียกว่าทรัพย์เป็นประธานแล้ว เจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานก็ได้เป็น เจ้าของส่วนควบทั้งหลาย ดังนั้น ถ้วยกาแฟเป็นทรัพย์ประธาน หูถ้วย กาแฟเป็นส่วนควบ แต่ในกรณีทรัพย์นั้นเป็นที่ดินรวมกับทรัพย์สินอื่น แล้ว ถือเสมอว่าที่ดินเป็นทรัพย์ประธานเสมอ และทรัพย์อื่นที่มารวม ติดกับที่ดินนั้นเป็นส่วนควบ เช่น บ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน เป็นต้น
๒๖.ถาม เครื่องปรับอากาศทำความเย็นของอาคารบ้านเรือนเป็นส่วนควบของอาคารบ้านเรือนหรือไม่ ?
ตอบ กรณีตามปัญหาต้องพิจารณาจากสภาพของเครื่องปรับอากาศใน ปัจจุบัน ซึ่งแยกได้ ๒ กรณี คือ
กรณีแรก เครื่องปรับอากาศที่ฝังอยู่ในตัวอาคาร โดยในอาคาร ขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เครื่องปรับอากาศจะฝังไว้ใน ตัวอาคารนั้น ๆ ดังนั้น โดยสภาพเครื่องปรับอากาศจึงเป็นสาระแห่ง ความเป็นอยู่ของอาคารเพราะอาคารขนาดใหญ่ที่มีเครื่องปรับอากาศ นั้นไม่อาจใช้งานได้ถ้าถอดเอาเครื่องปรับอากาศออกไป และการถอด เครื่องปรับอากาศก็เป็นการทำลายตัวอาคารนั้น ๆ ไม่ให้ใช้ได้สม ประโยชน์
กรณีที่สอง เครื่องปรับอากาศที่ติดอยู่กับอาคาร สามารถถอด ออกได้ กรณีนี้ มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๐๓/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า “เครื่อง ปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านนอกของอาคารไม่ใช่ส่วนควบ” และ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๘/๒๕๒๒ วินิจฉัยว่า “เครื่องปรับอากาศที่ต่อ เข้ากับอาคารที่เช่าไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของอาคาร อัน ไม่อาจแยกออกได้นอกจากทำให้อาคารเสียรูปทรง ไม่เป็นส่วนควบ” ซึ่งโดยสภาพแล้ว เมื่อเครื่องปรับอากาศนั้นถอดได้ ย่อมไม่เป็นส่วน ควบ แต่หากมีการต่อสู้ว่า ตามประเพณีแล้วในเมืองใหญ่ ๆ นั้น บ้าน หรืออาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้ตามปกติ ประเพณีทั่วไป หากศาลฟังว่าเป็นประเพณีที่เครื่องปรับอากาศเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่สร้างในเขตเมือง เช่นนี้ เครื่องปรับอากาศก็ย่อม เป็นส่วนควบได้ตามหลักในเรื่องการเป็นส่วนควบโดยจารีตประเพณี
๒๗.ถาม นายหนึ่งเช่าที่ดินจากนายสองเพื่อสร้างบ้านมีกำหนด ๒๐ ปี นายหนึ่ง ได้สร้างบ้าน ๒ หลังลงบนที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าผ่าน ไปได้ ๑๕ ปีนายหนึ่งจะรื้อถอนบ้านทั้งสองหลัง แต่นายสองไม่ยินยอม โดยกล่าวอ้างว่าบ้านเป็นส่วนควบของที่ดิน นายสองย่อมเป็นเจ้าของ นายหนึ่งไม่มีสิทธิ์รื้อถอน ให้ท่านวินิจฉัยว่า บ้านทั้ง ๒ หลัง ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน
ตอบ กรณีบ้านทั้ง ๒ หลังนี้ เป็นการปลูกสร้างโดยมีสิทธิตามสัญญา ตามมาตรา ๑๔๖ กำหนดให้การปลูกสร้างโรงเรือนโดยมีสิทธินั้น โรงเรือน ไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ดังนั้น เมื่อนายหนึ่งมีสิทธิตามสัญญาเช่า ที่ดินเพื่อปลูกบ้าน บ้านทั้ง ๒ หลังจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินแม้นาย สองจะเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ก็หาเป็นเจ้าของบ้านไม่นายสองไม่มีสิทธิ ขัดขวางการที่นายหนึ่งจะรื้อถอนบ้านอันเป็นสิทธิของนายหนึ่ง
๒๘.ถาม นายเอกได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีโฉนดจากนายโทเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ โดยได้กำหนดนัดหมายไปจดทะเบียน โอนที่ดินในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายโทยินยอมให้นายเอกเข้า มาปลูกสร้างบ้านได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนโอนที่ดิน ซึ่งปรากฏว่า นายเอกได้ปลูกสร้างบ้าน ๑ หลังในที่ดินที่จะซื้อจะขายนั้น ต่อมาก่อน จะถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนที่ดินนั้น นายโทถูกฟ้องล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์จึงได้เข้ามายึดที่ดินพร้อมบ้านเพื่อนำไปชำระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้ มีปัญหาว่าที่ดินและบ้านนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์จะยึดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ ตามมาตรา ๒๑๔ ทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้นที่เจ้าหนี้จะสามารถบังคับเอาชำระหนี้ได้เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็น ของบุคคลอื่นอันไม่ใช่ของลูกหนี้ไม่ได้
กรณีที่ดินนั้น เมื่อเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย กรรมสิทธิ์ใน ที่ดินจึงยังไม่โอนไปยังนายเอกผู้ซื้อ ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็น กรรมสิทธิ์ของนายโท ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิยึด ที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้
ส่วนกรณีของบ้านที่ปลูกสร้างนั้น การปลูกสร้างเป็นการปลูก สร้างโดยมีสิทธิ สิทธิในที่นี้คือ ความยินยอมของนายโท ต้องตามข้อ ยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๖ ที่ว่า โรงเรือนอันผู้มีสิทธิในที่ดิน ของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกทำลงไว้ในที่ดินนั้น ไม่เป็นส่วนควบ “สิทธิ” ที่จะปลูกสร้างนี้ครอบคลุมทั้งทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ โดยบุคคล สิทธินั้น ความยินยอมโดยเพียงวาจา หากพิสูจน์ได้ก็ถือว่ามีสิทธิปลูก สร้าง ดังนั้น บ้านไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน จึงไม่ใช่ของนายโทเจ้าของ ที่ดิน แต่หากเป็นของนายเอก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิยึด บ้านออกขายทอดตลาด เพราะบ้านไม่ใช่ทรัพย์สินของนายโทลูกหนี้ ตามคำพิพากษา (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๕๙๓/๒๕๓๓)
๒๙.ถาม นายชูรายวันได้เช่าซื้อที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย ๑๐ จำนวน ๑๐ ไร่ ในราคา ๑๐๐ ล้านบาท จากนายสันต์ โดยตกลง สัญญาเช่าซื้อเป็นจำนวน ๕ ปี นายชูรายวันได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว เป็นเวลา ๑ ปี ในขณะนั้นนายชูรายวันได้ปลูกสร้างอาคารเพื่อเตรียม การขอเปิดสถานอาบอบนวด ตามที่คู่สัญญาได้ยินยอมไว้ในสัญญา เช่าซื้อที่ดิน เมื่อปลูกสร้างแล้วเสร็จ เงินของนายชูรายวันก็หมุนไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าเช่าซื้อได้ ทำให้นายสันต์บอกเลิก สัญญาเช่าซื้อ และได้นำที่ดินพร้อมอาคารจดทะเบียนโอนขายให้นาย ใต้ โดยนายใต้รับซื้อไว้โดยเข้าใจว่าที่ดินและอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายสันต์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครมีสิทธิในอาคารดีที่สุด
ตอบ การที่นายชูรายวันได้ปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินของนายสันต์นั้น เป็นการปลูกสร้างโดยมีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ อาคารจึงเป็นโรงเรือน ที่ปลูกสร้างโดยมีสิทธิ ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน ตามมาตรา ๑๗๖ อาคารจึงยังคงเป็นสิทธิของนายชูรายวัน
แม้นายชูรายวันจะผิดสัญญาเช่าซื้อ ทำให้นายสันต์มีสิทธิ บอกเลิกสัญญาและเรียกที่ดินกลับคืนแต่กรรมสิทธิ์ในอาคารยังคงเป็น ของนายชูรายวัน ดังนั้น นายสันต์จึงไม่มีสิทธิขายอาคารให้นายใต้ แม้นายใต้จะซื้อโดยสุจริต คือ เชื่อว่าเป็นของนายสันต์ก็ตาม ตาม หลักกฎหมายที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” อีกทั้งนายใต้จะ อ้างว่ามีสิทธิดีกว่าในอาคารตามหลักส่วนควบก็ไม่ได้ เพราะอาคาร ไม่ได้เป็นส่วนควบของที่ดิน
โดยสรุปแล้ว นายชูรายวันมีสิทธิในอาคารดีที่สุด เพราะอาคาร ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน เนื่องจากนายชูรายวันปลูกสร้างโดยมีสิทธิ นายสันต์เจ้าของที่ดินจึงไม่มีสิทธิขายให้นายใต้
๓๐.ถาม อุปกรณ์ คืออะไร ?
ตอบ อุปกรณ์ หมายถึง สังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับ ทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานและเจ้าของทรัพย์ นำมาสู่ทรัพย์ที่ เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการ อื่นใด ในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น (มาตรา ๑๔๗) ตัวอย่างเช่น เครื่องมือซ่อมรถเป็นอุปกรณ์ของรถ กรงนกเป็น อุปกรณ์ของนก เป็นต้น
ทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์นั้นย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๓๑.ถาม ดอกผล คืออะไร ?
ตอบ ดอกผลนั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่าได้แก่ ดอกผลธรรมดา และดอกผล นิตินัย (มาตรา ๑๔๘)
ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของ ทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และถือเอาได้เมื่อขาดจากทรัพย์นั้น เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลของแกะ หรือลูกของสัตว์ เป็นดอกผลของสัตว์ เป็นต้น
ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้น และสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวัน หรือตามระยะเวลาที่ กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลนิตินัยของต้นเงิน หรือค่าเช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้านที่นำออกให้เช่า เป็นต้น
๓๒.ถาม บุคคลใดมีสิทธิในดอกผล ?
ตอบ ผู้มีสิทธิในดอกผลนั้นโดยหลักทั่วไปได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของแม่ทรัพย์ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓๓๖ ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิ่ง ใด ย่อมมีสิทธิในดอกผลนั้นด้วย ยกเว้นแต่จะมีกฎหมายหรือนิติกรรม กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของแม่ทรัพย์จึงจะมีสิทธิ ในดอกผล เช่น กรณีมาตรา ๔๑๕ คือ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดย สุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคง สุจริตอยู่ เป็นต้น
๓๓.ถาม งาช้างที่ตัดออกมาจากช้างเป็นดอกผลของช้างหรือไม่ ?
ตอบ ทรัพย์ที่เป็นดอกผลนั้น กรณีดอกผลธรรมดา ดอกผลจะต้องเป็นสิ่งที่บังเกิดเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นจากตัวแม่ทรัพย์ โดยการงอกเงยนี้เมื่อแยก ออกจากตัวแม่ทรัพย์แล้วต้องไม่ทำให้แม่ทรัพย์เสื่อมเสียไป แต่โดย สภาพของงาช้าง เมื่อตัดออกจากช้างย่อมทำให้ช้างเสียสภาพไป งาช้างจึงไม่ใช่ดอกผลของช้าง
๓๔.ถาม ข้าวเปลือกที่ขึ้นอยู่ในนาข้าว เป็นดอกผลของนาหรือไม่ ?
ตอบ กรณีตามปัญหาต้องแยกพิจารณาการกำเนิดของข้าว ซึ่งแยกได้เป็น ๒ กรณี
กรณีแรก ข้าวเปลือกนั้นมีผู้ปลูกขึ้น กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นดอก ผลธรรมดาของนา เพราะดอกผลธรรมดานั้นต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดย ธรรมชาติ แต่ข้าวเปลือกนั้นมีผู้ปลูก (คำพิพากษาฎีกา ๑๕๓๕/๒๔๙๓ ประชุมใหญ่)
กรณีที่สอง ข้าวเปลือกนั้นขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใครปลูก กรณีนี้ถือว่าเป็นดอกผลธรรมดาของนา
๓๕.ถาม นางสาวสวยมีสุนัขตัวเมียตัวหนึ่ง นางสาวสวยต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงได้นำสุนัขไปฝากไว้กับนางสาวใจดีเพื่อนสนิท แต่ปรากฏ ว่านางสาวใจดีมีสุนัขตัวผู้ตัวหนึ่งพันธุ์เดียวกัน ต่อมา สุนัขของนาง สาวสวยออกลูกสุนัขจำนวน ๕ ตัว เมื่อนางสาวสวยกลับจากการศึกษา ในต่างประเทศ ได้มาขอสุนัขคืน จึงพบลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ประสงค์จะ ได้สุนัขทั้ง ๕ ตัว แต่นางสาวใจดีไม่ยอม เช่นนี้ใครจะมีสิทธิในลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว
ตอบ การพิจารณาว่าลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ใครจะเป็นเจ้าของ ต้องพิจารณาตามลำดับว่า ลูกสุนัขเป็นดอกผลของสุนัข ผู้ที่เป็นเจ้าของดอกผลคือ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของลูกสุนัขจึงได้แก่ผู้เป็นเจ้าของ แม่สุนัข เมื่อพิจารณาลำดับต่อไปแล้ว จะพบว่า สัญญาฝากสุนัขนั้น กรรมสิทธิ์ในสุนัขไม่โอนไปยังผู้ฝากดังนั้นนางสาวสวยในฐานะเจ้าของ สุนัขจึงย่อมมีสิทธิดีที่สุดในดอกผล คือ ลูกสุนัขทั้ง ๕ ตัว ตามมาตรา ๑๓๓๖
๓๖.ถาม ดอกผลธรรมดามีความแตกต่างจากดอกผลโดยนิตินัยอย่างไร
ตอบ ดอกผลธรรมดา หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม และ ถือเอาได้เมื่อ ขาดจากทรัพย์นั้น เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลของแกะ หรือ ลูกของสัตว์ เป็นดอกผลของสัตว์ เป็นต้น
ดอกผลนิตินัย หมายความว่า ทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ ได้มาเป็นครั้งคราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่นเพื่อการที่ได้ใช้ทรัพย์นั้นและสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวัน หรือตามระยะเวลาที่ กำหนดไว้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลนิตินัยของต้นเงิน หรือค่า เช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้านที่นำออกให้เช่า เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากความหมายของดอกผลธรรมดาและดอกผล นิตินัยแล้ว จําแนกความแตกต่างได้ดังนี้
(๑) การได้มา
ดอกผลธรรมดา ได้มาเพราะมีการใช้ทรัพย์นั้นโดยตรงโดย ผู้เป็นเจ้าของ เช่น ลูกสัตว์เป็นดอกผลของแม่สัตว์ เกิดจากการใช้แม่ ทรัพย์คือแม่สัตว์ให้ออกลูก เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เมื่อแม่ทรัพย์อยู่ กับเจ้าของทรัพย์ย่อมเกิดดอกผลธรรมดาได้
ส่วนดอกผลนิตินัย เกิดจากการที่มีบุคคลอื่นใช้ทรัพย์นั้น เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นดอกผลของเงินต้น แต่เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของ เงินต้นน้ำเงินออกให้บุคคลอื่นกู้ยืม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เมื่อแม่ ทรัพย์อยู่กับเจ้าของทรัพย์ย่อมไม่อาจเกิดดอกผลนิตินัยได้
(๒) การเกิดขึ้นของดอกผล
ดอกผลธรรมดา เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยการงอกเงยออก จากแม่ทรัพย์ เช่น ขนแกะ เป็นดอกผลธรรมดาของแกะ โดยขนแกะ งอกเงยขึ้นตามธรรมชาติจากแกะ
ส่วนดอกผลนิตินัย ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้น โดยผลของกฎหมาย โดยการที่บุคคลอื่นได้ใช้แม่ทรัพย์นั้น เช่น ค่า เช่าบ้าน เป็นดอกผลนิตินัยของบ้าน
(๓) การมีสภาพเป็นดอกผล
ดอกผลธรรมดา จะถือว่าเป็นดอกผลต่อเมื่อขาดหลุดออกจาก แม่ทรัพย์ เช่น ผลไม้ที่อยู่บนต้นยังไม่เป็นดอกผล จนกว่าจะหลุดออก จากต้นมะม่วง
การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง
๓๗.ถาม การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การได้มาไว้ประการใดบ้าง
ตอบ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แยกเป็นหลัก และข้อ ยกเว้นได้ ดังนี้
หลัก การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงจะบริบูรณ์ใช้ยัน กับคนได้เป็นการทั่วไป
ข้อยกเว้น การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมในกรณีใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน หากไม่ทำให้ตกเป็นโมฆะ เช่นนี้ ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ นั้น ๆ ซึ่งได้แก่
(๑) การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๔๕๖
(๒) การแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๕๑๙
(๓) การให้อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๕๒๕
(๔) การจำนองอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา ๗๑๔ และ ๑๕๒
๓๘.ถาม การที่ตัวบทมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง กำหนดผลของการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ไว้ว่า หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน “ไม่บริบูรณ์” คำว่า “ไม่บริบูรณ์” มีความหมายอย่างไร ?
ตอบ คำว่า “ไม่บริบูรณ์” นี้ ต่างจากคำว่า “โมฆะ” หรือ “ไม่สมบูรณ์” เพราะ โมฆะนั้นหมายถึงว่าเสียเปล่า ไม่มีผลในทางกฎหมาย ส่วนไม่สมบูรณ์นั้น หมายถึงว่า ยังไม่อาจถือหรือบังคับกันได้ตามสิทธินั้น ส่วนคำว่า “ไม่บริบูรณ์” หมายถึง ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ คือ ไม่อาจใช้ยันกับ บุคคลภายนอกได้ แต่ในระหว่างคู่สัญญายังคงบังคับกันได้ในฐานะ เป็น “บุคคลสิทธิ”
ตัวอย่างเช่น นายแดงได้ทำสัญญาขอเดินผ่านที่ดินของนายดำเพื่อไปสู่ถนนสาธารณะ สัญญานี้ก็คือการก่อตั้งภาระจำยอม (ซึ่ง เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง) คือ นายแดงเป็นผู้ได้มาซึ่งภาระจำยอม หากคู่สัญญาได้ทำเป็นหนังสือและไปจดทะเบียน กำหนดเวลา ๑๐ ปี ถือว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาก่อน ครบกำหนดเวลา ๑๐ ปี นายดำจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นายเชียว นายแดงย่อมอาศัยภาระจำยอมที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ยันกับนายเขียวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เพราะภาระจำยอม นั้นได้จดทะเบียนแล้ว
แต่หากนายแดงทำสัญญาเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียน กับนายดำ ถือว่านายแดงเป็นผู้ได้มาซึ่งภาระจำยอม แต่เมื่อการ ได้มานี้ไม่ได้มีการจดทะเบียน การได้มาของนายแดงจึงไม่บริบูรณ์ เป็นทรัพยสิทธิ ดังนั้น
กรณีแรก หากต่อมาก่อนครบ ๑๐ ปีตามข้อตกลง นายดำ จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นายเขียว นายแดงจะอ้างภาระจำยอมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นยันกับนายเขียว เพื่อให้นายเขียวยอมให้เดินผ่านต่อไปไม่ได้
กรณีที่สอง แต่หากนายดำยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้บุคคล ใด ๆ และยังไม่ครบเวลา ๑๐ ปี นายดำจะปิดทางเดิน เช่นนี้ นายแดงย่อมอ้างข้อตกลงเดินผ่านที่แม้ไม่จดทะเบียน แต่ก็สามารถ ผูกพันกับคู่กรณี คือ นายดำกับนายแดง ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้ นายดำต้องยอมให้นายแดงเดินต่อไปจนครบ ๑๐ ปี
๓๙.ถาม การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ทางอื่นนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง
ตอบ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นไว้ดังนี้ คือ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น สิทธิของผู้ได้มาต้องจดทะเบียนจึงจะใช้ยันบุคคลได้ทั่วไปทุกคน แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนจะมีข้อบกพร่อง ๒ ประการ คือ
(๑) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้
(๒) ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้
ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยบางอื่นที่จดทะเบียนแล้วมีผลสมบูรณ์ ใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เช่น นายนกได้ ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี และได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้รับรองการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ และศาลได้ตัดสินว่านายนกได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ หลังจากนั้นนายนกได้นำคำพิพากษาดังกล่าวไป จดทะเบียนที่ดินแปลงที่ครอบครองให้เป็นชื่อของนายนก เช่นนี้ ถือ ว่าการได้มาซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของนายนกสมบูรณ์ตามกฎหมาย นายแมวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอีกต่อไป ผู้ที่มีสิทธิจำหน่ายจ่าย โอนที่ดินแปลงนี้คือ นายนก
ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นที่ยังไม่ ได้จดทะเบียนการได้มา มีข้อบกพร่องประการแรกที่ว่า “เปลี่ยนแปลง ทางทะเบียนไม่ได้” เช่น นายนกครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวกว่า ๑๐ ปี แม้ตามมาตรา ๑๓๘๒ กำหนดให้นายนกได้กรรมสิทธิ์ แต่เมื่อนายนกยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็น ชื่อนายนก นายนกย่อมไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้บุคคลอื่นได้
ตัวอย่างสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นที่ยังไม่ ได้จดทะเบียนการได้มา มีข้อบกพร่องประการที่สองที่ว่า “ยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้” เช่น นายนกครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายแมวกว่า ๑๐ ปี แม้ตามมาตรา ๑๓๘๒ กำหนดให้นายนกได้กรรมสิทธิ์ แต่เมื่อนายนกยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยน ชื่อในโฉนดเป็นชื่อนายนก ชื่อในโฉนดยังเป็นของนายแมว หากนายแมว ได้จดทะเบียนโอนที่ดินให้นายหมู โดยนายหมูได้ซื้อที่ดินดังกล่าวโดย ไม่รู้ว่านายนกได้กรรมสิทธิ์ไปโดยการครอบครองปรปักษ์ เช่นนี้ นายหมูเป็นบุคคลภายนอกผู้เสียค่าตอบแทน คือ จ่ายค่าซื้อที่ดินไป และ สุจริต คือ ไม่รู้ว่านายนกได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เช่น นี้ หากนายหมูขับไล่นายนก นายนกจะยกการได้กรรมสิทธิ์โดยอายุ ความครอบครองปรปักษ์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อสู้นายหมูไม่ได้ นายนกต้องออกจากที่ดิน
๔๐.ถาม นายดาวได้ทำสัญญาตกลงเดินผ่านที่ดินของนายเดือนเป็นเวลา ๑๐ ปี โดยจ่ายค่าเดินผ่านเหมาจ่ายไปแล้วจำนวน ๑ แสนบาท แต่ไม่ได้ มีการจดทะเบียนข้อตกลงดังกล่าว ต่อมา เมื่อนายดาวเดินผ่านได้เพียง ๖ ปี นายเดือนถึงแก่ความตาย นายจันทร์ทายาทแต่เพียงผู้เดียวของ นายเดือนไม่ยอมให้นายดาวเดินผ่าน นายดาวมาปรึกษาท่านว่านายดาวจะมีสิทธิเดินผ่านหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ ข้อตกลงระหว่างนายดาวกับนายเดือนเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แต่เมื่อไม่จดทะเบียนย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา คือ ระหว่างนายดาวกับนายเดือน และบุคคลสิทธิดังกล่าวนี้ก็มิใช่สิทธิ ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของคู่สัญญาโดย แท้ เมื่อนายเดือนถึงแก่ความตายไป สิทธิตามสัญญาก่อตั้งภาระ จำยอมย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา ๑๕๙๙ และ ๑๖๐๐ ที่ กำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และ มรดกนั้นรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิหน้าที่ของผู้ตายด้วย ดังนั้น นายจันทร์ทายาทของนายเดือนต้องรับสิทธิหน้าที่ตามสัญญาภาระจำยอม จึงต้องยอมให้นายดาวเดินผ่านทางตามข้อตกลงต่อไปจนกว่าจะครบ ๑๐ ปีตามสัญญา (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๒๒๗/๒๕๓๓)
๔๑.ถาม นายแดงได้ตกลงทำสัญญาเดินผ่านที่ดินของนายขาวเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี โดยมีการจ่ายเงินเหมาจ่าย ๑ ล้านบาท แต่ไม่ได้มีการทำ หนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ต่อมานายขาวได้ยกที่ดินของ นายขาวแปลงที่ตกลงให้นายแดงเดินผ่านโดยจดทะเบียนยกให้นายฟ้าบุตรชายต่อเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยนายฟ้าไม่รู้ข้อตกลงระหว่าง นายแดงและนายขาวเกี่ยวกับการเดินผ่านที่ดินดังกล่าวมาก่อน เมื่อ นายฟ้าได้เข้าครอบครองที่ดินแล้วได้ปิดทางเดินไม่ให้นายแดงเดินผ่าน นายแดงจึงได้ฟ้องนายฟ้าให้เปิดทางเดินตามข้อตกลงในสัญญา ที่นายแดงได้ทำไว้กับนายขาวในฐานะที่นายฟ้าเป็นทายาทของนายขาว และขอให้นายฟ้าไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ตามข้อตกลงด้วย หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ ข้อตกลงสัญญาเดินผ่านที่ดินระหว่างนายแดงและนายขาวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง เมื่อไม่จดทะเบียนย่อม ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง สัญญาดังกล่าวจึงผูกพันระหว่างนายแดงและนาย ขาวคู่สัญญาเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอก เมื่อนายขาวจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายฟ้าซึ่งเป็นบุตรถือว่านายฟ้าเป็นบุคคลภายนอก ทั้งหาได้มีบทบัญญัติให้ผู้รับการให้ดังเช่นนายฟ้าต้องรับหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ให้ไปด้วยอย่างกรณีทายาทรับ มรดกไม่สัญญาระหว่างนายแดงและนายขาวจึงไม่มีผลผูกพันนายฟ้า จึงไม่อาจบังคับให้นายฟ้าจดทะเบียนภาระจำยอมหรือเปิดทางพิพาท ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๒๒๒๙/๒๕๔๒)
๔๒.ถาม นายจันทร์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินนายอังคารจำนวน ๑๐ ล้านบาท แต่เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนด นายจันทร์ไม่มีเงินชำระหนี้ให้นายอังคาร นายจันทร์จึงได้ตกลงยกอาคารของนายจันทร์ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน ของนายเหลืองตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร พร้อมสิทธิ การเช่าที่ดินของนายเหลือง ตีใช้หนี้ให้แก่นายอังคาร นายอังคาร ยินยอมรับการโอนทรัพย์สินที่ใช้หนี้ดังกล่าว แต่การโอนตีใช้หนี้นั้นไม่ได้มีการจดทะเบียน ต่อมาหลังจากโอนทรัพย์สินที่ใช้หนี้แล้ว นาย จันทร์ยังอยู่ในอาคารต่อไป นายอังคารจึงได้ฟ้องขับไล่ให้นายจันทร์ ออกไปจากอาคาร นายจันทร์ยกข้อต่อสู้ขึ้นสู้ว่าการโอนดังกล่าวตกเป็น โมฆะเพราะไม่ได้มีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ การโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทตีใช้หนี้ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย หรือ สัญญาอื่นใดที่กฎหมายกำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น แม้ไม่จดทะเบียนก็หาตกเป็นโมฆะไม่ หากแต่เมื่อการตีใช้หนี้ เป็นการแสดงเจตนาอันเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การที่นายอังคารได้มา ซึ่งอาคารอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ แต่สมบูรณ์ในฐานะบุคคลสิทธิ เมื่อนาย จันทร์โอนอาคารพิพาทพร้อมทั้งสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่นายอังคาร เป็นการแสดงเจตนาโอนการครอบครองให้นายอังคารแล้ว การที่นาย จันทร์อยู่ในอาคารต่อมาก็เป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของนายอังคาร นายอังคารจึงมีบุคคลสิทธิที่จะบังคับให้นายจันทร์ออกไปจากอาคาร พิพาทที่นายอังคารมีสิทธิครอบครองได้ นายจันทร์จึงต้องออกไปจาก อาคารดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๔๓๕/๒๕๑๙ ประชุมใหญ่)
การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
๔๓.ถาม ลักษณะของการได้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น มีลักษณะการ ได้มาประการใดบ้าง
ตอบ การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ได้แก่การได้มาโดยผลของกฎหมายนั่นเอง ซึ่งได้แก่กรณี ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๐๘ - ๑๓๓๔ เช่น การได้กรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่ง เป็นต้น
(๒) การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒
(๓) การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางมรดก กองทรัพย์สินของ บุคคลย่อมตกทอดเป็นมรดกทันทีที่เจ้ามรดกตาย (มาตรา ๑๕๙๙)
(๔) การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลซึ่งแสดงให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างใดนั้น บุคคล นั้นย่อมได้สิทธิหรือมีสิทธิตามคำพิพากษานั้นโดยบริบูรณ์ แม้จะเป็น อสังหาริมทรัพย์ก็ไม่จำต้องขอให้จดทะเบียนเสียก่อนการจดทะเบียน เป็นแต่เพียงทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันคนภายนอกเท่านั้น (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๓๕๒/๒๔๘๘)
๔๔.ถาม นายหนึ่งได้ครอบครอบปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายสองจนได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา ๑๓๘๒ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทางทะเบียนเป็นของ นายหนึ่ง ต่อมานายสองถึงแก่ความตาย นายสามทายาทของนายสอง ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง และได้ฟ้องขับไล่นายหนึ่ง เช่นนี้นายหนึ่งจะต้องออกไปที่ดินหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ นายหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการได้มาโดยทางอื่นตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เมื่อยังไม่ได้จด ทะเบียนย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดย จดทะเบียนสิทธิโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตไม่ได้แต่ตามข้อเท็จจริง นายสามเป็นทายาท ซึ่งตามมาตรา ๑๖๐๐ ทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ของเจ้ามรดก ทายาทจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ดังนั้น การได้กรรมสิทธิ์ของนายหนึ่งจึงย่อมยกขึ้นเป็นข้อ ต่อสู้นายสามได้ นายหนึ่งไม่ต้องออกไปจากที่ดิน (เทียบคำพิพากษา ฎีกา ๑๘๘๖/๒๕๓๖)
๔๕.ถาม นายสิงหาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของนายกันยาจำนวน ๑๐ ล้านบาท ต่อมาหนี้ถึงกำหนดนายกันยาไม่ยอมชำระหนี้ นายสิงหาจึงฟ้องคดีแพ่ง บังคับชำระหนี้กับนายกันยา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายกันยา ชำระหนี้จำนวน ๑๐ บาท แก่นายสิงหา แต่นายกันยา ไม่ยอมชำระหนี้นายสิงหาจึงร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินแปลงหนึ่งซึ่ง มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของนายกันยาเพื่อนำขายทอดตลาดนำเงินมา ชำระหนี้ แต่เมื่อนำยึดปรากฏว่ามีนายตุลาได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดิน แปลงดังกล่าวเกินกว่า ๑๐ ปี นายตุลาอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายสิงหาไม่มีสิทธินำยึด ในขณะที่นายสิงหา อ้างว่า สิทธิของนายตุลาที่ได้มานั้นยังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่อ้างยก ขึ้นต่อสู้นายสิงหาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ เช่นนี้ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของฝ่ายใดถูกต้องตามกฎหมาย
ตอบ นายตุลาเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๔๒ แต่เมื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของนาย ตุลาอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้นยังไม่ได้จด ทะเบียนการได้มาจึงมีข้อบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นาย กันยาไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้จดทะเบียนสิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่อย่างไรก็ ตาม แม้สิทธิของนายกันมาจะมีข้อบกพร่องตามที่กล่าวมา แต่ในเมื่อ นายสิงหาซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ์มาโดย จดทะเบียน ดังนั้น นายตุลาจึงสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่านายกันได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นยันนายสิ่งหาได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๒๑๒/๒๕๑๐)
๔๖.ถาม คำว่า บุคคลภายนอกผู้ “สุจริต” ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้นมีความหมายอย่างไร ?
ตอบ คำว่า “สุจริต” หมายถึง บุคคลภายนอกผู้ได้จดทะเบียนสิทธินั้นไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้นดีกว่าผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ ให้ตนซึ่งการจะพิจารณาว่าสุจริตหรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง เป็นรายกรณีไป
ตัวอย่างกรณีที่ถือว่าบุคคลภายนอกสุจริต เช่น ก่อนซื้อที่ดิน ผู้ซื้อได้ไปดูที่ดินพบบิดาของผู้ครอบครองปรปักษ์บิดาบอกว่าเช่าที่ดิน พิพาทจากเจ้าของ หากผู้ซื้อซื้อที่พิพาทจะขอเช่าอยู่ต่อไป ยังฟังไม่ได้ ว่าผู้ซื้อรู้ว่ามีผู้ครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้ซื้อสุจริต
ตัวอย่างที่ถือว่าบุคคลภายนอกไม่สุจริต เช่น ซื้อที่ดินมีโฉนด มา ๑ แปลง แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้ซื้อไปดูที่ดินที่จะซื้อ ก็เห็นผู้อื่นครอบ ครองอยู่ในที่รายนี้โดยมีบ้านเรือนปลูกอยู่ มีก่อไผ่ล้อมรั้วอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่งก่อนแล้ว ผู้ซื้อก็มิได้ซักถามผู้ครอบครองหรือแม้แต่ตัวผู้ขาย ว่า ผู้ครอบครองนั้นครอบครองอยู่ในที่พิพาทด้วยเหตุใด การที่ผู้ซื้อ ซื้อไว้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่ามีผู้อื่นครอบครองทรายพิพาทอยู่ เท่ากับเป็นการ ซื้อคดีมาฟ้องร้อง เรียกไม่ได้ว่าซื้อโดยสุจริต
๔๗.ถาม นายโจ้ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายผังกว่า ๑๐ ปีจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการได้มาต่อมาหลังจากนายโจ้ครอบครอง ที่ดินครบ ๑๐ ปี เพียง ๒ มีนายผังได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ นายกนิชซึ่งสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากนั้นอีกเพียง ๓ ปี นาย กนิชได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายต้อ โดยนายต้อ รู้ว่านายโจ้ได้ครอบครองที่ดินนั้นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ปรปักษ์แล้ว ท้ายที่สุดนายต้อฟ้องขับไล่นายใจให้ออกจากที่ดิน นาย โจ้ ยกข้อต่อสู้ว่านายต้อเป็นบุคคลภายนอกผู้ไม่สุจริต นายโจ้ จึงมีสิทธิดีกว่า เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ คำว่า “บุคคลภายนอก” ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น หมายถึง ผู้ที่มิใช่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไปมักได้แก่ผู้ได้สิทธิจากเจ้าของ อสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ทั้งนี้บุคคลภายนอกนั้นขยายความ รวมไปถึงผู้รับโอนสิทธิต่อกันเป็นทอด ๆ ด้วย หากผู้รับโอนสิทธิซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกนั้น คนใดคนหนึ่งในทอดใดทอดหนึ่งได้รับความ คุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองแล้ว ถือว่าสิทธิที่จะยกการได้ มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมของ ผู้ได้มาขาดตอนไปแล้ว แม้จะมีผู้รับโอนสิทธิจากบุคคลภายนอกต่อ ๆ กันมา ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนั้นก็ไม่อาจ ยกสิทธิของตนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนนั้นได้ โดย ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้รับโอนคนต่อ ๆ มานั้นจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่
นายโจ้เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ แต่เมื่อการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของ นายโจ้อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้นยังไม่ได้จด ทะเบียนการได้มา จึงมีข้อบกพร่องตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง นายโจ้ไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ จดทะเบียนสิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามข้อเท็จจริงที่ โจทย์ให้ นายกนิชเป็นบุคคลภายนอกผู้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง สิทธิของนายโจ้ในการครอบครองปรปักษ์นั้นยุติลงแล้ว และเมื่อ นับจากวันที่สิทธิของนายโจ้ยุติ การครอบครองต่อมาก็เป็นเวลาเพียง ๓ ปี ยังไม่ครบ ๑๐ ปี นายโจ้จึงไม่สามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์แต่ไม่จดทะเบียนยันนายต้อได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายต้อจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น หาก ข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินให้นายต้อเป็นฝ่ายชนะคดี (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘)
๔๘.ถาม นายดีได้เข้าแย่งครอบครองที่ดิน น.ส.๓ ของนายเด่นเป็นเวลากว่า ๑ ปี ต่อมา นายเด่นได้จดทะเบียนโอนขายที่ดิน น.ส.๓ ดัง กล่าวให้นายโด่ง ซึ่งจดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลัง จากนั้นนายโด่งจะเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดิน จึงได้พบว่านายดีได้ ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว นายโด่งจึงฟ้องขับไล่นายดีต่อศาล โดย อ้างว่าได้จดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายดียกข้อต่อสู้ว่า นายดีได้สิทธิครอบครองโดยการแย่ง นายโด่งจะอ้างว่า เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองไม่ได้ เพราะมาตรา๑๒๙๙ วรรคสองใช้บังคับกับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ไม่ใช้กับที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ กรณีการครอบครองที่ดินน.ส.๓ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ที่ดินมือเปล่า”(ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์) มีประเด็นปัญหาว่าจะปรับ เข้ากับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองได้หรือไม่ เพราะเมื่อมีกรณีการแย่ง การครอบครองที่ผู้ครอบครองได้สิทธิครอบครองโดยผู้มีสิทธิครอบ ครองเดิม ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน หากเลย ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการ ครอบครอง (มาตรา ๑๓๗๕) ซึ่งถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อพิจารณาตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรค สองแล้ว กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ สิทธิครอบครองก็จัดว่าเป็นทรัพยสิทธิประเภท หนึ่ง การได้มาซึ่งสิทธิครอบครอบโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมจะ ต้องจดทะเบียนด้วยมิฉะนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและยก เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้
ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้ นายดีได้สิทธิครอบครอง โดยทางอื่นในที่ดินที่มี น.ส.๓ ซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครอง แต่ก็ถือว่า ต้องอยู่ในบังคับ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เมื่อสิทธิของนายดียังไม่ได้จดทะเบียนจึงยกเป็นข้อต่อสู้นายโด่งผู้ได้จดทะเบียนสิทธิ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วไม่ได้ เช่นนี้ หากข้าพเจ้าเป็นผู้ พิพากษาจะตัดสินให้นายโด่งชนะคดี (เทียบคําพิพากษาฎีกา ๔๒๗/ ๒๕๓๘)
การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ
๔๙.ถาม เหตุใดจึงมีการบัญญัติการเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิไว้ในมาตรา ๑๓๐๐ ?
ตอบ สืบเนื่องจากการคุ้มครองบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง
ทำให้มีปัญหาว่า หากเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกไม่ได้รับความคุ้ม ครองตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง แล้วบุคคลภาย นอกดังกล่าวได้ ฟ้องขับไล่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน แม้ผู้ได้มา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์จะยกข้อต่อสู้จนชนะคดีได้ แต่การได้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นของผู้ได้มาฯ ซึ่งอาจทำให้ บุคคลภาย นอกซึ่งมีชื่ออยู่ในทางทะเบียนนั้นโอนต่อไปยังบุคคล ภายนอกทอดต่อไป และหากบุคคลภายนอกทอดต่อไปนั้นสุจริตและ เสียค่าตอบแทนเสียแล้วผู้ได้มาฯ นั้นก็จะยกการได้มาสู้บุคคลภายนอก ดังกล่าวไม่ได้ กฎหมายจึงให้สิทธิแก่ผู้ได้มาที่จะขอเพิกถอนการได้ มาซึ่งทรัพยสิทธิได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐
๕๐.ถาม หลักเกณฑ์การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ?
ตอบ หลักเกณฑ์การเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ มี สาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้
(๑) ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนเป็นผู้ขอ เพิกถอน
(๒) การจดทะเบียนที่ขอเพิกถอนนั้น ทำให้ผู้อยู่ในฐานะจะให้ จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ
(๓) ผู้รับโอนรับโอนไปโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริต
๕๑.ถาม บุคคลใดบ้างถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน
ที่จะมีสิทธิขอให้เพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ ?
ตอบ ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิขอให้เพิก ถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ ได้แก่
(๑) ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง เช่น เจ้าหนี้ที่รับการนำที่ดินมาตีใช้หนี้ เป็นต้น
(๒) ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น ตาม มาตรา ๑๒๙๑๙ วรรคสอง เช่น ผู้ครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น
๕๒.ถาม ผู้จะซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายจะมีสิทธิขอเพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิตามมาตรา ๑๓๐๐ หรือไม่ ?
ตอบ ปกติแล้วผู้จะซื้อมีเพียงบุคคลสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้จะขายจดทะเบียน
โอนที่ดินให้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากผู้จะขายผิดสัญญานําที่ดิน ไปจดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นก็ถือว่าผู้จะขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้จะซื้อย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
แต่อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับสิทธิของผู้จะซื้อในการใช้มาตรา ๑๓๐๐ นี้ ศาลฎีกาได้วางแนวคำพิพากษาไว้ว่า หากผู้จะซื้อใดได้ชำระราคา ครบถ้วน และผู้จะขายได้ส่งมอบทรัพย์ให้ผู้จะซื้อเข้าครอบครองแล้ว ถือว่า ผู้จะซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามมาตรา ๑๓๐๐ มีสิทธิขอให้เพิกถอนการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิได้
๕๓.ถาม นายหนึ่งทำสัญญาจะซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนายสองโดยทำหนังสือสัญญากันถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังหาโฉนดที่ดินไม่พบจึง ยังไม่ได้มีการไปจดทะเบียนโอนที่ดินกัน โดยนายหนึ่งได้ชำระเงินครบ ถ้วนและได้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่ดินที่จะซื้อขายกันแล้ว ต่อมานายสอง พบโฉนดที่ดิน แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้นาย สามซึ่งรู้ดีว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายหนึ่งและนายสอง เช่น นี้นายหนึ่งจะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายสองและนายสามได้หรือไม่
ตอบ สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนายหนึ่งและนายสองมีการชำระราคาครบถ้วนและมีการส่งมอบที่ดินให้นายหนึ่งเข้าครอบครองแล้วถือได้ว่า นายหนึ่งอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ เมื่อนายสามรับโอนที่ดินจากนายสองโดยไม่สุจริต นายหนึ่ง ย่อมสามารถฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายนั้นได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๑๗๒/๒๔๙๙)
๕๔.ถาม นายจันทร์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งจากนายอังคาร โดยทำหนังสือสัญญากันถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจันทร์ได้ชำระเงิน บางส่วนและได้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่ดินที่จะซื้อขายกันแล้ว ต่อมานาย สองกลับนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้นายพุธซึ่งรู้ดีว่ามีสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายจันทร์และนายอังคาร เช่นนี้นาย จันทร์จะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายอังคารและนายพุธ โดยอาศัยมาตรา ๑๓๐๐ ได้หรือไม่
ตอบ กรณีที่นายจันทร์ผู้จะซื้อชำระราคาบางส่วนและเข้าครอบครองที่ดินที่จะซื้อขายนี้ ศาลฎีกาถือว่า ผู้จะซื้อยังไม่อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิ ได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ ดังนั้นนายจันทร์จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนการ จดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายอังคารและนายพุธ (เทียบคำพิพากษา ๓๔๕๔/๒๕๓๓)
๕๕.ถาม กรณีที่ผู้จะซื้อไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๐๐ ฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างผู้จะขายกับผู้ซื้อรายหลังได้ ผู้จะซื้อจะมีหนทางในการใช้บทบัญญัติใดฟ้องเพิกถอนอีกได้หรือไม่ ?
ตอบ ในกรณีที่ผู้จะซื้อไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๐๐ ฟ้องเพิกถอนได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะผู้จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนผู้จะซื้ออาจเพิกถอนได้ โดยอาศัยมาตรา ๒๓๗ ซึ่งเป็นการเพิกถอนโดยอาศัยหลักในทางหนี้ โดยมาตรา ๒๓๗ บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา ๒๓๗ เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านห้ามมิให้ใช้บังคับถ้าปรากฏว่าในขณะที่ ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อ ความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณี เป็นการทำให้โดยเสน่หาท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้น ก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”
เมื่อพิจารณาผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะเห็นว่ามีฐานะเป็น เจ้าหนี้ ซึ่งผู้จะซื้อประสงค์ในทรัพย์เฉพาะสิ่ง คือ ที่ดินที่ซื้อขาย อันเป็นความประสงค์ในตัวทรัพย์ยิ่งกว่าค่าสินไหมทดแทน การที่ผู้จะ ขายเอาทรัพย์ไปโอนให้ผู้อื่นเสีย ถือได้ว่าผู้ซื้อเสียเปรียบ ผู้ซื้อขอให้ เพิกถอนการโอนได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้จะขายมีทรัพย์สินอื่น เพียงพอชำระค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา ๒๐๑๐/๒๕๒๕)
๕๖.ถาม นาย ก เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ถูกนาย ข. ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้วนายก. ทราบว่า ถึงจะฟ้องขับไล่นาย ข. นาย ก. ก็แพ้คดี จึงได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นาย ค. ซึ่งเป็น เพื่อนของนาย ก. และทราบดีว่า นาย ข. ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ดังกล่าวแล้ว เพื่อที่จะให้นาย ค. เป็นผู้ฟ้องขับไล่นาย ข. พอนาย ข. ทราบเรื่องนี้ จึงได้มาปรึกษาท่านว่า กรณีเช่นนี้นาย ข.จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรดี
ตอบ กรณีนี้เมื่อนาย ข. ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นการได้มาฯ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง และเป็นผู้อยู่ในฐานะจุด ทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ เมื่อมีการจด ทะเบียนโอนที่ดินให้นาย ค. โดยนาย ค. ไม่สุจริต และการโอนนี้ทำให้ นาย ข. เสียเปรียบ นาย ข. ย่อมสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการจด ทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างนาย ก. และนาย ค. ได้ (คำพิพากษาฎีกา ๑๘๘๖/๒๕๓๖)
๕๗.ถาม นายเพชรเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่แปลงหนึ่ง ต่อมานายเพชรถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นายเงิน นายทอง และนาย มรกตเป็นทายาทโดยธรรม ได้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล ศาล ตั้งนายชมพู่เป็นผู้จัดการมรดก นายชมพู่ได้ดำเนินการแอบโอนที่ดินแปลงใหญ่อันเป็นมรดกนั้นให้แก่นายที่ซึ่งไม่ใช่ทายาท และไม่มีสิทธิ รับมรดกโดยนายที่ทราบดีว่านายชมพู่เป็นเพียงผู้จัดการมรดกนายเงิน นายทอง และนายมรกตทราบเรื่อง จึงได้มาหารือท่านว่าจะดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างนายชมพู่กับนายตีได้หรือไม่
ตอบ กรณีนี้ ที่ดินแปลงใหญ่เป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นสิทธิร่วมกันของทายาท คือ นายเงิน นายทอง และนายมรกต ทันทีที่นายเพชรเจ้า มรดกถึงแก่ความตายการที่นายชมพู่ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดิน ให้แก่นายที่ซึ่งไม่ใช่ทายาท ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการ มรดกที่จะต้องดําเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท และทำให้ นายเงิน นายทอง และนายมรกต ผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอน ที่ดินได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ ทายาททั้ง ๓. คนจึงขอให้เพิกถอนการ จดทะเบียนระหว่างนายชมพู่กับนายตีได้ ตามมาตรา ๑๓๐๐ (คำพิพากษาฎีกา ๗๘๓/๒๕๓๘)
การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในสังหาริมทรัพย์ (มาตรา ๑๓๐๓)
๕๘.ถาม กรณีที่มีบุคคลหลายคนกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเหนือสังหาริมทรัพย์รายเดียวกัน โดยอาศัยสิทธิต่างกัน เช่นนี้ใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน
ตอบ ในกรณีบุคคลหลายคนต่างมาเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกัน โดยอาศัยสิทธิต่างกัน มาตรา ๑๓๐๓ วางหลักว่า ผู้ใดครอบครองผู้นั้น มีสิทธิดีกว่า แต่ต้องได้สังหาริมทรัพย์นั้นมาโดยมีค่าตอบแทนและได้ การครอบครองโดยสุจริต แต่หลักข้างต้นไม่ใช่ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
(๑) สังหาริมทรัพย์พิเศษ
(๒) ทรัพย์สินหาย
(๓) ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด
๕๙.ถาม นายใหญ่เป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ได้มอบหมายให้นายกลางเป็นตัวแทนขายรถยนต์คันดังกล่าว ในขณะเดียวกัน นายใหญ่ก็พยายาม ขายรถยนต์ของตนอยู่ด้วย นายกลางได้ตกลงขายรถยนต์ให้นายเล็ก โดยได้ส่งมอบรถยนต์ให้นายเล็กแล้ว ในขณะเดียวกันนายใหญ่ก็ได้ ตกลงขายรถยนต์ให้นายน้อย แต่ยังไม่ได้มีการส่งมอบรถยนต์ให้ ให้ วินิจฉัยว่า ระหว่างนายเล็กและนายน้อย ใครจะมีสิทธิในรถยนต์คันดังกล่าวอีกว่ากัน
ตอบ นายเล็กได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์จากนายกลางตัวแทนของนายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายได้ในฐานะตัวแทน พร้อมกับได้รับ มอบรถยนต์แล้ว แต่นายน้อยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับนายใหญ่ แม้จะซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่นายน้อยก็มิได้ครอบครอง รถยนต์ ดังนั้น เมื่อรถยนต์ตกอยู่ในความครอบครองของนายเล็ก และนายเล็กได้รถยนต์คันนั้นโดยมีค่าตอบแทนและได้ครอบครอง โดยสุจริต นายเล็กจึงมีสิทธิดีกว่านายน้อย ตามมาตรา ๑๓๐๓ (คำพิพากษาฎีกา ๓๒๔๗/๒๕๓๓)
ทรัพย์สินของแผ่นดิน
๖๐.ถาม จงอธิบายความหมายของทรัพย์สินของแผ่นดิน
ตอบ ทรัพย์สินของแผ่นดิน หมายถึง ทรัพย์สินที่แผ่นดินเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่นอาคารของส่วนราชการ ที่ดินของรัฐ เป็นต้น
๖๑.ถาม ทรัพย์สินของแผ่นดินมีกี่ประเภท
ตอบ ตามกฎหมายทรัพย์สินของแผ่นดินแบ่งได้ออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ
(๑) ทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา คือ ทรัพย์สินที่แผ่นดินถือ ไว้ในฐานะความเป็นอยู่เสมือนเอกชนมีทรัพย์สินไว้จำหน่ายจ่ายโอน ทำผลประโยชน์หากำไรเข้ากระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ นอกพาณิชย์เพียงแต่ต่างจากทรัพย์ในพาณิชย์ของเอกชนทั่วไป โดย มีกฎหมายห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อบังคับชำระหนี้ แต่ ทั้งนี้ทรัพย์สินของแผ่นดินนั้นสามารถโอนกันได้ดังทรัพย์สินของเอกชน ทั่วไปสามารถถูกครอบครองปรปักษ์ได้ ตัวอย่างทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น รถยนต์ของส่วนราชการ เป็นต้น
(๒) สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินที่แผ่นดินถือไว้ ในฐานะเป็นผู้แทนพลเมืองเพื่อใช้ในการสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อ ให้พลเมืองได้ใช้ร่วมกัน โดยลักษณะสำคัญของสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน มี ๒ ประการ คือ ประการแรก เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และ ประการที่สอง ใช้เพื่อสาธารณ ประโยชน์ร่วมกัน
๖๒.ถาม สาธารณสมบัติของแผ่นดินมีกี่ประเภท
ตอบ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ ได้ยกตัวอย่างของสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ ๓ ประเภท (แต่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังอาจมีสาธารณสมบัติอื่นของแผ่นดินได้อีก) คือ
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่าที่ชายตลิ่งทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(๓) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง อาวุธยุทธภัณฑ์
๖๓.ถาม ทรัพย์สินของเอกชนจะกลายเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ ทรัพย์สินของเอกชนนั้นอาจกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้โดยที่เอกชนผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นยกทรัพย์สินของเอกชนให้เป็น ประโยชน์สาธารณะโดยการยกให้อาจมีการยกให้ได้ใน ๒ ลักษณะ คือ
ลักษณะแรก การยกให้โดยชัดแจ้ง เช่น เจ้าของที่ดินยกที่ดิน ให้เพื่อใช้ทำทางสาธารณะ เป็นต้น
ลักษณะที่สอง การยกให้โดยปริยาย เช่น ลำรางอยู่ในเขตที่ดินของเจ้าของที่ดิน แม้เจ้าของที่ดินจะไม่ได้อุทิศให้เป็นทางสาธารณะ ก็ตาม แต่เมื่อลำรางนี้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรมา หลายสิบปี เจ้าของที่ดินไม่ได้ว่ากล่าวหวงห้ามใด ๆ ในการที่ประชาชน ทั่วไปใช้ลำรางนี้ แสดงว่าเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นลำราง พิพาทนี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว แม้จะไม่ได้แก้โฉนด ที่ดิน ลำรางก็เป็นลำรางสาธารณะ (คำพิพากษาฎีกา ๓๔๓ – ๓๔๔/๒๕o๘)
๖๔.ถาม นายอุดรได้ทำหนังสือยกที่ดินเพื่อให้ใช้ทำเป็นทางสาธารณะทั้งแปลงแต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนยกให้ ต่อมาภริยาของนายอุดรได้ด่าว่านาย อุดรที่ยกที่ดินให้ทำทางสาธารณะ แทนที่จะขายได้เงินมาใช้ ทำให้ นายอุดรจำต้องหาทางเพื่อเอาที่ดินดังกล่าวคืน นายอุดรมาปรึกษาท่าน ขอให้ท่านให้คำแนะนำแก่นายอุดร
ตอบ ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำว่า ทรัพย์สินของเอกชนอาจเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินได้ โดยการที่เอกชนยกให้แผ่นดิน การที่เอกชนยกทรัพย์สินให้ แก่แผ่นดินนี้ ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินประเภทที่กฎหมายกำหนด แบบในการโอนไว้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ซึ่งปกติต้องทำเป็นหนังสือและ จดทะเบียน การยกทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินนี้ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนก็สมบูรณ์ เพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพื่อยกให้ ทรัพย์สินกลับคืนเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อนายอุดรได้ยกที่ดินแก่ แผ่นดินแล้ว แม้การยกให้ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒๕ นายอุดรก็ ไม่อาจอ้างได้ว่าการยกให้ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำตามแบบ เช่นนี้ แล้วนายอุดรไม่อาจเอาคืนซึ่งที่ดินที่ยกให้แก่สาธารณะแล้วได้ (คำพิพากษาฎีกา ๗๖๓๘/๒๕๓๘)
๖๕.ถาม ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น แตกต่างจากที่งอกริมตลิ่งอย่างไร ?
ตอบ ที่ชายตลิ่งต่างจากที่งอกริมตลิ่ง ตามมาตรา ๑๓๐๔ ตรงที่ที่งอกริมตลิ่งเป็นที่งอกไปจากตลิ่งซึ่งเวลาน้ำขึ้นตามปกติท่วมไม่ถึงแต่ที่งอกริมตลิ่ง อาจเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ถ้าที่งอกริมตลิ่งนั้นงอกไปจาก สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
๖๖.ถาม ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินธรรมดาของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญที่ต่างไปจากทรัพย์สินของเอกชนอย่างไร
ตอบ ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินธรรมดาของแผ่นดิน ย่อมสามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้เหมือนทรัพย์สินของเอกชนทั่วไป เว้นแต่ กฎหมายมาตรา ๑๓๐๗ กำหนดห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินนำมาชำระหนี้ หรือ เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษามีข้อสังเกตว่าเจ้าหนี้สามารถฟ้องหน่วย งานของรัฐเป็นจำเลยในคดีแพ่งได้ เพียงแต่เมื่อชนะคดีแล้ว ไม่อาจร้อง ขอให้มีการยึดทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐนั้นเหมือนลูกหนี้ที่เป็นเอกชน ทั่วไป แต่ต้องรอให้หน่วยงานของรัฐตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ตาม คำพิพากษา
๖๗.ถาม ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญในทางกฎหมายอย่างไร
ตอบ ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีผลที่สำคัญในทางกฎ หมาย ๓ ประการ คือ
(๑) สาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ด้วยวิธีการ เช่นเดียวกับทรัพย์สินของเอกชน (มาตรา ๑๓๐๕) เว้นแต่อาศัยกฎ หมายหรือพระราชกฤษฎีกา
(๒) สาธารณสมบัติของแผ่นดินบุคคลจะยกอายุความขึ้นเป็น ข้อต่อสู้กับแผ่นดินไม่ได้ (มาตรา ๑๓๐๖) กล่าวคือ บุคคลจะอ้างการ ครอบครองปรปักษ์เหนือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ ไม่ว่าจะครอบครองเป็นระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม
(๓) ห้ามมิให้ยึดสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (มาตรา ๑๓๐๗)
๖๘.ถาม ตามกฎหมายได้กำหนด ในการโอนสมบัติของแผ่นดินไว้อย่างไร
ตอบ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การโอน สาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ดังนี้
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่ได้ หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมือง อาจถูกถอน สภาพหรือโอนไปเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือนำไปจัดเพื่อประโยชน์ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจัดหาที่ดินมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว การถอน สภาพหรือการโอนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าพลเมืองได้เลิก ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็น ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตาม อำนาจกฎหมายอื่นแล้วการถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
(๒) ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้ หรือไม่ต้องการหวงห้ามหรือสงวนต่อไป เมื่อ ได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้ แต่ถ้าจะ โอนต่อไปยังเอกชนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ แต่ถ้าจะนำไปจัด เพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่นให้กระทำ โดยพระราชกฤษฎีกา
๖๙.ถาม นายฟ้าได้เข้าครอบครองปลูกพืชบนที่ดินสาธารณะอยู่ก่อน ต่อมานายเหลืองได้เข้าไปไถพืชที่นายฟ้าปลูกไว้จนได้รับความเสียหาย เช่น นี้ นายฟ้าจะฟ้องห้ามมิให้นายเหลืองเข้กรบกวนการครอบครองและเรียกค่าเสียหายจากนายเหลืองได้หรือไม่
ตอบ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เอกชนย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง กล่าวคือ จะใช้กล่าวอ้างยันต่อรัฐไม่ได้ แต่ระหว่างเอกชน ด้วยกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิในการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฉะนั้น ผู้ใดใช้ (ครอบครอง) อยู่ก่อน ผู้นั้นมีสิทธิดีกว่า โดยถือเอาการใช้สอยในความเป็นจริงเป็นตัวชี้
เมื่อตามข้อเท็จจริงนายฟ้าได้เป็นผู้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ ในที่สาธารณะแปลงนี้ก่อนนายเหลือง นายฟ้าย่อมมีสิทธิดีกว่านาย เหลือง เมื่อนายเหลืองเข้าไปไถพืชไร่ที่นายฟ้าปลูกไว้ ทำให้นายฟ้าได้ รับความเสียหาย นายฟ้าจึงมีสิทธิฟ้องห้ามมิให้จำเลยเข้ารบกวนการ ครอบครองที่พิพาท ตามมาตรา ๑๓๗๔, ๒๓๗๕ และเรียกค่าเสียหาย จากนายเหลือง ตามมาตรา ๔๒๐ ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๒๒๖๖/๒๕๓๗)
๗๐.ถาม นายเสนาะเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำสาธารณะที่ดินดังกล่าวมีที่ชายตลิ่งต่อออกมาจากที่ดินของนายเสนาะ นาย เสนาะได้ทำสัญญาให้นายสนั่นเช่าที่ชายตลิ่งเพื่อขายของ ต่อมานายสนั่นไม่ยอมชำระค่าเช่า นายเสนาะจึงได้ฟ้องขับไล่นายสนั่น โดย อ้างว่านายสนั่นผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า ส่วนนายสนั่นอ้างว่า ที่ชาย ตลิ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใครครอบครองคนนั้นมีสิทธิดีกว่า เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ การที่กฎหมายห้ามโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น มุ่งหมายถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิใด ๆ ที่จะทะให้ทรัพย์สินหลุดไปจาก สาธารณประโยชน์หรือการใช้ร่วมกัน ดังนั้น การที่เอกชนผู้ครอบครอง สาธารณสมบัติของแผ่นดินทะสัญญาให้เช่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการทะเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชน จึงต้องห้าม สัญญาเช่าตกเป็นโมฆะ ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ที่ใช้สอย (ผู้เช่า) ผู้เข้าใช้สอยจึงมีสิทธิดีกว่า
ที่ชายตลิ่งตามโจทย์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน นาย เสนาะจึงไม่มีสิทธินำที่ชายตลิ่งไปให้นายสนั่นเช่าสัญญาเช่าต้องห้าม ตามกฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ นายเสนาะจึงไม่มีสิทธิ ฟ้องขับไล่นายสนั่น นายสนั่นซึ่งเข้าใช้สอยที่ชายตลิ่งจึงมีสิทธิดีกว่า (เทียบคำพิพากษาฎีกา ๕๒๗ - ๕๓๐/๒๕๒๐)
๗๑.ถาม นายเขียวได้สร้างบ้านบนที่ดินของตนเองจนแล้วเสร็จ ต่อมาได้ต่อเติมบ้านออกไป ทำให้ส่วนที่ต่อเดิมนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายม่วง โดยนายเขียวเข้าใจโดยสุจริตว่าบ้านส่วนที่ต่อเติมนั้นอยู่ในที่ดินของ ตนเอง ต่อมานายม่วงได้เรียกร้องให้นายเขียวซื้อถอนส่วนที่รุกล้ำออก ไป ในขณะเดียวกันนายเขียวก็เรียกร้องให้นายม่วงจดทะเบียนภาระ จำยอมในบ้านส่วนที่รุกล้ำโดยอ้างว่าเป็นการสร้างบ้านรุกล้ำโดยสุจริตให้วินิจฉัยว่าข้อพิพาทข้างต้นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายใด
ตอบ บทบัญญัติมาตรา ๑๓๑๒ ใช้ในกรณีมีการสร้างโรงเรือนรุกล้ำ หากเป็นกรณีต่อเติมโรงเรือนแล้วส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำไม่อาจใช้มาตรา ๑๓๑๒ ได้ และจะใช้มาตรา ๑๓๑๒ ในฐานะกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ก็ไม่ได้ เมื่อตามข้อเท็จจริงที่โจทย์ให้เป็นการต่อเติมแล้วรุกล้ำ แม้ นายเขียวจะสุจริตก็ไม่อาจกล่าวอ้างมาตรา ๑๓๑๒ ได้ ส่งผลทำให้ นายเขียวต้องรื้อบ้านที่ต่อเติมในส่วนที่รุกล้ำออกจากที่ดินของนายม่วง
การสร้างสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ หรือธัญชาติในที่ดินของตน ด้วยสัมภาระของผู้อื่น (มาตรา ๑๓๑๕)
๗๒.ถาม นายทองได้นำไม้ของนายเงินจำนวน ๑๐๐ ท่อน มูลค่า ๕ หมื่นบาทมาสร้างบ้านเรือนไทยในที่ดินของนายทอง โดยนายเงินไม่ได้อนุญาต ต่อมานายเงินรู้เรื่องเข้าจึงได้ฟ้องเรียกให้นายทองคืนไม้ทั้ง ๑๐๐ ท่อน เช่นนี้ หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีนี้อย่างไร
ตอบ กรณีนี้เป็นเรื่องการสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของตนด้วยสัมภาระของผู้อื่น ตามมาตรา ๑๓๑๕ ซึ่งวางหลักไว้ว่า บุคคลใดสร้างโรงเรือน หรือ ทำการก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งติดที่ดิน หรือเพาะปลูกต้นไม้หรือธัญชาติ ในที่ดินของตนด้วยสัมภาระของผู้อื่น บุคคลนั้นเป็นเจ้าของสัมภาระ แต่ต้องใช้ค่าสัมภาระ
ตามข้อเท็จจริงในโจทย์ ไม้เป็นของนายเงิน แต่นายทองได้นำมาสร้างบ้านบนที่ดินของตน กรณีต้องด้วยมาตรา ๑๓๑๕ นายเงิน ไม่อาจจะเรียกให้คืนไม้ทั้ง ๑๐๐ ท่อนได้ แต่นายเงินมีสิทธิได้ค่า สัมภาระมูลค่า ๕ หมื่นบาทจากนายทอง (คำพิพากษาฎีกา ๔๒๑/๒๔๙๖)
การนําสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเป็นส่วนควบ
๗๓.ถาม กรณีที่นําสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเป็นส่วนควบกฎหมายได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไรบ้าง
ตอบ มาตรา ๑๓๑๖ ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ ๒ ประการ คือ
(๑) กรณีเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากัน จนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้แล้วบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวม แห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนใน เวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น
(๒) กรณีมีทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ เจ้าของทรัพย์ประธานเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันนั้นเพียงผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่น ๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้น
แดนกรรมสิทธิ์และการใช้กรรมสิทธิ์
๗๔. ถาม อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายประการใด
ตอบ ตามมาตรา ๑๓๓๖ อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิ์เด็ดขาด ถาวรไม่สูญสิ้นไปเพราะการไม่ใช้ สามารถจำแนกอำนาจออกได้เป็น ๕ ประการ คือ
(๑) อำนาจใช้สอย
(๒) อำนาจจำหน่าย
(๓) อำนาจได้ดอกผล
(๔) อำนาจติดตามเอาคืน
(๕) อำนาจขัดขวาง
๗๕.ถาม นายเป็ดบอกกับนายไก่ว่า ขอฝากพัดลมไว้ ๒ อาทิตย์แล้วจะมาเอาคืน ระหว่าง ๒ อาทิตย์นั้น นายห่านเพื่อนบ้านของนายไก่ทำพัดลม เสียจึงมาขอยืมพัดลมที่นายเป็ดฝากไว้ไปใช้แก้ขัดก่อน นายไก่ก็ อนุญาตให้นายห่านยืมพัดลมไป เมื่อนายเป็ดทราบเรื่องเข้าจึงรู้สึก ไม่พอใจเป็นอันมาก ประกอบกับเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับนายห่านอยู่ก่อนแล้ว นายเป็ดจึงรีบไปทวงพัดลมคืนจากนายห่านทันที แต่นาย ห่านไม่ยอมคืนพัดลมให้โดยอ้างว่าตนยืมมาจากนายไก่ ให้นายเป็ด ไปเรียกคืนจากนายไก่เอง ให้ท่านในฐานะที่เป็นทนายความของนายเป็ด จะให้คำแนะนำนายเป็ดในกรณีเช่นว่านี้ประการใด
ตอบ กรณียืมทรัพย์ของผู้อื่นไปจากผู้รับฝากไว้นั้น โดยเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เจ้าของที่แท้จริงย่อมอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ติด ตามทรัพย์นั้นคืนจากผู้ยืมได้โดยตรง โดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา ๑๓๓๖ (คำพิพากษาฎีกา ๕๒/๒๔๙๑)
๗๖.ถาม นายเล็กเช่ารถจักรยานจากนายใหญ่ หลังจากนั้นนายเล็กนำจักรยานคันดังกล่าวไปจำนำกับนายกลางผู้รับจำนำ โดยนายใหญ่มิได้รู้เห็น ยินยอมด้วย พอนายใหญ่ทราบจึงได้ทวงถามนายกลางเพื่อให้คืนรถ จักรยานให้แก่ตน นายกลางกลับปฏิเสธว่าตนรับจำนำจากนายเล็ก โดยสุจริต ไม่ทราบมาก่อนว่าจักรยานคันดังกล่าวเป็นของนายใหญ่ นายใหญ่จึงมาปรึกษาท่านในฐานะทนายความ ท่านจะให้คำแนะนำในกรณีดังกล่าวแก่นายใหญ่ประการใด
ตอบ กรณีผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่านั้นไปจำนำแก่บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่ามิได้รู้เห็นยินยอมด้วย ผู้ให้เช่าในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์นั้น สามารถอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในการติดตามเอาทรัพย์นั้นคืน จากผู้รับจำนำได้โดยตรง ผู้รับจำนำไม่มีสิทธิจะยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ ดังนั้นนายใหญ่ย่อมมีอำนาจตามมาตรา ๑๓๓๖ ในการใช้สิทธิติดตาม เอาคืนจากนายกลาง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๑๕/๒๔๙๗)
๗๗.ถาม อำนาจในการติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้มีอายุความหรือไม่
ตอบ กรณีต้องพิจารณาในเบื้องต้นเสียก่อนว่า การฟ้องร้องบังคับตามสิทธินั้นเป็นการฟ้องร้องโดยอาศัยบังคับตามบุคคลสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ เนื่องจากมีกฎหมายวางหลักไว้ว่า การฟ้องคดีบังคับตามบุคคลสิทธิ ในเรื่องหนี้นั้นต้องฟ้องร้องภายในกำหนดอายุความ แต่การฟ้องคดี บังคับตามกรรมสิทธิ์นั้นไม่มีอายุความ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นเรื่องของ สิทธิที่ติดอยู่กับตัวทรัพย์ไปตลอด เรื่องอายุความเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องหนี้โดยเฉพาะ ตามที่มาตรา ๑๙๓/๙ ได้วางหลักไว้ว่า สิทธิ เรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ
๗๘.ถาม นายกุ้ง (ลูกจ้าง) เบียดบังยักยอกรถยนต์ของนายหอยซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นประโยชน์ส่วนตน นายหอยจึงฟ้องร้องเพื่อเรียกให้นายกุ้งคืน รถยนต์หรือหากคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ราคารถยนต์แทน นายกุ้งให้การ ต่อสู้คดีว่านายหอยนำคดีมาฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๑ ปี นับแต่รู้เกี่ยวกับการยักยอกและรู้ตัวผู้ยักยอกแล้วคดีจึงขาดอายุความแล้ว นายหอยไม่มีสิทธิ นำมาฟ้องร้องเป็นคดีเพื่อเรียกคืนตัวทรัพย์ หรือให้ชดใช้ราคาได้อีกท่านในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาจะตัดสินคดีของนายกุ้งและนายหอยประการใด
ตอบ กรณีดังกล่าวนายหอยฟ้องร้องขอให้นายกุ้งคืนตัวทรัพย์คือรถยนต์ที่ยักยอกไป หรือให้ชดใช้ราคาทรัพย์แทน เป็นการฟ้องร้องเพื่อติดตาม เอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิใน อันที่จะติดตามเอาทรัพย์คืนได้ตามมาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งไม่มีกำหนดอายุ ความไม่ใช่กรณีเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิด แม้ ล่วงพ้นระยะเวลา ๑ ปีแล้วคดีก็หาขาดอายุความตามมาตรา ๔๔๘ ไม่ ข้อต่อสู้ตามคำให้การของนายกุ้งจึงฟังไม่ขึ้น คดียังไม่ขาดอายุความ
ทางจำเป็น
๗๙.ถาม จงอธิบายว่ามีกรณีใดบ้างที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็น
ตอบ ตามมาตรา ๑๓๔๙ กําหนดเงื่อนไขว่าหากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งดัง ต่อไปนี้ ทางจำเป็นเกิดขึ้น คือ
(๑) ที่ดินแปลงหนึ่งมีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ ทางสาธารณะ (มาตรา ๑๓๔๙ วรรคหนึ่ง)
(๒) ที่ดินแปลงหนึ่งมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ไม่สะดวก (มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง)
(๓) ที่ดินแปลงหนึ่งมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่มีชันอัน ระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก
เหตุทั้งสามประการข้างต้นนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ขัดขวางมิให้ เจ้าของที่ดินออกไปสู่ทางสาธารณะได้หรือยอกได้แต่ไม่สะดวก ถ้ามี ทางออกสู่ทางสาธารณะอย่างสะดวกได้แล้ว ไม่ว่าโดยทางบกหรือทางน้ำ จะขอให้เปิดทางจำเป็นมิได้
๘๐.ถาม ทางสาธารณะตามมาตรา ๑๓๔๙ มีความหมายว่าอย่างไร
ตอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑ ได้ให้นิยามว่า ทางบก ทางน้ำ สำหรับประชาชนใช้ในการสัญจรและให้หมายความรวมถึงทางรถไฟ และทางรถรางที่มีรถเดินสำหรับประชาชนโดยสาร
๘๑.ถาม นาย ก. ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง โดยทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินตาบอด (ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ) ที่ดินของนายก. นั้น ด้านซ้ายติดกับที่ดิน ของนาย ข. ส่วนด้านขวาติดกับที่ดินของนาย ค. และนาย ก. ต้องการ จะผ่านที่ดินของนาย ข. เพื่อออกสู่ทางสาธารณะ นาย ข. ยอมเปิด ทางจำเป็นให้แล้วต่อมานาย ข. ตาย นาย ง. บุตรของนาย ข. เป็น ทายาทรับมรดกที่ดินดังกล่าวจากนาย ข. นาย ง. ไม่ยอมเปิดทางจำเป็นโดยโต้แย้งว่า นาย ก. มิได้จดทะเบียนสิทธิในทางจำเป็น และ นาย ก. ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต คือรู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ตาบอดจึงขอเปิด ทางจำเป็นไม่ได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนาย ง. ฟังขึ้นหรือไม่และหากต่อมามีถนนมาตัดผ่านที่ดินของนาย ก. ทำให้ที่ของนาย ก. ติดถนนสาธารณะไป เช่นนี้นาย ก. จะยังขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินของนาย ง. ได้อีกหรือไม่
ตอบ มาตรา ๑๓๔๙ เป็นข้อจำกัดสิทธิตามกฎหมาย แม้มิได้จดทะเบียนสิทธิก็ถือว่านาย ก. สามารถใช้ทางจำเป็นได้โดยอำนาจของกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา ๑๓๔๙ ยังมิได้กำหนดว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูก ล้อมต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต ดังนั้นแม้นาย ก. จะรับโอนที่ดินมา โดยรู้ว่าเป็นที่ตาบอด นาย ก. ก็ไม่เสียสิทธิที่จะขอเปิดทางจำเป็น เช่นนี้ข้อต่อสู้ของนาย ง. จึงฟังไม่ขึ้นทั้ง ๒ ข้อ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๗/๒๕๓๑, ๒๔๕๔/๒๕๓๖, ๑๒๒๔/๒๕๓๙)
ทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๔๙ เป็นข้อจำกัดกรรมสิทธิ์จะยังคง มีอยู่ตามความจำเป็นในการออกสู่ทางสาธารณะ หากต่อมาปรากฏ ว่าที่ดินที่ถูกล้อมมีทางออกสู่ทางสาธารณะแล้ว เจ้าของที่ดินตาบอด ย่อมหมดความจำเป็นที่จะขอเปิดทางจำเป็นอีกต่อไป นาย ก. จึงไม่ อาจขอเปิดทางจำ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๑ – ๘๑๒/๒๕๔๐)
๘๒.ถาม ให้อธิบายหลักเกณฑ์เรื่องทางจำเป็นกรณีทางจำเป็นนั้นเกิดขึ้นจากการแบ่งแยกที่ดิน
ตอบ ตามมาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า
(๑) ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มี ทางออกไปสู่สาธารณะได้
(๒) เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้ เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน
(๓) โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนแต่อย่างไร
๘๓.ถาม นายเอเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งทางทิศตะวันออกของที่ดินติดกับถนนสาธารณะ ต่อมานายปีได้โอนที่ดินให้นายเอ ที่ดินแปลงนี้อยู่ ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินแปลงเดิมของนายเอ และเป็นที่ดินซึ่ง ถูกที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นของนายซีล้อมรอบทุกด้านไม่มีทางออกสู่ถนน สาธารณะได้ หลังจากนั้น ๓ เดือนนายเอได้โอนขายที่ดินแปลงที่ได้ รับโอนมาจากนายปีให้แก่นายดี นายดีได้รับโอนที่ดินมาแล้วจึงพบว่า ที่ดินของตนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเลย นายดีจึงมาปรึกษาท่านว่าตนมีสิทธิจะเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ประการใด
ตอบ มาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ ดังนั้น กรณีที่ดินหลายแปลงติดกัน แต่เป็นของเจ้าของรายเดียวกันนั้น ถ้ามีการโอนที่ดินอัน ทำให้ที่ดินถูกล้อมรอบกรณีนี้ไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๓๕๐ เพราะมาตรา ๑๓๕๐ ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดียวแล้วมีการแบ่งแยกทำที่ดิน แปลงที่ถูกแบ่งแยกไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อนายเอได้รับโอน ที่ดินมาอีกแปลงหนึ่ง แม้ที่ดินที่ได้รับโอนมาใหม่จะมีเขตใดติดต่อกับ ที่ดินแปลงเดิมก็ย่อมต้องถือว่าเป็นที่ดินคนละแปลง ฉะนั้นเมื่อโอน ขายที่ดินแปลงที่ได้รับโอนมาภายหลังแก่นายดีไปทั้งแปลง ดังนี้จะ ถือว่าเป็นที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจากที่ดินแปลงเดิมของเจ้าของ ตามมาตรา ๑๓๕๐ ไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินต่างแปลงกันมาแต่เดิม เมื่อ ปรากฏว่าที่ดินแปลงหลังถูกล้อมรอบไม่มีทางออกต้องบังคับด้วย มาตรา ๑๓๔๙ ดังนั้นนายดีย่อมสามารถเรียกร้องให้นายเอหรือนาย ซีคนใดคนหนึ่งเปิดทางจำเป็นให้แก่ตนได้ ทั้งนี้ต้องชดใช้ค่าทดแทน ทางจำเป็นดังกล่าวด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๗/๒๔๙๓)
๘๔.ถาม นางสำลีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ต่อมาได้แบ่งขายที่ดินครึ่งหนึ่งในส่วนที่ติดกับทางสาธารณะให้แก่นางนิล ทำให้ที่ดินที่เหลืออีกครึ่ง หนึ่งของนางสำลีไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนางนิลได้ทำถนนขึ้นใน ที่ดินส่วนหนึ่งของตนเพื่อเป็นทางสัญจรเข้าออกระหว่างทางสาธารณะ เชื่อมถึงที่ดินของนางสำลีและยกถนนดังกล่าวให้กับเทศบาลไปแล้ว นางสำลีมาร้องขอต่อศาลให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของนางนิลโดย อ้างสิทธิตามมาตรา ๑๓๕๐ ท่านในฐานะที่เป็นศาลจะสั่งเปิดทาง จำเป็นให้แก่นางสำลีหรือไม่ และหากนางนิลมิได้ทำถนนบนที่ดิน ของตนเพื่อเชื่อมกับถนนสาธารณะ และที่ดินของนางนิลไม่มีส่วนใด เลยที่ติดกับทางสาธารณะ แต่ต้องผ่านที่ดินของนางกระพงอีกที่หนึ่ง จึงจะออกสู่ทางสาธารณะได้ เช่นนี้ นางสำลีจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินของนางนิลและนางกระพงต่อศาลในคดีเดียวกันได้หรือไม่
ตอบ มาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่า เมื่อแบ่งแยกที่ดินจนเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเจ้าของที่ดินนั้นเรียกให้เปิดทาง จำเป็นได้เฉพาะแต่ในที่ดินที่แบ่งแยกออกมาเท่านั้น แม้ขณะแบ่ง แยกที่ดินไม่มีทางออกสู่สาธารณะก็ตาม แต่ภายหลังสามารถออกสู่ ทางสาธารณะได้ เพราะทำถนนขึ้นบนที่ดินเองเป็นทางเชื่อมเข้าออก สู่ทางสาธารณะ ก็ไม่มีเหตุจะขอเปิดทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๕๐ อีกต่อไป เช่นนี้ นางสำลีจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินที่ถูกแบ่ง ออกมาของนางนิลตามมาตรา ๑๓๕๐ มิได้
มาตรา ๑๓.๕๐ นั้นมิได้วางหลักว่าทางจำเป็นต้องเชื่อมตรงสู่ ทางสาธารณะโดยตรงไม่หากทางจำเป็นนั้นต้องผ่านที่ดินหลายแปลง ก็สามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินเหล่านั้นได้ ดังนั้นนางสำลีสามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของนางนิลและนางกระพงเพื่อออก สู่ทางสาธารณะได้ แต่นางสำลีจะบังคับนางกระพงซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนี้มิได้ เพราะขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ นางสำลีต้องไปฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหาก (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๓๖/๒๕๓๗)
๘๕.ถาม นายกุ้งเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ด้านขวาติดถนนสาธารณะ นายกุ้งแบ่งขายที่ดินเป็น ๒ แปลงย่อย ด้านซ้ายให้นายกิ่ง ด้านขวาให้นาย ปู นายทั้งแบ่งที่ดินออกเป็น ๒ ส่วน ด้ายซ้ายนายทั้งปลูกบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินนั้นเอง ส่วนด้านขวาที่ติดกับที่ดินของนายปูขายให้นาย ปลา นายกังจะขอเปิดทางจำเป็นเหนือที่ดินแปลงใดได้บ้าง และมีหลักเกณฑ์ในการขอเปิดทางจำเป็นอย่างไรในแต่ละกรณี
ตอบ ที่ดินแปลงใหญ่เมื่อแบ่งเป็นที่ดินขนาดกลาง ๒ แปลง และที่ดินขนาดกลางแบ่งเป็นที่ดินย่อย ๒ แปลง ที่ดินแปลงย่อยไม่มีทางออกสู่ทาง สาธารณะ จะขอเปิดทางจำเป็นได้เฉพาะเหนือที่ดินแปลงที่มีการแบ่ง แยกครั้งหลังสุดเท่านั้น เพราะมาตรา ๑๓๕๐ วางหลักไว้ว่าเฉพาะ การแบ่งแยกที่ดินแปลงหนึ่งทําให้ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกไม่มีทางออก สู่ทางสาธารณะเท่านั้น เช่นนี้นายทั้งแบ่งที่ดินครั้งสุดท้ายให้นายปลา นายทั้งสามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินนายปลาได้โดยไม่ต้อง ชดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๓๕๐ ได้ และขอเปิดทางจําเป็นผ่านที่ดิน นายปูซึ่งมิใช่ที่ดินที่แบ่งออกครั้งหลังสุด จึงต้องชดใช้ค่าทดแทนใน การขอเปิดทางจำเป็นตามมาตรา ๑๓๔๙ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๖/ ๒๕๓๓ และ ๗๙๗๖/๒๕๔๓)
๘๖.ถาม โปรดอธิบายความแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับทางภาระจำยอมมาโดยละเอียด
ตอบ ทางจำเป็นแตกต่างกับทางภาระจำยอมหลายประการดังต่อไปนี้
(๑) ทางจำเป็นเป็นข้อจำกัดสิทธิ โดยมีกฎหมายกำหนดไว้ การ ได้มาซึ่งทางจำเป็นเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมายจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนแต่อย่างใด สวนทางภาระจำยอมนั้นไม่ว่า จะเป็นการได้มาโดยนิติกรรมหรืออายุความ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ทำ เป็นหนังสือและจดทะเบียน
(๒) ทางจำเป็นต้องใช้อาศัยออกสู่ทางสาธารณะอย่างเดียว แต่ทางภาระจำยอมจะอาศัยออกไปยังที่แห่งใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้อง ออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น
(๓) การได้มาซึ่งทางจำเป็นแม้ผู้มีสิทธิผ่านทางจะเดินผ่านนาน เพียงใดก็ไม่กลายเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความได้เพราะ การผ่านทางจำเป็นนั้นเป็นการผ่านโดยเคารพรับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของ ที่ที่ผู้มีสิทธิใช้ผ่านทางเดินนั้น ในขณะที่การได้มาซึ่งทางภาระจำยอม โดยอายุความนั้นการเดินผ่านต้องเดินแบบปรปักษ์
(๔) ทางจำเป็นโดยหลักต้องมีการจ่ายค่าทดแทนเสมอ แต่ทางภาระจำยอมนั้นจะมีค่าทดแทน หรือไม่ก็ได้
(๕) ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้เมื่อที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออก สู่ทางสาธารณะ ถ้าต่อมาที่ดินแปลงนั้นมีทางออกสู่สาธารณะ ความ จำเป็นในการใช้ทางจำเป็นย่อมหมดสิ้นลง ข้อจำกัดกรรมสิทธิ์เกี่ยว กับทางจำเป็นย่อมหมดสิ้นไป ส่วนทางภาระจำยอมนั้นหากได้มาโดย นิติกรรม จะเลิกกันได้ต้องมีการตกลงกัน หากได้มาโดยอายุความจ้า มิได้ใช้เป็นเวลา ๑๐ ปีย่อมสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน
(๖) ทางจำเป็นหากเจ้าของที่ดินที่ถูกจำกัดกรรมสิทธิ์ตกลงให้ จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมมีกำหนด เวลาแน่นอนก็ได้ และทาง จำเป็นนั้นก็จะกลายเป็นทางภายใต้ภาระจำยอมไป
กรรมสิทธิ์รวม
๘๗.ถาม โปรดอธิบายหลักเกณฑ์ตามกฎหมายในเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวม
ตอบ ตามมาตรา ๑๓๕๔ มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันในระหว่างบรรดาเจ้าของรวม เจ้าของรวมแต่ละคนนั้นจะมีอำนาจ จัดการทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมเพียงใด แยกพิจารณาได้ ๓ กรณีคือ
(๑) การจัดการตามธรรมดา ทำได้โดยคะแนนเสียงข้างมาก ของเจ้าของรวมทุกคน แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งอาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงเป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทำเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ
(๒) การจัดการอันเป็นสาระสำคัญทำได้โดยคะแนนเสียงข้าง มากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนเสียงข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่า ครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน
(๓) การจัดการอันเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ กระทำได้เมื่อ เจ้าของรวมทุกคนเห็นชอบด้วยเท่านั้น
สิทธิครอบครอง
๘๘.ถาม สิทธิครอบครองเป็นทรัพยสิทธิหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ มาตรา ๑๓๖๗ ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิครอบครองไว้อย่างชัดเจนประกอบกับกฎหมายยังกำหนดถึงอำนาจของสิทธิครอบครอง ไว้ทำนองเดียวกับทรัพยสิทธิประเภทอื่นโดยในมาตรา ๑๓๗๔ กำหนด ให้อํานาจผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนการครอบครองจากผู้ไม่มีสิทธิ ดีกว่าตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขอบอำนาจแห่งสิทธิครอบครองที่เป็น สิทธิเหนือทรัพย์สินใช้ยันบุคคลได้ทั่วไปโดยไม่จำกัด อันเป็นลักษณะ จำเพาะของทรัพยสิทธิ
๘๙.ถาม จงอธิบายความแตกต่างของสิทธิครอบครองกับสิทธิประเภทอื่น ๆ
ตอบ สิทธิครอบครองแตกต่างจากสิทธิประเภทอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) การเกิดแห่งสิทธิ สิทธิประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วยความ รับรองตามกฎหมาย ถือว่าเป็นสิทธิอันได้มาตามกฎหมาย กล่าวคือ การได้รับโอนสิทธิมาต้องชอบด้วยกฎหมาย แต่สิทธิครอบครองอาจ เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ได้ เพราะสิทธิครอบครองเป็นสิทธิที่ได้มาโดยการยึดถือตามข้อเท็จจริง
(๒) สิทธิประเภทอื่น - ผู้ทรงสามารถกล่าวอ้างอำนาจแห่งทรัพยสิทธิต่อบุคคลใด ๆ ก็ได้ แม้จะอยู่เฉย ๆ ยังไม่มีใครมารบกวนก็ตาม แต่สิทธิครอบครอง หากอยู่เฉย ๆ ยังไม่มีบุคคลใดมารบกวนจะอ้างว่า มีสิทธิครอบครองมิได้ เมื่อถูกรบกวนหรือแย่งการครอบครอง จึงจะมี สิทธิฟ้องร้องขอให้ระงับหรือเรียกคืนมาได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๔ และมาตรา ๑๓๗๕
(๓) การระงับแห่งสิทธิ ทรัพยสิทธิอื่นเกิดขึ้นโดยกฎหมาย รับรองจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นเลิกรับรอง หรืออาจมีอยู่ได้เพียง เท่าที่ผู้มีสิทธิได้กำหนดให้ไว้ แต่สิทธิครอบครองเกิดขึ้นโดยอาศัยการ ครอบครองยึดถือตามข้อเท็จจริง ตราบใดที่ยังคงมีเจตนายึดถือเพื่อ ตนอยู่สิทธิครอบครองก็มีอยู่ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด หากเมื่อใดเหตุ การณ์ยึดถือเพื่อตนสิ้นสุดไป สิทธิครอบครองก็สิ้นสุดไปด้วยในขณะ เดียวกัน
๙๐.ถาม การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
ตอบ การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองมี ๒ ประเภท ได้แก่
(๑) การได้มาโดยทางนิติกรรม
(๑.๑) การโอนโดยการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง
(๑.๒) การโอนกรณีผู้รับโอนยึดถือทรัพย์สินนั้นอยู่แล้ว
(๑.๓) การโอนในกรณีผู้โอนแสดงเจตนาจะยึดถือทรัพย์สิน นั้นแทนผู้รับโอน
(๒) การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
(๒.๑) การได้มาโดยการครอบครองของตนเอง
(๒.๒) การได้มาด้วยการที่ผู้อื่นยึดถือไว้
๙๑.ถาม สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗ เป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยความผิด
อาญาฐานใดบ้าง ให้อธิบายมาพอสังเขป
ตอบ (๑) ความผิดฐานลักทรัพย์ (ปอ. มาตรา ๓๓๔) ต้องเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์จากการครอบครองของผู้ครอบครอง โดยที่ผู้ครอบครองทรัพย์ นั้นไม่ยินยอม
(๒) ความผิดฐานฉ้อโกง (ปอ. มาตรา ๓๔๑) ต้องเป็นการหลอกลวง ทำให้ผู้ครอบครองยอมส่งมอบทรัพย์ให้
(๓) ความผิดฐานยักยอก (ปอ. มาตรา ๓๕๒) ต้องเป็นกรณีมีการ ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้เบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต
๙๒.ถาม นายแดงและนายดำโดยสารไปในเรือลำเดียวกัน ระหว่างทางนายแดงปวดท้องจึงฝากกระเป๋าให้นายดำถือไว้แล้วไปเข้าห้องน้ำที่ท้ายเรือ นายดำบังอาจเปิดกระเป๋าและเอาธนบัตรในกระเป๋าไป นายดำมีความผิดอาญาฐานใด
ตอบ มาตรา ๑๓๖๗ วางหลักไว้ว่า ผู้ใดยึดถือทรัพย์โดยเจตนายึดถือเพื่อตนผู้นั้นได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง การที่นายแดงฝากกระเป๋าให้นายดำ ช่วยดูแลเพื่อไปเข้าห้องน้ำ เป็นการฝากเพียงชั่วคราวมิได้แสดงเจตนา สละการครอบครอง ถือว่านายดำครอบครองแทนนายแดง นายดำ มิได้เจตนายึดถือกระเป๋าเพื่อตนเอง เมื่อนายดำเอาธนบัตรไปจึงมี ความ ผิดฐานลักทรัพย์ หาได้มีความผิดฐานยักยอกไม่ (คำพิพากษา ฎีกาที่ ๑๗๙/๒๕๐๗)
๙๓.ถาม นางเอ๋เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง นางอ้อยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินของนางเอ๋ เมื่อนางเอ๋แจ้งให้นางอ้อยรื้อถอนบ้านออกไป นางอ้อยกลับโต้แย้งว่าที่ดินดังกล่าวอยู่บนเขตทางหลวง และไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไป จนเวลาผ่านไป ๑ ปี ๑ วัน นางเอ๋จึงมาฟ้องร้อง ต่อศาลเพื่อเรียกที่ดินคืนจากนางอ้อย หากท่านเป็นศาล ท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร
ตอบ มาตรา ๑๓๗๕ วางหลักไว้ว่า บุคคลใดถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายบุคคลนั้นมีสิทธิได้คืนซึ่งการครอบครอง แต่การฟ้อง เรียกคืนต้องกระทำภายใน ๑ ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง กรณี นางอ้อยโต้แย้งว่าที่ดินอยู่บนเขตทางหลวงและไม่ยอมรื้อถอนบ้าน ออกไปนั้นมิใช่การแสดงเจตนายึดถือเพื่อตนเอง จึงมิใช่การแย่งการ ครอบครอง เช่นนี้นางเอ๋สามารถเรียกที่ดินคืนได้แม้ว่าได้ล่วงพ้นเกิน ๑ ปีไปแล้วก็ตาม เพราะกรณีไม่ใช่การเรียกคืนเนื่องจากถูกแย่งการ ครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ แต่ประการใด (คําพิพากษาฎีกา ๕๔๓/๒๕๒๓)
ครอบครองปรปักษ์
๙๔.ถาม อายุความได้สิทธิต่างจากอายุความเสียสิทธิอย่างไร จงอธิบายมาพอสังเขป
ตอบ ข้อแตกต่างระหว่างอายุความได้สิทธิกับอายุความเสียสิทธิ มีดัง ต่อไปนี้
(๑) อายุความได้สิทธิพิจารณาด้านตัวบุคคลที่จะได้สิทธิเป็นสำคัญ ต้องครอบครองทรัพย์ติดต่อกันจนครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ได้ถือการที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ละทิ้งทรัพย์ตนเป็น เวลานานเท่าใดเป็นเกณฑ์ เพราะกรรมสิทธิ์ไม่สูญสิ้นไปเพราะการ ไม่ใช้กรรมสิทธิ์/ ส่วนเรื่องอายุความเสียสิทธินั้นถือเอากำหนดเวลาที่ เจ้าหนี้ละเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ทำให้ลูกหนี้ยกเรื่องอายุความ เป็นข้อต่อสู้จนเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้
(๒) อายุความได้สิทธิ์เป็นเรื่องการใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ติดต่อ กัน แต่อายุความเสียสิทธิเป็นการเสียสิทธิไปเพราะไม่ใช้ในเวลาที่กำหนด
(๓) อายุความเสียสิทธิตามมาตรา ๑๙๓/๒๙ หมายถึงแต่เฉพาะอายุความเสียสิทธิเท่านั้น ซึ่งหากคู่ความไม่ยกอายุความขึ้น ต่อสู้ ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองมิได้ แต่อายุความได้สิทธิจะนำมาตรา ๑๙๓/๒๙ มาใช้ไม่ได้ เพราะมิใช่อายุความฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิ เรียกร้อง ผลจึงเป็นว่าหากไม่ครบกำหนดเวลาได้สิทธิ แต่ไม่มีการยก ขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
๙๕.ถาม นายเอ นายบี และนายซีเป็นเจ้าของร้านในที่ดินมีโฉนดผืนหนึ่ง ซึ่งยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่นายบีและนายซีมิได้ เข้าอยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าว คงมีแต่นายเออาศัยและทำกินเหนือ ที่ดินดังกล่าวเพียงผู้เดียวตลอดมา จนครบกำหนดระยะเวลา ๑๐ ปี เช่นนี้นายเอสามารถกล่าวอ้างได้หรือไม่ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์
เหนือที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวแล้ว
ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักไว้เกี่ยวกับการครอบครองว่า ต้องเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น กรณีนายเอครอบครองที่ดินดังกล่าวต้องถือว่าเป็นกรณีครอบครองแทนเจ้าของ ร่วมทุกคน นายเอถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมคนหนึ่งเท่านั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดย เจตนาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา ๑๓๘๒ หาได้ไม่ เช่นนี้ ข้อกล่าวอ้างของนายเอจึงสับฟังไม่ได้) (คำพิพากษาฎีกา ๑๕๗๔/ ๒๕๐๖)
๙๖.ถาม นายดินดูรอบครองที่ราชพัสดุผืนหนึ่งซึ่งเป็นที่ส่วนของจังหวัด เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสวนยางของโรงเรียนเกษตรกรรมประจำจังหวัด นายดิน ได้เข้าครอบครองที่ดังกล่าวเป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี นายดินสามารถ ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่ และหากที่ดินที่นายดินครอบครอง เป็นส่วนหนึ่งของวัด นายดินจะอ้างการครอบครองเหนือที่ดังกล่าวได้หรือไม่
ตอบ ทรัพย์สินที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังเช่นที่ราชพัสดุนี้ ตามมาตรา๑๓๐๖ ห้ามมิให้ยกอายุความได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา ๑๓๘๒ ขึ้นต่อสู้รัฐ แม้การครอบครองจะมีเจตนาเป็นเจ้าของ โดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปีก็ตาม นายดินผู้ซึ่งครอบ ครองที่ดังกล่าวจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันต่อรัฐได้ (คำพิพากษาฎีกา ๔๕๙/๒๕๒๒)
ที่ดินของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ วางหลักไว้ว่า ห้ามบุคคลยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดในเรื่อง ทรัพย์สิน อันเป็นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น แม้นายดินจะครอบ ครองเป็นเวลานานเกิน ๑๐ ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ปรปักษ์ไม่ (คําพิพากษาฎีกาที่๑๒๖๕/๒๔๙๕, ๘๔๓/๒๔๘๗ และ ๑๒๘๘/๒๕๑๓)
๙๗.ถาม นายใหญ่ซื้อที่ดินมีโฉนดใส่ชื่อ “นายกลาง” บุตรของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วส่งนายกลางไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนนายใหญ่ครอบครองที่ดินตลอดมา ต่อมานายใหญ่เข้าใจว่านาย ก ๆ ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งนายกลางถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ที่ ต่างประเทศปี ๒๕๔๕ นายใหญ่ครอบครองที่ดินต่อมาจนปี ๒๕๕๐ นายใหญ่จึงร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งแสดงว่านายใหญ่ครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่านายใหญ่มีสิทธิในฐานะผู้ครอบ ครองปรปักษ์หรือไม่ หากนายกลางยังมีทายาท คือนายเล็ก ขณะนาย กลางถึงแก่ความตาย
ตอบ มาตรา ๑๓๘๑ วางหลักไว้ว่า การครอบครองแทนผู้อื่นนั้น ผู้ครอบครองจะครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของได้ก็แต่โดยเปลี่ยนลักษณะ แห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของที่แท้จริงว่า ตนไม่เจตนา ยึดถือทรัพย์สินแทนเจ้าของอีกต่อไปหรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดย สุจริต เมื่อนายใหญ่ซื้อที่ดินแล้วใส่ชื่อบุตรคือนายกลาง เท่ากับนาย ใหญ่ครอบครองที่ดินแทนนายกลางตลอดมา และแม้ต่อมานายกลาง ถึงแก่กรรม ที่ดินย่อมตกได้แก่ทายาทคือบุตรของนายกลาง ได้แก่ นายเล็กการที่นายใหญ่ครอบครองที่ดินภายหลังนายกลางถึงแก่กรรม โดยที่ไม่บอกกล่าวไปยังทายาทของนายกลาง คือ นายเล็ก เพื่อแสดง เจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองแทนมาเป็นการครอบครองเพื่อ ตนเองถือว่าการครอบครองต่อมาภายหลังนายกลางถึงแก่กรรม เป็น การครอบครองแทนทายาทของนายกลาง คือ นายเล็ก แม้นายใหญ่ จะได้ครอบครองติดต่อกันมาครบ ๑๐ ปีแล้วก็ตามนายใหญ่ก็หาได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ ไม่ เพราะ ขาดองค์ประกอบที่ว่าจะต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเอง (คำพิพากษาฎีกา ๒๑๒๘/๒๕๑๘)
๙๘.ถาม นายนิกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดผืนหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แต่เนื่องจากนาย นิก มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายนิกจึงไม่ได้ใช้ ประโยชน์จากที่ดินผืนดังกล่าวเลย ต่อมานายนัทเป็นชาวบ้านอาศัยอยู่ ในจังหวัดราชบุรี ได้เข้าไปใช้ประโยชน์บนที่ดินของนายนิกโดยสร้าง เป็นร้านขายของชำ นายนิกไม่ได้ติดตามดูแลที่ดินของตนจนเวลา ผ่านไป ๖ ปี นายนัทโอนขายที่ดินที่ตนทำเป็นร้านขายของชำนั้นให้นายโน้ต นายโน้ตครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวได้เพียง ๔ ปี นายนิกทราบเรื่องนี้เข้าจึงฟ้องต่อศาลให้ขับไล่นายโน้ตออกจากที่ดินของตน นายโน้ตจะสามารถยกข้อต่อสู้ใดขึ้นต่อสู้นายนิกได้บ้าง
ตอบ มาตรา ๑๓๔๒ วางหลักเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ ว่าต้องเป็นการครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของติด ต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปีจึงจะได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อนายนัทได้เข้าครอบครอง มาแล้วเป็นเวลา ๖ ปี และนายโน้ตครอบครองต่อมาเป็นเวลา ๑๐ ปี นั้น เป็นกรณีที่มีการโอนการครอบครองให้แก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลา ซึ่งผู้โอนเคยครอบครองอยู่ก่อนรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนได้ ดังนั้น ระยะเวลาของนายโน้ต (ผู้รับโอน และนายนัท (ผู้โอน) รวมกัน ได้เวลา ๑๐ ปี นายโน้ตจึงสามารถต่อสู้นายนิกได้ว่าตนได้ครอบครอง ปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวแล้ว ไม่จำต้องออกจากที่ดินตามฟ้องของนายนิก (คำพิพากษาฎีกา ๘๓๕/๒๔๗๓)
๙๙.ถาม นายใหม่เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง นายหนึ่งเข้าครอบครองที่ดินของนายใหม่โดยสงบ เปิดเผย ติดต่อ กัน ๙ ปี แต่ในปีที่ ๙ นั้น นายใหม่ได้โอนที่ดินให้นายเก่า ผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบ แทน และนายเก่าก็โอนที่ดินต่อให้นายโบราณอีกทอดหนึ่ง โดยนาย โบราณไม่สุจริตเพราะรู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นของนายใหม่ และนายหนึ่งได้ครอบครองปรปักษ์มาแล้ว ๙ ปี จนบัดนี้นายหนึ่งได้ ครอบครองที่ดินมาได้ ๑๑ ปีแล้ว นายหนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้แสดงว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่
ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต เปิดเผย ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปี และ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง วางหลักเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม หากผู้ครอบครองโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน การครอบครองปรปักษ์ย่อมสิ้นสุดลง ผู้ครอบครองปรปักษ์อย่างนายหนึ่งไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นาย โบราณผู้รับโอนได้ เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ (อย่างนาย หนึ่ง) ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรก (นายเก่า) แม้นายหนึ่งจะครอบครองที่ดินตลอดมา แต่จะนับระยะเวลา ครอบครอง ๙ ปีแรกเข้ามารวมมิได้ เมื่อนายหนึ่งครอบครองต่อมา เพียง ๒ ปี จึงถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อนายโบราณจนครบ เวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘, ๑๐๘๗ - ๑๐๙๐/๒๕๐๑, ๘๖๘/๒๕๑๒ และ ๑๐๑๕/๒๔๘๕)
๑๐๐.ถาม นายนิดหน่อยเป็นเจ้าของที่ดินที่มีข้อบังคับห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ นายเล็กน้อยเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผยในที่ดินของ นายนิดหน่อย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ หลังพ้นกำหนดเวลา ห้ามโอนแล้วนายนิดหน่อยโอนขายที่ดินให้นายเหลือเฟือ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๗ โดยนายเหลือเพื่อเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตเสียค่า ตอบแทน นายเล็กน้อยครอบครองที่ดินต่อมาจนครบ ๑๐ ปี ในปี ๒๕๒๐ นายเล็กน้อยยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์แล้ว นายเหลือเฟือจึงคัดค้านว่านายเล็กน้อย ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะตนรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน หากท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยอย่างไร
ตอบ มาตรา ๑๓๘๒ วางหลักไว้ว่า ผู้ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องมีการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี ที่ดินของ นายนิดหน่อยเป็นที่ดินที่กำหนดระยะเวลาห้ามโอนซึ่งเป็นกรณีที่ทาง ราชการควบคุมที่ดินอยู่มิให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่เอกชนผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นเวลาห้ามโอน ผู้ครอบครอง (นายเล็กน้อย) แม้ครอบครอง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ - ๒๕๑๐ จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์เพราะ จะเอาระยะเวลาที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวม คำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ มิได้ (คำพิพากษาฎีกา ๖๑๙/๒๕๒๕)
นอกจากนี้ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ยังได้วางหลักคุ้มครอง ผู้รับโอนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน มิให้ผู้ครอบครองปรปักษ์ต่อสู้ ได้ คือ กรณีนายเหลือเฟือ ผู้รับโอนที่ดินในปี ๒๕๑๗ นั้นระยะเวลา ครอบครองปรปักษ์ของนายเล็กน้อยตั้งแต่กำหนดเวลาห้ามโอน คือ ๒๕๑๐ - ๒๕๑๗ รวมเป็นเวลา ๗ ปี ย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้นายเล็กน้อยจะครอบครองที่ดินโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ต่อ มาจนถึงปี ๒๕๒๐ ก็ไม่อาจอ้างสิทธิเพื่อการครอบครองปรปักษ์ได้ เพราะระยะเวลาการครอบครองยังไม่ครบ ๑๐ ปี (คำพิพากษาฎีกา ๖๖๖๓/๒๕๓๘)
..............................................................................
รับพิมพ์เอกสาร
0624988997(ก้อง)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น